xs
xsm
sm
md
lg

จับตากระทรวงท่องเที่ยว"ล้มไม่ลุก" รัฐบาลส่งรัฐมนตรีเกรดซีมาบริหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาวะขาดดุลการค้าที่เกิดขึ้นในประเทศเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ขณะนี้ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่ประเด็นหลัก ๆ ส่วนหนึ่งอยู่ที่การนำเข้าน้ำมันน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาแพง ดังนั้น แม้ประเทศไทยจะมีรายได้จากการส่งออกสินค้าด้านเกษตรกรรม และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ก็ไม่เพียงพอที่จะมาหักลบกลบหนี้ตัวเลขทางบัญชีได้

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลคาดว่าจะเป็นฮีโร่เข้ามาช่วยแก้สถานการณ์เช่นนี้ คือการสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นสินค้าและบริการที่มีต้นทุนค่อนข้างต่ำ เพราะไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบเพื่อมาเป็นทุนในการประกอบการ ใช้แต่เพียงความงดงามของธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้วผสมผสานกับการลงทุนเพิ่มรวมถึงความมีหัวใจในการบริการของคนไทย หรือที่รู้จักกันดี ว่า “แลนด์ ออฟ สมาย”เป็นธงนำ

จากนโยบายของรัฐบาล จึงทำให้ไม่น่าจะแปลกใจเมื่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะดูโดดเด่นเป็นความหวังของไทย แม้จะเป็นกระทรวงน้องใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งมาได้แค่เพียง 3 ปีเศษ ทั้งที่เมื่อครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงหน่วยราชการครั้งใหญ่ เคยมีกระแสข่าวว่า จะนำเรื่องท่องเที่ยวเข้าไปไว้ในกระทรวงวัฒนธรรม แต่จนแล้วจนรอดรัฐก็ตัดสินใจ นำท่องเที่ยวมารวมกับกีฬา แล้วตั้งเป็นกระทรวงขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ บนคำครหา ที่ว่า กีฬากับท่องเที่ยวไม่น่าจะมาอยู่รวมกันได้ และทุกวันนี้ก็ยังมีบ่อยครั้งที่มีข่าวลือว่าอาจจะต้องยุบกระทรวงการท่องเที่ยวฯนี้เสีย ส่วนหนึ่งเพราะผลงานที่ไม่โดดเด่นไม่เข้าตารัฐบาล

ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้ กระทรวงท่องเที่ยว ถูกจัดอันดับเป็นกระทรวงเกรดซี ที่ไม่ค่อยมีนักการเมืองคนใดต้องการมานั่งเก้าอี้ตัวนี้ ยกเว้น ไม่มีที่จะไป หรือบางครั้ง ผู้นำรัฐบาลอาจจะส่งใครคนใดคนหนึ่งมานั่งเก้าอี้ตัวนี้ เพราะไม่สามารถหาเก้าอี้ที่เหมาะสมให้นั่งได้ รวมถึงให้เป็นรางวัลปลอบใจ เพราะหากไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง อาจจะมีผลทางการเมืองได้

ส่วนการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีในแต่ละครั้ง ก็นิยมที่จะส่งรัฐมนตรี เกรดซีเข้ามาดูแล ทั้งที่ควรจะส่งมืออาชีพเข้ามานั่ง เพื่อทำงานให้ได้ตามเป้าประสงค์ในการดึงเงินตราเข้าประเทศ ตรงนี้เองน่าจะเป็นจุดบอดที่ใหญ่ที่สุดของปัญหาที่เกิดขึ้นในกระทรวงน้องใหม่แห่งนี้

ที่สำคัญข้าราชการที่ถูกโอนย้ายมาส่วนใหญ่จะมาจากกรมพละศึกษา จึงไม่น่าแปลกใจที่ข้าราชการเหล่านั้น จะไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจทางด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากนัก การทำงานเบื้องต้นจึงต้องเสียเวลาทั้งการจัดรูปแบบโครงสร้างการทำงาน การอบรมเจ้าหน้าที่

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการแข่งขันสูง ทุกประเทศต่างเห็นความสำคัญที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ขณะที่รัฐบาลไทยมองสถานการณ์โลกผิด หรือชะล้าใจเกินไป จึงได้ส่งรัฐมนตรีเกรดซีเข้ามาบริหาร ทั้งที่เป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญอีกกระทรวงหนึ่ง

หากลงมามองด้านการทำงาน ถ้าในด้านการตลาด จะมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯดูแลอยู่แล้ว และงานก็สามารถดำเนินไปได้ เพราะ ททท.เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งให้ดูแลงานด้านนี้

ส่วนงานด้านกิจการภาพยนตร์ ซึ่งถูกโอนย้ายมาจากกรมประชาสัมพันธ์ ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนนตรี เข้ามาฝากไว้กับสำนักพัฒนาการท่องเที่ยว ถือเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญในการหารายได้เข้าประเทศ จากการให้สิทธิ์ออกใบอนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย

“ทุกวันนี้หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิก ตื่นตัวที่จะให้การต้อนรับ กองถ่ายหนังจากฮอลีวู้ด และกองถ่ายภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่จากนานาประเทศ ให้เข้ามาใช้โลเกชั่นในประเทศของตนในการถ่ายทำ หรือแม้แต่การเข้ามาใช้บริการเช่าโรงถ่ายเป็นสถานที่ถ่ายทำ พร้อมเสริมบริการจากธุรกิจ พีโพรดักส์ชั่น และโพสต์โพรดักชั่น ที่สามารถทำเงินเข้าประเทศได้ปีละไม่น้อย”

จะเห็นว่า ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้เข้าประเทศจากธุรกิจนี้มาก เขาให้อินเซนทีฟกองถ่ายทำภาพยนตร์ ขณะที่ ประเทศเล็กๆอย่าง เวียดนาม หรือ กัมพูชา ก็ยังมีหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวที่เป็นเอกเทศน์ ดูแลงานด้านท่องเที่ยวและธุรกิจการถ่ายทำภาพยนตร์โดยเฉพาะ เพราะการเข้าไปใช้โลเกชั่นถ่ายทำภาพยนตร์ รายได้จะกระจายสู่รากหญ้าอย่างแท้จริง เกิดการจ้างงานในชนบท เช่น การเย็บเสื้อผ้านักแสดง การซักรีดเสื้อผ้า แรงงานยกของ และแรงงานที่ใช้เตรียมความพร้อมสถานที่ เป็นต้น อีกทั้งยังจับจ่ายในเรื่องของ โรงแรมที่พัก อาหาร ประโยชน์ทางอ้อม คือ ภาพวิวทิวทัศน์ของประเทศก็ได้ออกสู่สายตาชาวโลกบนแผ่นฟิล์ม เกิดการเล่าขาน และเดินทางมาเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก

แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมฝ่ายประเทศไทยถึงยังคิดช้า และดูเหมือนไม่รีบร้อนเอาเสียเลยกับการแข่งขันในด้านนี้ ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพดีกว่าหลายประเทศที่เป็นคู่แข่งขันในขณะนี้ เช่น ค่าแรงงานก็ถูกกว่า ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ความปลอดภัย และเซอร์วิสมาย ก็ดีกว่า เวียดนาม และกัมพูชา และที่สำคัญ โลเกชั่นของประเทศไทยสวยและมีภูมิทัศน์ที่หลากหลายกว่าทุกประเทศ แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาต้องมาเสียโอกาสเพราะรัฐบาลไทยไม่เห็นความสำคัญที่จะให้อินเซนทีฟแก่กองถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งแม้จะเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีบ้าง แต่ก็น้อยนิด เมื่อเทียบกับ รายได้ส่วนอื่นที่จะไหลเข้ามาสู่ชุมชน อีกทั้งยังไม่รีบที่จะจัดโครงสร้างการบริการให้รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“ศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส “ ที่จ่อคิวรอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมาหนึ่งเดือนเศษ หรืออาจมากกว่านั้น จนวันนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะเปิดให้บริการได้เมื่อใด ทั้งที่ทุกอย่างเสร็จสิ้นหมดแล้ว ทั้งการก่อสร้างอาคารศูนย์ที่ทำการ ซึ่งใช้เงินงบประมาณเกือบ 2 ล้านบาทจากปีงบประมาณ 2548 จนบัดนี้พื้นที่ครึ่งหนึ่งต้องกลายเป็นร้านอาหารสวัสดิการของข้าราชการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ สาเหตุหลักคือต้องรอให้ ครม.มีมติเห็นชอบก่อนดำเนินงาน เพราะศูนย์ดังกล่าวต้องมีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน จากหลายกระทรวง มานั่งประจำการเพื่อให้บริการออกใบอนุญาต แก่กองถ่ายทำภาพยนตร์ ที่มาขออนุญาต โดยเฉพาะภาพยนตร์ขนาดเล็ก เช่น หนังโฆษณา มิวสิควิดีโอ จะสามารถลดขั้นตอนการดำเนินการได้มาก ออกใบอนุญาตได้รวดเร็ว ภายในศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสแห่งนี้

ปัญหาตั้งแต่เบื้องต้นติดอยู่ที่ใด หากถามข้าราชการประจำ คงไม่มีใครกล้าเอ่ย เพราะแม้จะรู้ดีถึงต้นตอของความล่าช้า แต่หากพูดไปภัยอาจจะมาถึงตัว ดังนั้น เท่าที่จะชี้แจงกระบวนการได้ คือโครงสร้างการทำงานของรัฐมนตรี ซึ่งทุกคนจะต้องมีที่ปรึกษาเพื่อกลั่นกรองงานก่อนนำเสนอรัฐมนตรี ดังนั้นทุกโครงการเมื่อผ่านการจัดทำจากข้าราชการประจำ ต้องนำเสนอให้ที่ปรึกษาได้คัดกรอง หากทีมที่ปรึกษามีความรู้ในงานชิ้นนั้นมากพอก็ง่ายที่จะเข้าใจถึงความสำคัญเร่งด่วน งานก็จะถึงมือรัฐมนตรีโดยไว หรือหากรัฐมนตรีมีความรู้และกระตือรื้อร้นที่จะช่วยให้งานสำเร็จโดยไว ก็จะเร่งสั่งการให้ผู้ที่รับผิดชอบเร่งทำงาน แต่เท่าที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน ไม่มีใครกระตือรือร้นที่จะทำงาน เพียงแต่อยู่ไปวันๆ รอคอยการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่

ซึ่งโครงการวันสต็อปเซอร์วิส ได้สะท้อนให้เห็นการทำงานในหลายแง่มุมของทีมข้าราชการการเมืองที่เข้ามาดูแลกระทรวงการท่องเที่ยว ที่จนบัดนี้เกือบ 1 ปีเต็มโครงการเพียงเล็กน้อยแค่นี้ก็ยังไม่คืบหน้าไปไหน ถือว่าประเทศไทยเสียโอกาสเป็นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้กองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศอาจเกิดความเบื่อหน่าย หากมีทางเลือกอื่นเขาก็จะไป และไม่ยอมเสียเวลากับประเทศไทยแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากการทำงานทั้งหมดที่กล่าวมา ส่งผลเด่นชัดที่ทำให้ รายได้จากกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยไม่เติบโตเท่าที่ควรจะเป็น เป็นการเติบโตแบบย่ำอยู่กับที่ เห็นได้จากตัวเลขรายได้ ที่ อยู่ประมาณปีละ 1,000 ล้านบาทต้นๆ มาหลายปีแล้ว ทั้งที่สถิติสูงสุดเมื่อครั้งอยู่ในความดูแลของกรมประชาสัมพันธ์เคยทำรายได้เข้าประเทศถึงกว่า 1,400 ล้านบาท เมื่อหลายปีก่อน ทั้งนี้ไม่นับรวมรายได้จากธุรกิจ พีโพรดักส์ชั่น และโพสต์โพรดักชั่น ที่ทำรายได้เข้าประเทศอีกไม่น้อยกว่าปีละ 6-7 พันล้านบาท ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความสามารถของเอกชนล้วนๆ มองไปแล้วก็เหมือนเอกชนภาคธุรกิจท่องเที่ยวในแขนงอื่นๆ ที่ต้องใช้ความสามารถของตัวเองในการทำธุรกิจ มากกว่าการได้รับผลบุญจากการช่วยเหลือของรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น