xs
xsm
sm
md
lg

สิงห์สกัดธุรกิจเหล้าขาว แนะรัฐขึ้นภาษีปั้นรายได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บุญรอดฯ แนะรัฐแก้ปัญหาสูญเสียรายได้การจัดเก็บภาษี 3 หมื่นล้านบาท ชงเรื่องปรับโครงสร้างเหล้าขาว เพิ่มภาษี 240 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธ์ หรือเสียภาษี 60 บาทต่อขวด ระบุสูตรเด็ดเก็บภาษีกว่า 1 หมื่นล้านบาท ทุ่ม 4 พันล้านบาท ผุดโรงงานใหม่ รับนโยบายบุกตลาดเอเชีย พร้อมปักหลักปั้นธุรกิจ 2 ขาใหม่ อาหาร-เครื่องดื่มสุขภาพเสริมอาณาจักร

นายสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเบอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์สิงห์ ลีโอเบียร์ และไทเบียร์ เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงการคลังพลาดเป้าการจัดเก็บภาษีในรอบปีที่ผ่านมาถึง 3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นบุญรอดฯในฐานะเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่ง จึงมีแนวทางเสนอว่าหากภาครัฐต้องการหารายได้จากภาษีเพิ่มเติม โดยไม่ต้องไปจัดเก็บภาษีจากธุรกิจอื่นเพิ่มแทน ทางเลือกหนึ่งคือการเพิ่มภาษีสุราขาวเป็น 50% ของราคาด้วยการเพิ่มภาษีปริมาณเป็น 240 บาทต่อลิตร แห่งแอลกอฮอล์บริสุทธ์ โดยเหล้าขาวจะเสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 60 บาทต่อขวด ในขนาด 625 ซีซี ทั้งนี้จากการคำนวณสูตรการจัดเก็บดังกล่าว ภาครัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นถึงปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท

สำหรับเหตุผลที่บริษัทเสนอให้ภาครัฐปรับภาษีเหล้าขาวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปี 2548 ปริมาณเหล้าขาวเพิ่มขึ้น 10% เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีสุราเมื่อเดือนกันยายน ปี 2548 อีกทั้งเหล้าขาวยังคงเป็นสุรากลั่นที่เสียภาษีต่ำที่สุด คือเสียภาษีดีกรีละ 70 สตางค์ หรือตกประมาณขวดละ 17.50 บาทในขนาด 625 ซีซี 40 ดีกรี นอกจากนี้เหล้าขาวยังเป็นตลาดที่ใหญ่มากมีมูลค่าถึง 434,814 พันลิตร หรือคิดเป็น 76-77% ของตลาดรวมเหล้า ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีจำนวนผู้ดื่มที่ไม่น้อย อีกทั้งยังเป็นเหล้าที่มีดีกรีสูง 35-40 ดีกรี ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อผู้ดื่มมากนัก ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เมื่อเทียบกับเทรนด์ของทั่วโลกแนวโน้มผู้บริโภคดื่มแอลกอฮอล์มีดีกรีน้อยลง

ดังนั้นหากมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นนอกจากรัฐจะได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้ปริมาณการดื่มเหล้าขาวคนไทยลดลงด้วย เช่นเดียวกับ กรณีการปรับภาษีสุราสีขึ้น ส่งผลให้การบริโภคเหล้าสีลดลง รวมทั้งลดการเกิดอุบัติเหตุ โดยที่ผ่านมากรมสรรพสามิตรไม่ปรับโครงสร้างภาษีเหล้าขาว โดยอ้างว่าเพื่อต้องการช่วยเหลือเหล้าชุมชน แต่ปัจจุบันเหล้าชุมชนมีเพียง 5 % เท่านั้นจากตลาดรวมทั้งหมด 434,814 (พันลิตร) ในขณะที่เหล้าขาวจากผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ของประเทศครองส่วนแบ่ง 95% นอกจากนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเหล้าขาวชุมชนยังล้มหายตายจากไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโดนกลุ่มนายทุนใหญ่ใช้กลยุทธ์ราคาจำหน่ายขวด 40 บาท ในขณะที่เหล้าชุมชนมีต้นทุน 45 บาทต่อขวด หลังจากก่อนหน้านี้เหล้าชุมชนมีส่วนแบ่ง 6-7% และปัจจุบันเหล้าขาวนายทุนใหญ่จำหน่ายราคาขวดละ 75 บาท

“แม้ว่าการดำเนินธุรกิจปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ปลาใหญ่ต้องปล่อยให้ปลาเล็กได้ว่ายน้ำบ้าง อีกทั้งภาครัฐไม่ควรใช้ระบบอุ้มชู เพราะหากการเปิดเขตเสรีการค้าระหว่างประเทศหรือเอฟทีเอมีผลเมื่อไร ธุรกิจไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนใจรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูล ตัวเลขการจัดเก็บภาษีที่ทางบริษัทนำเสนอผ่านสื่อ บริษัทยินดีที่จะเข้าไปนำเสนอข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม”

ทุ่ม4000พันล.ปั้นธุรกิจเครื่องดื่มอาหาร
นายสันติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากบริษัทมีโครงสร้างธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักแล้ว โดยปัจจุบันในตลาดเบียร์มูลค่า 8 หมื่นล้านบาท เบียร์ภายใต้สิงห์คอปอร์เรชั่นครองส่วนแบ่ง 47% ประกอบด้วย ลีโอ สิงห์ และไทเบียร์ ฯลฯ และคาดว่าสิ้นปีจะสามารถรักษาส่วนแบ่งไว้ที่ 47% ไล่เลี่ยกับไทยเบฟฯ แต่มองว่าการที่สิงห์คอปอร์เรชั่นมีส่วนแบ่ง 50% คงเป็นเรื่องยาก ดังนั้นบริษัทจึงได้เล็งสร้างอาณาจักรสิงห์คอปอร์เรชั่นเพิ่มเติม ด้วยการรุกดำเนิน 2 ธุรกิจใหม่อย่างเต็มรูปแบบ

สำหรับธุรกิจขาที่ 2 ของบริษัท คือ การดำเนินธุรกิจกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งในกลุ่มเครื่องดื่มนอกจากมีเครื่องดื่มชาเขียว โมชิ บริษัทได้เตรียมเปิดตัวเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ซอฟดริงก์ “อะมิโน” ส่วนธุรกิจอาหารเป็นขาที่ 3 ของ สิงห์คอปอร์เรชั่น คือ คาดว่าจะเริ่มได้ในปลายปีนี้ โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนเป็นหลักร้อยล้าน ซึ่งธุรกิจนี้บริษัทจะเน้นร่วมทุนกับผู้ประกอบการต่างประเทศในสัดส่วน 50 :50 โดยเน้นส่งออก 90 % และภายในประเทศ 10% โดยโมเดลการทำธุรกิจนี้ เพื่อรองรับกับการเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศ (FTA)

อย่างไรก็ตามการดำเนินธุรกิจของสิงห์คอปอร์เรชั่นที่แตกต่างธุรกิจถึง 3 ขา รวมทั้งการวางแผนรุกตลาดต่างประเทศ จะช่วยดันภาพลักษณ์ของสิงห์คอปอร์เรชั่นให้มีความแข็งแกร่งทั้งในประเทศและมีความเป็นอินเตอร์มากขึ้นในตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้แผนการลงทุนปีหน้าบริษัทใช้ 3,000-4,000ล้านบาท สร้างโรงงานแห่งใหม่เพิ่มเติม เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคตทั้งภายในประเทศและการส่งออก จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 1,100 ล้านลิตร ซึ่งบริษัทสนใจที่จะเข้าไปร่วมทุนกับผู้ประกอบการต่างประเทศ เบื้องต้นเล็งบุกตลาดเอเชีย ล่าสุด อยู่ระหว่างการศึกษาตลาดเวียดนามอยู่ พร้อมกันนี้ปีนี้บริษัทยังได้เตรียมทุ่มงบ 300 -400 ล้านบาท ลงทุนเพิ่มจากในบริษัท บางกอก กล๊าซ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ขวดรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งบริษัทได้เข้าไปถือหุ้น 50%

สำหรับผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกมีอัตราการเติบโต 20-25% เกินเป้าหมายที่วางไว้ 2% ส่วนทั้งปีคาดว่าอัตราการเติบโตจะไม่ดีมากนัก เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลังคาดการณ์ว่าสถานการณ์ตลาดเบียร์โดยรวมรวมมูลค่า 8 หมื่นล้านบาท จะมีอัตราการเติบโต 1-2% สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว กำลังการซื้อของผู้บริโภคส่วนใหญ่นำเงินในอนาคตมาใช้จ่าย เป็นหนี้บัตรเครดิต จึงคาดว่าครึ่งปีหลังยอดขายของบริษัทชะลอตัวลง
กำลังโหลดความคิดเห็น