xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มธุรกิจการบินของโลกเติบโต…ต้อนรับเปิดสุวรรณภูมิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธุรกิจสายการบินพาณิชย์ของโลกได้เผชิญกับวิกฤตการณ์ต่างๆตลอดช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน สงครามระหว่างสหรัฐ-อิรัก ภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของโรคซาร์ส และยังมาถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์ราคาน้ำมัน ส่งผลให้ธุรกิจดังกล่าวต้องประสบกับภาวะขาดทุนสะสมตั้งแต่ปี 2001 ถึง 2005 สูงถึง 42 พันล้านเหรียญสหรัฐ        

อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศที่มีการเติบโตดีในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ได้ทำให้ปริมาณการเดินทางและการขนส่งสินค้าทางอากาศขยายตัวค่อนข้างดี แม้สถานการณ์ด้านราคาน้ำมันจะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายของธุรกิจการบินพุ่งสูงขึ้นมากก็ตาม 

สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศหรือไออาต้า (IATA: International Air Transport Association) จึงคาดว่า หากแนวโน้มการเติบโตของการเดินทางโดยสารและการขนส่งสินค้าทางอากาศกระเตื้องขึ้นอย่างต่อเนื่องดังที่เป็นอยู่ขณะนี้ ธุรกิจสายการบินของโลกก็อาจจะได้เห็นผลกำไรเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ในปี 2007 ที่จะถึงนี้    

ทั้งนี้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา IATA ได้คาดการณ์ผลประกอบการของธุรกิจสายการบินทั่วโลกประจำปี 2006 ว่าจะมียอดขาดทุนรวมกันประมาณ 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น (เทียบกับที่ขาดทุนถึง 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2005)
              
ปัจจัยสำคัญที่ได้ทำให้ธุรกิจการบินยังเติบโตพอสมควรได้ในขณะนี้ ก็คือ จำนวนผู้โดยสารเดินทางและปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกและการเดินทาง/ท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดีในหลายภูมิภาคของโลก ดังจะเห็นได้จากอัตราเติบโตของการเดินทางโดยสารทางอากาศ (Passenger Traffic) และการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Freight traffic)

ในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ที่เพิ่มขึ้น 6.4% และ 5.3% ตามลำดับเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว     IATA ยังได้คาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจสายการบินในอนาคต โดยได้ประมาณการขยายตัวของการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ (Passenger Traffic) และการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Freight Traffic) ของโลกในช่วงเวลา 5 ปีระหว่างปี 2005-2009 ว่าจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 5.6% ต่อปี และ 6.3% ต่อปีตามลำดับ  

โดยที่ปริมาณการเดินทางและการขนส่งสินค้าทางอากาศ ทั้งภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเอง และระหว่างเอเชีย-แปซิฟิกกับภูมิภาคต่างๆของโลก จะมีอัตราขยายตัวมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก     จึงเห็นได้ว่าเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วยนั้น จะเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสำหรับธุรกิจสายการบินและบริการด้านท่าอากาศยานสนามบินสูงที่สุดในโลก   ดังนั้นการเปิดให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจึงนับเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะรองรับแนวโน้มดังกล่าว

ทั้งนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปีในระยะแรก นอกจากนี้ยังสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าได้ 3 ล้านตันต่อปี   ในส่วนของทางวิ่งหรือรันเวย์นั้น ก็จะประกอบไปด้วยรันเวย์ 2 เส้น มีความยาว 3,700 เมตร และ 4,000 เมตร ตามลำดับ   ทำให้สามารถรองรับการขึ้นลงของอากาศยานได้สูงถึง 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมง   

นอกจากนี้ ด้วยขนาดพื้นที่ที่มีทั้งหมดกว่า 2 หมื่นไร่   ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจึงมีศักยภาพที่จะพัฒนาแผนการขยายสนามบินเพิ่มเติมในอนาคต  โดยจะสามารถเพิ่มทางวิ่งหรือรันเวย์ได้เป็น 4 เส้น   รองรับเที่ยวบินได้ 112 เที่ยวบินต่อชั่วโมง   และให้บริการผู้โดยสารได้ถึง 100 ล้านคนต่อปี รวมทั้งรองรับสินค้าได้ 6 ล้านตันต่อปี       

ยิ่งไปกว่านั้น ได้มีการคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจการบินของโลกในช่วง 20 ปีข้างหน้าว่า ปริมาณการเดินทางและการขนส่งทางอากาศของโลกจะสูงขึ้นกว่า 2.5-3 เท่า เทียบกับปริมาณในปัจจุบัน โดยที่เอเชียจะเป็นภูมิภาคหนึ่งที่จะมีอัตราเติบโตสูงที่สุด ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าศักยภาพของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่จะพัฒนาขยายสนามบินในอนาคต จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งและต้องเตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่วันนี้ หากประเทศไทยไม่ต้องการที่จะพลาดโอกาสในการตอบรับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจการบินของโลก และร่วมเป็นหนึ่งในการเป็นศูนย์กลางหรือฮับของการบินพาณิชย์แห่งภูมิภาคเอเชียต่อไปในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น