xs
xsm
sm
md
lg

สรรพากรให้หักลดหย่อนภาษีประกันลูกกตัญญูตั้งแต่ปีภาษี 49 เป็นต้นไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชาชนสนใจสอบถามและทำประกันภัยลูกกตัญญูหลังเปิดตัวเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นจำนวนมาก กรมการประกันภัยย้ำลูกที่ซื้อประกันให้กับพ่อแม่มีสิทธิหักค่าลดหย่อนภาษีไม่เกิน 15,000 บาทต่อลูก 1 คน เริ่มปีภาษี 2549 โดยกรมสรรพากรให้หักได้เฉพาะที่ทำประกันภัยปีนี้ไม่มีการย้อนหลัง แต่กำลังหารือที่จะขยายเพดานรายได้ของพ่อแม่ และค่าลดหย่อนภาษีเพิ่ม คาดจะทราบผลในเร็ว ๆ นี้

น.ส.พจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย กล่าวว่า หลังจากมีการเปิดตัวโครงการประกันภัยสุขภาพลูกกตัญญูภายใต้โครงการแทนความห่วงใยด้วยกรมธรรม์ลูกกตัญญู ระหว่างวันที่ 4-5 สิงหาคมที่ผ่านมา มีประชาชนสนใจทำประกันภัยลูกกตัญญูต่างสอบถามบริษัทประกันที่เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก และมีการทำประกันภัยลูกกตัญญูให้กับพ่อแม่แล้วหลายราย คาดว่าหลังจากนี้ไป โครงการดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ การทำประกันภัยลูกกตัญญูซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมสรรพากร ให้บุตรที่ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับพ่อแม่หรือพ่อแม่ของคู่สมรส นำค่าใช้จ่ายที่ซื้อประกันมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยมีเงื่อนไขว่า บิดามารดาต้องมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท จะสามารถหักลดหย่อนได้ตามความเป็นจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อลูก 1 คน โดยขณะนี้กรมการประกันภัยกำลังหารือกับกรมสรรพากรที่จะขยายเพดานรายได้พ่อแม่ต่อปีเป็นไม่เกิน 50,000 บาท จากปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 30,000 บาท และจะเพิ่มสัดส่วนการหักค่าลดหย่อนภาษีด้วย

“การหักลดหย่อนภาษีประกันภัยลูกกตัญญูจะเริ่มต้นปีภาษี 2549 ซึ่งจะยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ภายในเดือนมีนาคม 2550 โดยจะแยกออกจากการหักลดหย่อนภาษีเงินได้กรณีเป็นค่าใช้จ่ายประกันชีวิตรายละไม่เกิน 50,000 บาท” อธิบดีกรมการประกันภัย กล่าว

สำหรับประเภทของการประกันภัยที่เข้าข่ายเป็นกรมธรรม์ประกันภัยลูกกตัญญูได้แก่ 1. ประกันภัยสุขภาพเพื่อให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ รวมทั้งการชดเชยทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ 2. ประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก 3. การประกันภัยโรคร้ายแรง 6 โรค คือ มะเร็งระยะลุกลาม กล้ามเนื้อหัวใจตาย หลอดเลือดสมอง ไตวาย ภาวะหมดสติ และการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ

และ 4. การประกันภัยการดูแลระยะยาว ซึ่งเป็นกรมธรรม์รูปแบบใหม่ที่ให้การดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ โดยผู้ทำกรมธรรม์ประเภทนี้จะต้องเริ่มประกันระหว่างอายุ 40-65 ปี ซึ่งบริษัทประกันจะจ่ายค่าทดแทนเมื่อผู้เอาประกันไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันอย่างน้อย 3 ใน 6 อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 180 วัน คือ การเปลี่ยนจากนอนไปนั่ง การเดิน การแต่งกาย การอาบน้ำ รับประทานอาหาร และการขับถ่าย โดยการจ่ายค่าทดแทนสามารถจ่ายเป็นรายเดือนหรือเงินก้อน ทั้งนี้ บริษัทประกันไม่สามารถปฏิเสธการต่ออายุสัญญาประกันประเภทดังกล่าวได้ แต่ประชาชนสามารถบอกเลิกสัญญาได้ตามที่พึงพอใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น