xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะเป็น"สุวรรณภูมิ" สมบัติชาติกับการคอร์รัปชั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในวันที่ 29 กันยายน 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสนามบินแห่งใหม่ที่จะสร้างขึ้นมาแทนท่าอากาศยานดอนเมืองว่า "ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ" โดยให้ทั้งชื่อภาษาไทย และภาษาอังกฤษเป็นชื่อเดียวกัน โดยชื่อของสนามบินแห่งนี้มีความหมายว่า "แผ่นดินทอง" และอีกไม่กี่อึดใจคนไทยและชาวต่างชาติที่มาเยือนเมืองไทยคงจะได้สัมผัสกับความยิ่งใหญ่ที่คาดกันว่าจะเป็นศูนย์กลางทางการบินแห่งใหม่ของเอเชีย

สำหรับปฐมบทของสนามบินแห่งนี้คงต้องเริ่มเล่าดัวยประโยคที่ว่า"กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว" เพราะระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นแนวคิดสร้างสนามบินแห่งใหม่ของไทยนั้นสามารถนับเวลาย้อนไปได้ถึงกว่า 46 ปี โดยในปี พ.ศ.2503 รัฐบาลไทยมีการว่าจ้างบริษัท Litchfield Whiting Bowne and Associate เพื่อเข้ามาศึกษาผังเมืองของกรุงเทพมหานคร โดยผลการศึกษามีข้อเสนอว่า ไทยควรเตรียมจัดให้มีสนามบินพาณิชย์แห่งใหม่ เพื่อรองรับความแออัดของสนามบินดอนเมืองในอนาคต ซึ่งหลังจากนั้นในพ.ศ.2534 ก็มีการอนุมัติการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่จากคณะรัฐมนตรีในเวลานั้น และได้มอบหมายให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยดำเนินการในช่วงแรก

โดยสุดท้ายแนวคิดนี้ก็สิ้นสุดลงในวันที่ 19 มกราคม 2545 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิทรงเสด็จฯ เป็นองค์ประธานในการวางศิลาฤกษ์ให้กับสนามบินทำให้มีการก่อสร้างอย่างจริงจังเรื่อยมาจนมาถึงทุกวันนี้ ที่สุวรรณภูมิก่อร่างสร้างตัวเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น หลังจากผ่านช่วงเวลาแห่งการรอคอยอันยาวนาน

  • คอร์รัปชั่นและปัญหาคุณภาพของสนามบิน
    คงเป็นที่ขุ่นข้องหมองใจของคนไทยในประเทศหลายล้านคนเกี่ยวกับความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งการคอร์รัปชั่นในรูปแบบนี้เปรียบเสมือนเชื้อร้ายที่ไม่เคยหมดจากสังคมไทยไปได้เสียที ซึ่งหลายๆ คนคงทราบดีว่ายิ่งโครงการใหญ่ๆ ที่มูลค่ามากเท่าไรการคอร์รัปชั่นยิ่งหนักน่วงในทุกระดับชั้นมากขึ้น เอาเป็นว่ากินหัวคิวกันจนงบประมาณบานปลายขนาดหุบก็แล้ว รวบก็แล้วมันยังไม่ลงตัวเลยที่เดียว

    ทั้งนี้ในการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิก็เช่นกัน ประเดิมกันตั้งแต่การออกแบบ และถ่มทรายก่อนการก่อสร้างก็เป็นปัญหาแล้ว แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นที่ฮือฮาที่สุดคงหนีไม่พ้นเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดนามว่า"ซีทีเอ็กซ์"แน่นนอน

  • สินบนข้ามชาติ"ซีทีเอ็กซ์" 9000
    ความฉาวโฉ่ของเครื่องตรวจจับระเบิดรุ่นนี้ถูกเปิดเผยผ่านสื่อในเดือนเมษายน 2548 โดยระบุว่ามีการแจงรายได้ของบริษัท อินวิชั่น เทคโนโลยีต่อ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งภายหลังนำไปสู่ประเด็นการติดสินบนในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล โดยมีบริษัทแพทริออต ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด หรือ ctx 9000 เป็นตัวกลางในการซื้อขายในครั้งนี้ ยังผลให้ส่วนต่างราคาเครื่องซีทีเอ็กซ์ รวมกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 17 รายการ ที่แพทริออตขายให้กับไอทีโอ 2,003 ล้านบาท แต่ไอทีโอขายให้กับบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ หรือ บทม.สูงถึง 2,608 ล้านบาท

    อีกทั้งข้อกังขาที่ว่าเหตุใดรัฐบาลไทยไม่เจรจาต่อรองจัดซื้อเอง โดยไม่ผ่านคนกลาง จนทำให้มีการพยายามที่จะติดต่อซื้อเองในภายหลัง แต่ก็อ้างว่าติดข้อสัญญาที่ให้มีบริษัทแพทริออตเป็นตัวแทนอยู่แล้วจึงไม่สามารถดำเนินการได้

    ส่วนอีกประเด็นที่ประชาชนต้องการรู้ก็คือการจ่ายเงินค่างวดของ บทม.ให้กับไอทีโอ ทั้งที่ยังไม่มีการรับมอบสินค้า รวมไปถึงการต่อขยายสายพานลำเลียงกระเป๋าเพื่อรองรับผู้โดยสารถึง 45 ล้านคน จากเดิม 31 ล้านคน โดยใช้งบประมาณสูงถึงกว่า 1,700 ล้านบาท

    สำหรับผลสุรปสุดท้ายก็ยังไม่ชัดเจน แต่ที่แน่ๆ สินบนข้ามชาติงานนี้นำไปสู่การตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการอภิปลายไม่ไว้วางใจ ทั้งที่พึงมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งไม่ถึง 6 เดือน แต่สุดท้ายแล้วเรื่องในการสอบสวนก็ยังไม่คืบหน้า ท่ามกลางการโหมกระแสการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิให้ทันกำหนดที่ตั้งไว้เพื่อกลบเรื่องดังกล่าว

  • รอยร้าวรันเวย์ ข้อผิดพลาดหรือเทคนิคในการก่อสร้าง
    กลิ่นอายของสินบนข้ามชาติ"ซีทีเอ็กซ์" 9000 ยังไม่ทันหายปัญหาใหม่ของ"สุวรรณภูมิ"ก็ผุดขึ้นมาอีก หลังมีสื่อฉบับหนึ่งปุดข่าวพบ รอยร้าว และการแตกร่อนของผิวรันเวย์ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อการนำเครื่องบินขึ้น-ลงภายในสนามบินได้ ร้อนถึง พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมต้องออกมาชี้แจงอีกครั้ง โดยยอมรับว่ามีการพบปัญหาแตกร่อนของรันเวย์จริง โดยบริเวณจุดที่มีการเซาะเป็นร่องขนาดประมาณ 6 X 6 มิลลิเมตร กินเนื้อที่กว้างประมาณ 800 ตารางเมตร

    อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตุว่าอาจมีการล็อกเสปกในการสร้างเกิดขึ้น เนื่องจากในการเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบครั้งแรกระบุว่าผู้รับเหมาจะต้องมีการการผสมสารโพลิเมอร์เพื่อเพิ่มความแข็งของผิวรันเวย์ แต่กลับไม่มีการผสมสารดังกล่าวในส่วนผสมของยางที่ใช้ราดในบริเวณที่มีการแตกร้าว ซึ่งอาจนำไปสู่การผิดสัญญาในการก่อสร้างของบริษัทรับเหมาหากมีการล็อกเสปกเกิดขึ้นจริง

    ทั้งนี้ทาง บทม. ก็ออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ลดต้นทุน หรือปรับเสปกแต่อย่างใด โดยระบุว่าสารโพลิเมอร์มีราคาสูงมาก และเมื่อมีการผสมในผิวคอนกรีตเพื่อเทบนผิวรันเวย์จะมีต้นทุนอยู่ที่4,000บาท/คิว ในขณะที่วัสดุที่ไม่มีการผสมโพลิเมอร์จะมีต้นทุนอยู่ที่ 2,700 บาท/คิว ซึ่งหากบริเวณผิวรันเวย์ใดไม่ได้มีการขึ้นลงของอากาศยานเป็นประจำก็ไม่จำเป็นต้องมีการผสมสารดังกล่าว ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้น โดยยืนยันว่าในการก่อสร้างผิวรันเวย์นั้นเป็นไปตามผู้ออกแบบกำหนดสเปกไว้ทุกประการ และปัญหาการแตกร่อนดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อความปลอดภัยของสนามบินแน่นอน

  • โหมกระแสความพร้อมการเปิดใช้สุวรรณภูมิ
    และแล้วสนามบินสุวรรณภูมิก็ใกล้ที่จะแล้วเสร็จตามที่ นายกรัฐมนตรี และบรรดารัฐมนตรีที่ต่างออกมาการันตีความพร้อม โดยการทดสอบครั้งที่อลังการที่สุดคงไม่พ้นเที่ยวบินที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นนำสื่อมวลชนบินจากสนามบินดอนเมือง โดยเที่ยวบินที่ ทีจี 1881 เป็นเครื่องโบอิ้ง 747-400 มาลงจอดที่สุวรรณภูมิ เพื่อทดสอบความพร้อมทั้งระบบในการให้บริการ

    ทั้งนี้หลังจากมีการทดสอบในครั้งนี้เสร็จสิ้น บุคคลในรัฐบาลหลายคนต่างหน้าชื่นตาบาน และออกมายืนยันความพร้อมว่าจะไม่มีอุปสรรคใดๆ ที่จะทำให้การเปิดใช้จริงของสนามบินแห่งนี้ต้องคลาดเคลื่อนอีกแน่นอน ท่ามกลางปัญหาบางอย่างทียังแก้ไม่ตก ทั้งเรื่องของหลังคาที่ยังมีรอยรั่วอยู่หลายจุด ปัญหาเรื่องนกที่อยู่บริเวณสนามบิน และมลภาวะทางเสียงที่เกิดขึ้น

    อย่างไรก็ตามนับหลังจากวันที่ 28 ก.ย.2548 นี้ ซึ่งเป็นวันเปิดใช้จริงของสนามบินแห่งนี้ เราในฐานะคนไทยก็ควรที่จะต้องช่วยกันรักษาสมบัติชาติแห่งนี้ไว้ให้ดีที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์แก่ลูกหลานในอนาคต ส่วนจะดำเนินการหาผู้กระทำผิดในการคอร์รัปชั่นอย่างไร คงต้องพึ่งคนไทยทุกคนหลังจากนี้ให้ช่วยกันสอดส่อง อย่าให้กลายเป็นเรื่องปกติที่หลายคนมองข้าม แต่ควรติดตามหาผู้กระทำผิดให้ได้รับโทษตามกฏหมาย จึงจะเป็นผลดีต่อส่วนร่วมมากกว่า หลังจากที่ต้องสูญเสียประโยชน์จากการกอบโกยของคนประเภทนี้มิให้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในภาคหน้า
  • กำลังโหลดความคิดเห็น