xs
xsm
sm
md
lg

ค้าปลีกไทยเดี้ยงหมดทางสู้ จี้รัฐเข้มกติกาคุมยักษ์ต่างชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำมันพ่นพิษใส่ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งไทยหดตัว คาดปีนี้โตลดลง เหลือ 5% หอการค้าไทยเร่งเครื่องเตรียมยื่นหนังสือถึงภาครัฐให้ช่วยเหลือค้าปลีกไทยรายเล็กโชวห่วยด่วน ย้ำต้องนำกฎเกณฑ์ กติกา ที่มีอยู่แล้วมาปัดฝุ่นบังคับใช้ให้เข้มงวด ไม่ปล่อยปะละเลยเหมือนอดีต

วานนี้ หอการค้าไทยได้จัดสัมนาเรื่อง “ทิศทางธุรกิจค้าปลีกของไทยครึ่งปีหลัง” โดยมีนายดุสิต นนทะนาคร กรรมการเลขาธิการ หอการค้าไทย นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานคณะกรรมการธุรกิจค้าส่งและปลีก หอการค้าไทย นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่งปลีกไทย และนายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมอภิปราย

น้ำมันพ่นพิษค้าปลีกรวมโตลดลง
นายดุสิต กล่าวว่า สถานการณ์ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทยในปี 2549 นี้ประมาณว่าธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่หรือโมเดิร์นเทรดจะขยายตัวเพียง 5.4% ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ขยายตัว 6.9% เนื่องจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น กำลังซื้อผู้บริโภคลดน้อยลง ความไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยจึงต้องระมัดระวังการใช้จ่าย
ด้านนายบุญชัย กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้นี้มีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะธุรกิจค้าปลีกต่างชาติขยายตัวอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีกติกามากำหนดก็ตาม แต่ก็มีช่องโหว่ให้เขาทำได้ เนื่องจาก พระราชบัญญัติการค้า เราก็ไม่ได้เอามาใช้อย่างจริงจัง หรือพระราชบัญญัติผังเมืองที่กำหนดโซนนิ่งก็ไม่ได้ผล เพราะเขาสามารถพลิกแพลงการลงทุนในรูปแบบอื่นได้ ส่วนพระราชบัญญัติค้าปลีก ที่ร่างไว้ว่าจะออกมาใช้ สุดท้ายก็เงียบไปไม่ได้ออกมาใช้ เพราะว่ารัฐบาลไม่เห็นความจำเป็นจึงไม่ได้ออกมาใช้ ตรงนี้เราต้องแก้ไข

ยื่นหนังสือจี้รัฐเร่งช่วยเหลือ
นายบุญชัยกล่าวว่า ข้อเสนอแนะของหอการค้าไทยที่จะให้ธุรกิจค้าปลีกไทยสามารถแข่งขันได้คือ รัฐบาลควรมีมาตรการรณรงค์ให้ผู้ประกอบการหันมาประหยัดต้นทุนด้านพลังงาน ในด้านการปรับราคาสินค้า ที่ปัจจุบันผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นและตลาดก็แข่งขันสูง รัฐบาลควรที่จะพิจารณาปรับราคาจำหน่ายค้าปลีกให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และมาตรการช่วงเหลือผู้ประกอบการย่อยหรือโชวห่วย ที่ถูกโมเดิร์นเทรดลดขนาดกิจการและพื้นที่เข้าไปเปิดสโตร์มากขึ้น ควรบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เช่น กฎหมายผังเมือง กฎหมายควบคุมอาคาร กฎหมายแข่งขันทางการค้า ให้มีประสิทธิภาพ

“ทางหอการค้าไทย เตรียมที่จะยื่นหนังสือให้ภาครัฐเข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังโดยเฉพาะในส่วนของกติกา กฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่แล้วให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ทั้งพรบ.ผังเมือง พรบ.ค้าปลีก และพรบ.การค้า ต้องทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์และมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่”

นอกจากนั้นแล้วปัญหาปัจจุบันคือ เรื่องของราคาน้ำมันที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ภาครัฐควรที่จะทำอย่างไรก็ได้ให้ราคาน้ำมันนิ่ง ทุกวันนี้เหมือนกับซ้ำเติมปัญหาไม่ได้ดูดซับหรือแก้ปัญหาเลย เพราะเมื่อต้นทุนสูงขึ้นมาร์จิ้นก็ลดน้อยลง โดยเฉพาะรายเล็กอย่างเช่นพวกโชวห่วยมาร์จิ้นเพียง 2% เท่านั้น ขณะที่รายใหญ่ต่างชาติมีมาร์จิ้นสูงถึง 16-17%

ขณะเดียวกัน การทำธุรกิจค้าขายกับทางโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ก็ต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายอีกหลายส่วน เช่น ค่าเอนทรานซ์ฟี ที่ต้องจ่ายก่อนนำสินค้าเข้าไปวางขาย 8.5 แสนบาทต่อ 1 เอสเคยู แต่ถ้าหากมีการปรับเปลี่ยนแค่แพคเกจจิ้งหรือลวดลายของสินค้าเท่านั้น ก็ต้องเสียเพิ่มอีก ซึ่งไม่มีความเป็นธรรมทางการค้าเลย ขณะที่ของห้างคนไทยไม่ต้องจ่ายตรงนี้

ค้าปลีกไทยเสียเปรียบทุกประตู
ขณะที่นายอัทธ์ กล่าวว่า สำหรับมูลค่าการค้าส่งค้าปลีกตั้งแต่ต้นปี 2549 นี้ มีการลดลงมาตลอด โดยไตรมาสแรกปีนี้ มีมูลค่าประมาณ 146,842 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 10% ส่วนไตรมาสที่สองปีนี้มีประมาณ 135,884 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกัน 7.46% ขณะที่ไตรมาสที่สามปีนี้ คาดว่าจะมีมูลค่า 132,805 ล้านบาท ตกลงจากช่วงเดียวกัน 2.27% และคาดว่าในไตรมาสสี่ปีนี้จะมีมูลค่า 134,997 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งคาดว่าทั้งปี 2549 นี้จะมีมูลค่าประมาณ 550,528 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค้าปลีกต่างชาติครองตลาด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 5 แสนล้านบาทแล้วนั้น แต่เมื่อเทียบกับตลาดค้าปลีกทั่วโลกแล้วของประเทศไทยยังมีส่วนแบ่งในตลาดโลกน้อยมากแค่ 0.4% โดยมีค้าปลีกของอเมริกาครองตลาดมากกว่า 47-50% รองลงมาคือญี่ปุ่นประมาณ 14%

โดยทิศทางค้าปลีกค้าส่งของไทยเริ่มเปลี่ยนโฉมหน้าเมื่อปี 2540 มีการเปิดเสรีทางการค้าและแก้กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งเป็น 1 ใน 11 ฉบับเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 ส่งผลให้มีโมเดิร์นเทรดรายใหญ่เข้ามาจำนวนมาก ทำให้การเติบโตของค้าปลีกของไทยเพิ่มมากขึ้นรวมกว่า 20% แต่ค้าปลีกของคนไทยเองก็ได้รับผลกระทบที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียอย่าง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เติบโตเพียงแค่ 10% เท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถเข้ามาลงทุนในไทยได้ไม่ยาก และสามารถถือหุ้นใหญ่ได้ และทุกวันนี้ธุรกิจค้าปลีกอยู่ในมือรายใหญ่ต่างชาติแค่ 3-4 รายเท่านั้น ครองส่วนแบ่งกว่า 50% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในระยะสั้นผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์ด้านราคา แต่ระยะยาวผลเสียคือ ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ต่างชาติจะมีอำนาจในการผูกขาดตลาดได้

ส่วนประเด็นปัญหาที่ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้คือ ปัญหาด้านเงินทุน เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ ซัปพลายเออร์เสียเปรียบเรื่องอำนาจต่อรอง นายอัทธ์ ให้ความเห็นด้วยว่า หากพรรคการเมืองนำนโยบายเรื่องการแก้ไขปัญหาค้าปลีกนี้เข้าไปบรรจุไว้ในนโยบายการหาเสียงก็น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะจะเป็นการทำประชานิยมกับกลุ่มธุรกิจบ้าง นอกเหนือจากการทำประชานิยมกับกลุ่มรากหญ้า

ปีหน้าแข่งเดือดทุกวิธี
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการค้าปลีกของไทยไม่สามารถสู้กับค้าปลีกข้ามชาติได้คือ เรื่องของต้นทุนและเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดั๊มราคาขายสินค้าของค้าปลีกต่างชาติที่ใช้กันมาต่อเนื่อง ภาครัฐบาลไม่ได้เข้ามาดูแลอย่างจริงจัง ซึ่งในทางที่ถูกต้องแล้วรัฐต้องกำหนดกติกาและปฎิบัติให้ได้ในเรื่องของคุณธรรมทางการค้า

โดยเฉพาะในเวลานี้ที่คนไทยจะต้องเหนื่อยมาก ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยรวมทั้งซัปพลายเออร์ด้วย เพราะว่าราคาน้ำมันแพงขึ้น รายได้ตกลง กำลังซื้อลดลงไป การที่ค้าปลีกแต่ละรายต้องการยอดขายให้เติบโตก็จำเป็นต้องลดราคาโปรโมชั่นเพื่อปลุกกำกำลังซื้อ ทำให้กำไรน้อย แต่รายใหญ่มีอำนาจต่อรองบีบคั้นให้อีกฝ่ายหนึ่งคือซัปพลายเออร์ต้องยอมลดราคาลงมา ซึ่งก็ต้องยอมจำนนเพราะไม่มีทางสู้

สำหรับสถานการณ์ค้าปลีกค้าส่งในปีหน้า ประเมินว่าจะแข่งขันรุนแรงวกว่าปีนี้อีก เพราะเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากเศรษฐกิจของปีนี้ อีกทั้งต่างชาติเปิดสาขามากขึ้นก็ต้องพยายามสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น จะใช้ทุกวิธีเพื่อแย่งชิงผู้บริโภค
กำลังโหลดความคิดเห็น