xs
xsm
sm
md
lg

พพ.เล็งนำขยะอินทรีย์มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) วางแผนนำขยะอินทรีย์มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งจะเริ่มจากสถานศึกษาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน โดยเริ่มต้นโครงการพัฒนาต้นแบบก๊าซชีวภาพ 100 ชุดแรก ก่อนขยายเป็น 200 ชุดในปีหน้า ขณะที่เป้าหมายอีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 8 ของการใช้พลังงานรวม

นายอำนวย ทองสถิตย์ รองอธิบดี พพ. กล่าวว่า ตามที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีนโยบายผลักดันให้มีการใช้พลังงานทดแทนจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้มากขึ้น โดยเน้นการใช้พลังงานชีวมวลในการผลิตกระแสไฟฟ้าและความร้อน และจะเน้นการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ได้จากอ้อย มันสำปะหลัง นำมาผลิตเป็นเอทานอล แม้ว่าขณะนี้ผู้ประกอบการที่ขอรับอนุญาตผลิตเอทานอล 2-3 รายยังไม่มีความพร้อม แต่เชื่อว่าในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2550 จะมีความพร้อม โดยปัจจุบันมีการผลิตเอทานอลวันละประมาณ 400,000 ลิตร สามารถนำมาผสมกับน้ำมันเบนซินกลายเป็นแก๊สโซฮอล์วันละ 4 ล้านลิตรต่อวัน

นายอำนวย กล่าวถึงโครงการส่งเสริมนำขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น เศษอาหาร ผักผลไม้นำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ โดยใช้ถังหมักก๊าซชีวภาพที่มีจุลินทรีย์ทำหน้าที่ย่อยสลายขยะให้กลายเป็นก๊าซชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์ ว่า การดำเนินการจะเริ่มต้นทำส่วนเล็ก ๆ ของสังคมก่อน เช่น โรงเรียน ซึ่งโครงการพัฒนาและสาธิตถังก๊าซชีวภาพ พพ.ได้พัฒนาต้นแบบจำนวน 100 ชุด และตั้งเป้าหมายปีหน้าจะเพิ่มเป็น 200 ชุด โดยขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นสถานศึกษาและอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนการลงทุนถังหมักก๊าซชีวภาพนั้น จะมีต้นทุน 40,000 บาทต่อชุด ค่าเดินระบบและบำรุงรักษาประมาณ 10,000 บาทต่อปี ค่าเปลี่ยนอุปกรณ์ทดแทนตลอดอายุการใช้งานประมาณ 3,200 บาท แต่สามารถช่วยให้ผู้มีถังหมักก๊าซชีวภาพประหยัดเงินจากการซื้อก๊าซหุงต้มปุ๋ยอินทรีย์ และค่าจัดการขยะรวมกันประมาณปีละ 27,600 บาท และคืนทุนได้ใน 2 ปี 6 เดือน มีผลตอบแทนโครงการประมาณร้อยละ 30.35

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนใช้พลังงานทดแทนคิดเป็นกว่าร้อยละ 4 ของพลังงานที่ใช้ในประเทศ และภายในปี 2554 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า พพ.ได้ตั้งเป้าหมายขยายการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มเป็นร้อยละ 8
กำลังโหลดความคิดเห็น