xs
xsm
sm
md
lg

เสื้อผ้าสำเร็จรูปปี’50 : ปัจจัยเสี่ยง…กระทบส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในปี 2549 คาดว่าจะมีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 3,400ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น 7.9 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ปี 48 การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยมีมูลค่า 3,150.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นเพียง 1.9 % ) เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ยังคงเติบโตท่ามกลางความผันผวนของราคาน้ำมัน ประกอบกับคู่แข่งของไทยอันได้แก่ จีนประสบปัญหาถูกคุมโควตาส่งออกจากประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ทำให้ตลาดเหล่านี้หันมาเพิ่มการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากไทยเพิ่มขึ้น

สำหรับในปี 2550 ทิศทางการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยถึงกว่า 50% รวมทั้งปัจจัยทางด้านเงินบาทของไทยที่แข็งค่าในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่ง ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยเป็นอย่างมาก ประการสำคัญการที่คู่แข่งของไทยคือเวียดนามจะได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในช่วงปลายปี 2549 นี้ ทำให้เวียดนามไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขโควตาทางการค้าสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอีกต่อไป และส่งผลให้เวียดนามสามารถขยายตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้กว้างขวางขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการของไทยต้องเร่งปรับตัวด้วยการลดต้นทุนการผลิต พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและรูปแบบที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้สูงขึ้น

การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในปี 49 พบว่าเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ดังจะพิจารณาจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปในช่วง 7 เดือนแรกของปี 49 มูลค่าการส่งออก 1,838.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น 5.1 % ในขณะที่มูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังคงมีต่อเนื่องตามคำสั่งซื้อของผู้นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อรองรับความต้องการในช่วงฤดูการขายปลายปีทั้งคริสต์มาสต์และปีใหม่ และจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงสามารถเติบโตภายใต้สถานการณ์ความผันผวนของราคาน้ำมัน โดยจากรายงานของIMF ล่าสุดวันที่ 13 กันยายน 2549 พบว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2549 จะเติบโตประมาณ 5.1% จากเดิมที่เติบโต 4.9 % ในปี 2548 ที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกันผลจากการที่คู่แข่งรายสำคัญของไทยคือจีนต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศผู้นำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปรายสำคัญของโลกทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรปโดยการจำกัดปริมาณการส่งออกสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปบางรายการไปถึงปี 2550-51

สำหรับตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญของไทยปี 2549 มีรายละเอียดดังนี้

**สหรัฐอเมริกา เป็นตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญของไทยคิดเป็นสัดส่วน 50.8 % โดยการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ ไปยังตลาดสหรัฐฯมีมูลค่า 993.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นเพียง 1.8 %ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2548 ซึ่งมูลค่าการส่งออกขยายตัว 2%

**สหภาพยุโรป เป็นตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญของไทยเป็นลำดับที่ 2 รองจากสหรัฐอเมริกาคิดเป็นสัดส่วน 26.4% โดยในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยไปสหภาพยุโรปมีมูลค่า 486.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น 15.9 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

**ญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญอันดับ 3 ของไทยคิดเป็นสัดส่วน 6.2 %ช่วง 7 เดือนแรกปี 259 ซึ่งมีมูลค่า 114.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นเพียง 0.7 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม จากการที่ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น ประกอบกับความขัดแย้งทางด้านการเมืองระหว่างจีนและญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นบ่อยๆจะส่งผลให้ผู้นำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของญี่ปุ่นกระจายความเสี่ยง โดยหันไปพึ่งพาแหล่งผลิตอื่นๆนอกเหนือจากจีนเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จีนจะถูกจำกัดโควต้าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป แต่ปัญหาเสี่ยงต่อสินค้าไทยในปี 2550 ยังมีอยู่หลายปัจจัย เช่น อัตราเติบโตของเศรษฐกิจโลกและโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯคาดในปีหน้าจะขยายตัวประมาณ 2.9 % เติบโตชะลอตัวลงจาก 3.4 %ในปี 2549 ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเองนั้นเศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้นเต็มที่ คาดปีหน้าขยายตัว 2.1 %จาก 2.7%

ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในปี 50 โดยมีปัจจัยหนุนทั้งจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งความเป็นไปได้ที่เงินหยวนของจีนจะปรับค่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดว่าเงินบาทของไทยใน 2550 เฉลี่ยที่ประมาณ 37.56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า นับตั้งแต่ประเทศผู้นำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปรายสำคัญของโลกอันได้แก่สหรัฐฯและสหภาพยุโรปได้ยกเลิกมาตรการจำกัดการนำเข้าตามข้อตกลงองค์การการค้าโลกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 ส่งผลให้ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศที่มีต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำเข้ามาเพิ่มบทบาทในตลาดโลกเพิ่มขึ้น และยิ่งไทยต้องประสบกับปัญหาเงินบาทแข็งค่าในอัตราที่สูงกว่าประเทศในภูมิภาค ทำให้ผู้ประกอบการของไทยแข่งขันได้ลำบากมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการของไทยจะต้องมีการเพิ่มศักยภาพของสินค้าไว้รับมือการแข่งขัน ไม่ว่า การบริหารความเสี่ยงค่าเงิน ,การพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้า ,ขยายตลาดส่งออก หรือ ย้ายฐานการผลิต

กล่าวโดยสรุปแล้ว การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในปี 2550 ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้ความพยายามฟันฝ่าปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามาทั้งในส่วนของข้อเสียเปรียบทางด้านราคาสินค้าที่แพงขึ้นในสายตาของผู้นำเข้าจากการที่เงินบาทของไทยยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่งขันในภูมิภาค ประกอบกับการที่เวียดนามจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในช่วงปลายปี 2549 ทำให้เวียดนามมีโอกาสขยายตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังประเทศต่างๆโดยไม่ถูกมาตรการกีดกันต่างๆอย่างไรก็ตาม ในส่วนของเวียดนามเองก็ยังมีจุดอ่อนจากรูปแบบและคุณภาพสินค้าที่ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาเพื่อให้ทัดเทียมกับไทย ประกอบกับเวียดนามเองก็ยังมีอุปสรรคทางด้านวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสิ่งทอเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ยังไม่เพียงพอและต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นผู้ประกอบการของไทยจึงต้องอาศัยช่วงเวลาที่เวียดนามยังไม่พร้อมเต็มที่ด้วยการเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตของตนเองเพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันให้สูงขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น