xs
xsm
sm
md
lg

เอแบคโพลล์ชี้เศรษฐกิจ-การเมืองทำคนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมใช้จ่ายใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนในสภาวะเศรษฐกิจและการเมืองปัจจุบัน พบว่า ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายไปเน้นซื้อสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันก่อน และเปลี่ยนสถานที่ซื้อสินค้าเป็นห้างค้าปลีกที่ลดราคา รวมทั้งมีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในบรรยากาศสภาวะเศรษฐกิจและการเมืองปัจจุบัน : กรณีศึกษาประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล” ว่า จากการรวบรวมข้อมูลผู้พักอาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,526 ตัวอย่าง กระจายในกลุ่มต่าง ๆ พบว่า ประชาชนกลุ่มตัวอย่างใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผมมากที่สุด รองลงมาเป็นอาหาร ซึ่งในสภาวะเศรษฐกิจและการเมืองปัจจุบัน ตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 95.3 ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยเลิกใช้ของฟุ่มเฟือยและซื้อเฉพาะของจำเป็น เทียบราคาและปริมาณสินค้าของสินค้าก่อนซื้อ

ทั้งนี้ คนที่มีรายได้น้อยมีแนวโน้มเปลี่ยนสถานที่ซื้อสินค้ามากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้สูง โดยกลุ่มคนที่เปลี่ยนสถานที่ซื้อสินค้าส่วนใหญ่ร้อยละ 72.3 เปลี่ยนจากการเดินห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เดอะมอลล์ มาเป็นห้างค้าปลีกที่ลดราคา เช่น บิ๊กซี โลตัส แม็คโคร มากขึ้น และมีร้อยละ 25.3 เปลี่ยนมาเดินตลาดนัด ตลาดเปิดท้ายแทน อย่างไรก็ตาม คนที่มีรายได้สูงเกินกว่า 60,000 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.8 ยังคงซื้อสินค้าบริการในห้างสรรพสินค้าเดิมที่เคยจับจ่ายใช้สอยอยู่

ส่วนแผนการใช้จ่ายในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่า กลุ่มตัวอย่างตั้งใจจะไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดมากที่สุดร้อยละ 30.7 รองลงมาร้อยละ 18.1 ซื้อที่พักอาศัย และร้อยละ 13.1 ซื้อรถยนต์ ขณะที่คนที่มีรายได้สูงคือเกินกว่า 40,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ยังคงมีแผนในการท่องเที่ยวมากกว่าคนมีรายได้น้อย คือ ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม คนมีรายได้น้อย มีแผนการศึกษาต่อ การซื้อบ้าน การซื้อยานพาหนะ แต่คนมีรายได้น้อยจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ก็มีปัญหาที่รายรับน้อยกว่ารายจ่าย และเมื่อสอบถามถึงการประยุกต์ใช้แนวคิดตามกระแสพระราชดำริเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” กับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.1 ระบุว่า ซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็นและใช้เงินตามความต้องการพื้นฐานของชีวิต ร้อยละ 32.5 วางแผนการใช้เงินและแบ่งเงินเป็นส่วน ๆ สำหรับไว้ใช้และไว้เก็บ ร้อยละ 14.3 เลิกใช้ของฟุ่มเฟือยและลดการใช้บางสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตประจำวันลง

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ระบุว่า จากผลการสำรวจที่คนมีรายได้น้อยประสบปัญหารายรับไม่พอกับรายจ่าย เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและเป็นข้อมูลที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมพิจารณาอย่างจริงจัง เพราะเมื่อสอบถามถึงแผนการใช้จ่ายของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า คนมีรายได้น้อยกลับมีแผนการใช้จ่ายเงินหลายเรื่องน่าสนใจกว่าคนมีรายได้สูง เช่น การศึกษา การซื้อที่พักอาศัย และประชาชนมีแนวโน้มที่จะใส่ใจและใช้สติในการใช้จ่ายมากขึ้นตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยคำนึงถึงสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตเป็นหลักก่อน เช่น อาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะเศรษฐกิจและการเมืองปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น