xs
xsm
sm
md
lg

“หม่อมอุ๋ย”ว๊าก! รบ.เก่ารับจำนำข้าวราคาสูง ทำรัฐขาดทุนกว่า 1.8 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หม่อมอุ๋ย”ว๊าก!! รัฐบาลชุดก่อนอุตริ กำหนดนโยบายรับจำนำข้าวผิดพลาด ชี้ราคาสูงกว่าราคาตลาดถึงร้อยละ 30 ทำรัฐขาดทุนกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท พร้อมหยันบาร์เทรดแค่ฝัน ยกเลิกใช้ข้าวแลกหัวรถจักรจีนแล้ว ด้าน “กนข.” กำหนดราคาใหม่รับจำนำข้าวเปลือกนาปี ระบุมั่นใจเป็นราคาที่เกษตรกรรับได้ แต่อุ้ม “ศิริพล”เลขาฯ กนข.ไม่ใช่หน้าที่ตอบนโยบายข้าวผิดพลาด หรือมีเรื่องทุจริงหรือไม่


ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงข่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว (กนข.) ครั้งที่ 1/2549 ของรัฐบาลสุรยุทธ์ 1 ที่ตึกนารีสโมสร ว่า ได้รับรายงานการดำเนินการที่ผิดพลาดในนโยบายข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะนโยบายเปิดรับจำนำข้าว ใน 2 ปีของรัฐบาลก่อน โดยเฉพาะในปีรับจำนำ 2547-48 กลับมีผู้ชาญฉลาดคิดวิธีการใหม่ในการรับจำนำข้าว คือ รับจำนวนในราคาที่สูงลิ่ว ถือว่าสูงสุด คือในข้าวเปลือกหอมมะลิ รับจำนำระหว่าง 9,700-10,000 บาท เมื่อเทียบกับราคาตลาดที่ 7,700 บาท ซึ่งพบว่าสูงถึง 30 % ทำให้ข้าราชการทุกคนตกใจ ว่าทำไมถึงรับจำนำในราคาที่สูงขนาดนั้นทำให้ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ออกมาคัดค้านอย่างมาก

นอกจากนั้น ราคาข้าวเปลือกเจ้า ก็มีการรับจำนำที่สูงกว่าราคาตลาด ทางข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ก็คัดค้านอีกครั้ง ทำให้การที่รับจำนำสูงกว่าตลาดปรากฏว่าพอหมดฤดูนาปี ถึงมีนาคม-เมษายน ราคาก็ไม่มีการปรับขึ้นมาอีก แต่ก็ขึ้นมาร้อยกว่าบาท ซึ่งแตกต่างจากทุกปีที่ราคาขึ้นมากว่าพันบาท ทั้งนี้ยังพบว่าการรับจำนำข้าวหอมมะลิไม่ได้ผลเลย จนมาปีรับจำนำ 2548-49 คนเดิมก็ยังมาทำซ้ำอีก โดยราคารับจำนำยังสูงกว่าราคาตลาดเช่นเดิม แต่เมื่อสิ้นฤดูนาปี เดือนมีนาคม-เมษายน ราคาตลาดข้าวเปลือกหอมมะลิก็เพิ่มขึ้น 500 บาท แต่ราคาตลาดข้าวเปลือกเจ้ากลับไม่ขึ้น

รองนายกฯ กล่าวว่า เมื่อตรวจสอบยังพบว่า ตอนที่รับจำนำในช่วงเท่าตลาดจำนวนการรับจำนำไม่สูงมากนัก ทำให้สามารถส่งออกได้ พอถึงสิ้นปีถัดไป สต๊อกข้าวก็เหลือไม่มาก ทำให้ปี 2545-46 เหลือสต๊อกข้าวสาร 1,437,172 ตัน ปี 2546-47 เหลือ 944,000 ตัน ทำให้รับซื้อมาและระบายได้ง่าย แต่ในปี 2547-48 ในช่วงนี้ที่มีคนอุตริไปรับการจำนำเกินราคาตลาดเกิน 30% ในกรณีข้าวเปลือกหอมมะลิ และทำให้มีคนเข้ามาร่วมจำนำข้าวเปลือกจำนวนมาก รวมยอดฤดูผลิตสูงถึง 6,093,015 ตัน และปี 2548-49 รวมยอดฤดูผลิต จำนวน 7,465,558 ตัน

ทำให้พบประเด็นว่า เมื่อมีการเปลี่ยนไปเป็นข้าวสาร กลับขายไม่ออก จะเห็นได้จากข้าวสารเมื่อสิ้นปี 2547-48 เหลือถึง 3,235,778 ตัน ซึ่งเทียบกับข้าวเปลือก 5,883,233 ตัน ทำให้พบว่า ที่มีการรับจำนำทั้งปี 6,754,888 ตัน สามารถส่งออกได้เพียงแสนตันเศษเท่านั้น ทำให้ในปี 2548 เหลือข้าวสารค้างสต๊อกจำนวนมาก และปี 2549 ได้รับจำนำมา 7,465,558 ตัน เหลือเป็นข้าวสาร 3,715,172 ตัน ทำให้ไม่สามารถส่งออกได้เลย เกิดสภาพที่สต๊อกไม่สามารถระบายข้าวได้ออก ทำให้ข้าวที่เหลือในสต๊อกไปกดราคาในฤดูกาลใหม่ไม่ได้เมื่อข้าวออกมาในฤดูกาลใหม่

“จะเห็นได้ชัดว่า นโยบายที่เดินมาผิดพลาด ผมกล้ายืนยันได้ว่า ผมคลุกคลีกับเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่ากระทรวงพาณิชย์ และมีการเตือนไปหลายครั้งแล้วว่าอย่าไปทำอะไรที่มันแหวกแนวขนาดนี้ รับจำนำสูงกว่าตั้ง 20-30% คนที่มาจำนำ ใครเขาจะโง่ จำนำแล้วเขาก็ปล่อยหลุด ดีกว่าถอนมาขาย เพราะขายก็จะได้ราคาที่ต่ำกว่า เมื่อปล่อยหลุดก็จะทำให้ข้าวมากองอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด เมื่อกองมากเข้าและราคาต้นทุนดันสูงกว่าราคาตลาดทำให้ไม่สามารถส่งออกได้ สต๊อกก็เหลือและกดราคาจำนำไม่ได้ 2 ปีหลัง ใครไม่รู้ไปอุตริไปทำรับจำนำสูงจนเหลือค้างสต๊อก”รองนายกฯกล่าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวอีกว่า ทำให้สต๊อกข้าวสารที่เหลือวันนี้ คือ 3,715,172 ตัน ดังนั้น กนข. ชุดนี้ จึงต้องรีบเข้ามาแก้ไขเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามที่พบว่ามีความเลวร้ายไปกว่านั้น คือ เมื่อรับจำนำที่สูงขายออกขาดทุน มีการบริหารจัดการ ค่าดอกเบี้ย ที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนการซื้อขาย ปรากฎว่าการรับจำนำในปี 2547-48 การรับจำนำข้าวนาปีขาดทุนไปแล้ว 9,574 ล้านบาท ข้าวนาปรัง ขาดทุน 904.2 ล้านบาท ทำให้ขาดทุนรวม 10,478.2 ล้านบาท ส่วนข้าวนาปี ปี2548-49 ขาดทุน 5,994.2 ล้านบาท ข้าวนาปรัง ขาดทุน 1,810.9 ล้านบาท ทำให้ขาดทุนรวมปี 2548-49 จำนวน 7,805.1 ล้านบาท ทำให้มียอดขาดทุนสะสมตลอด 2 ปีรับจำนำ จำนวน 18,283.3 ล้านบาท และที่เหลือประมาณการว่าคงจะขาดทุนไม่น้อยกว่านี้ อย่างไรก็ตามทราบว่าการขาดทุนยังไม่รวมถึงกระบวนความเสียหายจากข้าวปลอมปน

ทั้งนี้ความเสียหายอีกประการ จากการประมูลของบริษัทเอกชนเพื่อส่งออกข้าว ทำให้ตลาดการส่งออกลดลงจากเดิม ปี 2547 จาก 10,140,225 ตัน ลดลงเหลือ 5,399,304 ตัน ในปี 2549 เงินที่จะได้รับจากการส่งออกก็ลดลง มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ มูลค่า 3 ไตรมาสก็ลดลง นโยบายที่ผิดพลาดทำให้1.ราคาข้าวในประเทศขึ้นไม่ได้ และ 2.ต้นทุนที่ซื้อมาแพงทำให้ส่งออกได้น้อยกว่าเดิม ส่วนการประมูลข้าวที่ทำให้รัฐเสียหาย ปี 2547 ประมูลได้ 3,176,452 ตัน จำนวนนี้พบว่าอยู่กับผู้ส่งออกรายใหญ่ 20 ราย จำนวน 2,952,742 ตัน แต่กลับมีรายหนึ่ง (ในเอกสารระบุว่า PAT ซึ่งเป็นชื่อย่อของบริษัท เพรสซิเดนส์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ส่งออกข้าว) รายนี้ประมูลที่ไรได้ทุกทีถึง 76% หรือ 2,416,586 ตัน อะไรเกิดขึ้นก็ไม่รู้ และเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ก็อึดอัด และปี 2548 ก็ประมูลได้ไปอีก 937,443 ตัน หรือ 82% ภาพที่ออกมาอะไรที่แปลกในกรณีนี้ ก็ควรจะคิดกันต่อไป

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า จะไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนจากการดำเนินนโยบายข้าวที่ผิดพลาด เพราะไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่เป็นการผิดนโยบาย และถือเป็นการใช้อำนาจที่มีอยู่ ซึ่งอำนาจนั้น ๆ อยู่ที่ จริยธรรมในใจ โดยขณะนี้ยังไม่เห็นการคอร์รัปชั่น ซึ่งที่ผ่านมายืนยันว่า กระทรวงพาณิชย์รายงานข้อมูลทั้งหมด และพยายามทักท้วงแล้ว แต่ข้อมูลต่าง ๆ ไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมา

ส่วนมติของ กนข.เดิมที่ให้นำข้าวสต๊อกที่เหลือไปแลกกับหัวรถจักรดีเซล ของประเทศจีนในลักษณะบาร์เตอเทรดนั้น รองนายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้คงเป็นแค่ความฝันคงไม่ต้องพูดว่าจะยกเลิกโครงการหรือไม่

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ได้มีการประกาศราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2549/2550 โดยราคาจำนำข้าวลดลงจากปีการผลิต 2548/2549 ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคารับจำนำที่ 8,700 - 9,000 บาท ต่อตัน ลดลง 1,000 บาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาซึ่งราคาอยู่ที่ 9,700 – 10,000 บาท ต่อตัน ราคาข้าวเปลือกเจ้าราคา 6,100 – 6,500 บาท ต่อตัน ลดลง 600 บาท เมื่อเทียบกับราคา 6,700 – 7,100 บาทต่อตัน ในฤดูกาลผลิตปีที่ผ่านมา ราคาข้าวเปลือกหอมจังหวัด 7,200 –7,500 บาทต่อตัน และ ราคาข้าวเปลือกปทุมธานี 7,500 บาทต่อตัน ดังนั้นราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปีดังกล่าวเป็นราคาที่คาดว่า เกษตรกรจะพอใจเพราะเป็นราคาตลาดที่สะท้อนความเป็นจริง และสูงกว่าราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี

นายศิริพล ยอดเมืองเจิรญ อธิบดกีกรมการค้าภายใน ในฐานะเลขานุการ กนข. เปิดเผยว่า นโยบายการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีในปีการผลิต 2549/2550 จะรับจำนำ 9 ล้านตัน ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2549 – 28 กุมภาพันธ์ 2550 ยกเว้นภาคใต้ที่รับจำนำ 1 กุมภาพันธ์ – 1 พฤษภาคม 2550 โดยจะมีมาตรการในการรับจำนำที่เคร่งครัดและรัดกุมมากขึ้น เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์และให้รั่วไหลน้อยที่สุด และคาดว่าจะใช้เงินรับจำนำประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการตอบคำถามในการแถลงข่าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร พยายามจะตอบคำถามแทนนายศิริพล ที่เป็นเลขานุการ กนข. โดยเฉพาะในเรื่องของความผิดพลาดในเรื่องนโยบายข้าว เรื่องของการระบายข้าว เช่นกรณีข้อมูลที่นำมาเสนอ การตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยรองนายกฯ ระบุว่าไม่จำเป็น และย้ำถึง 3 ครั้งว่า ควรจะเป็นเรื่องของสื่อหนังสือพิมพ์ที่ควรจะไปสืบเสาะหาข้อมูลมานำเสนอเพราะหากสื่อตรวจสอบดีก็จะทราบได้ว่าปัญหามีมาตั้งแต่ปี 2547-48 อย่างไรก็ตามการตรวจสอบก็ไม่พบว่า มีการทุจริตอะไร และบริษัทที่เข้ามาประมูลนายศิริพลก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบคำถาม เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น