xs
xsm
sm
md
lg

องค์การเภสัชกรรมพลิกบทรุกค้าปลีก ลดพื้นที่ขอลุยตึกแถว-ทำเองเข็ดจ้างเอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


องค์การเภสัชกรรม พลิกบทรุกธุรกิจค้าปลีกร้านขายยาอีกรอบ เข็ดรูปแบบร้านสะดวกซื้อ หลังทำแล้วไม่เวิร์ค หันกลับมาขอลุยเองดีกว่า เลิกว่าจ้างเอกชนบริหารทำตลาดแล้ว พร้อมปรับคอนเซ็ปต์สู่ โมเดิร์นฟาร์มาซีชอป ที่ไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อ เล็งทำเลย่านชุมชน ประเดิมตุลาคมนี้คาดเปิด 5 สาขา คาดหวังรายได้ 10 ล้านบาทต่อสาขาต่อปี เผยเป็นอีกหนึ่งอาวุธดันรายได้รวมทะลุ 5,000 ล้านบาทปีนี้

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจค้าปลีกยา เปิดเผยว่า หลังจากที่โครงการ "ร้านสะดวกซื้อ จีพีโอ" ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่ต้องการจะรุกตลาดในเชิงค้าปลีกมากขึ้นได้ทดลองเปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลสำโรงแล้วไม่ประสบความสำเร็จและได้ปิดร้านแล้วนั้น ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวของทางองค์การเภสัชกรรมที่ได้ปรับแผนการดำเนินงานใหม่แล้ว โดยจะหันมาดำเนินการเองทั้งหมดทั้งการลงทุนและการบริหาร จัดการต่างๆ รวมทั้งจะปรับรูปแบบเป็นร้านขายาตามแบบเดิมที่เคยทำมาแต่จะเป็นแนว โมเดิร์นฟาร์มาซีชอป (Modern Pharmacy Shop) เปิดแบบสแตนด์โลน

จากเดิมที่จะลงทุนเอง แต่ว่าจ้างเอกชนบริหารจัดการการตลาดให้ แล้วแบ่งรายได้เป็นเปอร์เซนต์ตามที่ตกลงกันจากรายได้ของการขาย และจะเปิดในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และทั่วไป และใช้พื้นที่ขนาดใหญ่มากกว่า 200 ตารางเมตร ซึ่งทำให้การหาทำเลดีๆและพื้นที่ใหญ่มีความลำบาก

ทั้งนี้หลังจากที่กำหนดแนวทางใหม่แล้ว จะเตรียมเปิดร้านของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า "จีพีโอ ร้านขายยาองค์การเภสัชกรรม" ซึ่งในช่วงแรกนี้จะเปิดพร้อมกันประมาณ 5 สาขาในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ กระจายไปในพื้นที่ที่หลากหลายเพื่อทำการเก็บข้อมูลที่หลากหลายด้วยในการนำมาศึกษาเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ก่อนที่จะรุกหนักในปีหน้า

โดยพื้นที่ที่เตรียมไว้ขณะนี้ จำนวน 5 แห่ง โดย 4 ที่นั้นตกลงกันเรียบร้อยแล้วกับเจ้าของพื้นที่คือ ซอยศาลาแดง, ถนนพัฒนาการหน้าตลาดสดพัฒนาการและซอยปรีดีพนมยงค์ต้นถนนพัฒนาการ, บางบอนหน้าตลาด0กำนันแม้น ส่วนอีก 1 ที่นั้นอยู่ระหว่างการเจรจาในรายละเอียดคือ ตรงข้ามโรงพยาลบาลพระมงกุฎ ในรูปแบบตึกแถวขนาด 2 คูหาเป็นหลัก พื้นที่เฉลี่ย 60-80 ตารางเมตร คาดว่าจะต้องใช้งบลงทุนเฉลี่ย 1-2 ล้านบาทต่อสาขา โดยจะเป็นการเช่าพื้นที่ทั้งหมด ระยะเวลาเฉลี่ย 3 ปีต่อสาขา ซึ่งการหาทำเลนั้นจะเน้นไปที่ย่านชุมชนเป็นหลัก

รูปแบบใหม่จะเน้นการขายยาเป็นหลัก รวมทั้งจะขยายไลน์ไปยังผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสมุนไพรไทยด้วย แต่จะลดสัดส่วนการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์อย่างอื่นที่ไม่ใช่ยาเช่น อุปกรณ์ สแน็ก บริการต่างๆที่ไม่กี่ยวข้องที่เคยทำเมื่อเปิดร้านที่สำโรง ขณะที่สัดส่วนผลิตภัณฑ์ยาในการวางจำหน่ายนั้นระหว่างขององค์การเภสัชกรรมกับของซัปพลายเออร์นั้นจะแตกต่างกันไปตามทำเล เช่น ที่ซอยศาลาแดงนั้นคาดว่าจะเป็นสัดส่วนขององค์การฯ และซัปพลายเออร์เท่ากัน 50-50 เนื่องจากย่านนั้นเป็นย่านธุรกิจมีคนรุ่นใหม่และคนทำงานออฟฟิศจำนวนมาก จึงจะต้องมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายไว้บริการ

สำหรับร้านในรูปแบบเดิมอีก 6 สาขาที่เป็นขององค์การเภสัชกรรมของและเปิดมานานแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการทดลองกับเอกชน คือ สาขาที่อยู่ตรงข้ามโรงพยาบาลรามาธิบดี, ยศเส, รังสิต, กระทรวงสาธารณสุข, จรัลสนิทวงศ์และเทเวศร์ คาดว่าอาจจะต้องมีการปรับปรุงใหม่เพื่อให้เป็นคอนเซ็ปท์ โมเดิร์น ฟาร์มาซี ชอป แบบเดียวกับที่จะเปิดใหม่นี้ แต่จะทยอยปรับในแต่สาขา

ทั้งนี้ร้านค้าใหม่ที่จะเปิดบริการเร็วๆนี้ องค์การเภสัชกรรมเองก็คาดหวังว่าจะมีรายได้ประมาณ 30,000 บาทต่อสาขาต่อวัน หรือประมาณ 10 ล้านบาทต่อปีต่อสาขา โดยหากเปิด 5 สาขาในปีนี้ก็จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 50ล้านบาท ในระยะเวลาปีแรกของการเปิดดำเนินงาน

หลักเกณฑ์ที่องค์การเภสัชกรรม นำมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวนรายได้นั้น ประเมินมาจากตัวเลขขั้นต่ำที่สุดแล้ว ที่น่าจะทำได้ โดยเปรียบเทียบกับ 6 สาขาเดิมที่เปิดอยู่นั้น สาขาที่ทำรายได้ต่ำที่สุดก็มากกว่า 50,000 บาทต่อวันต่อสาขาแล้ว ขณะที่สาขี่ทำรายได้สูงที่สุดนั้นอยู่ที่ 400,000 บาทต่อวัน และมีผลกำไรทั้งสิ้น

ธุรกิจค้าปลีกยานี้จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันรายได้ให้กับองค์การเภสัชกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยปีนี้คาดว่าจะมียอดขายโดยรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากรายได้ของยาขององค์การเภสัชกรรมเองประมาณ 4,500 ล้านบาท และรายได้จากการจำหน่ายยาของผู้ผลิตรายอื่นประมาณ 500 ล้านบาท

เผยเหตุปิดร้านทดลองจีพีโอแห่งแรก
แนวคิดในการพัฒนาร้านขายยาในเชิงค้าปลีกขององค์การเภสัชกรรมหรือ อภ. (จีพีโอ) นั้น ในชื่อว่า "ร้านสะดวกซื้อจีพีโอ/GPO) ได้ทดลองเปิดสาขาแรกที่ ชั้น 1 ศูนย์การค้าอิมพีเรียล สำโรง พื้นที่ 200 ตารางเมตร ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

ล่าสุดพบว่าขณะนี้ร้านดังกล่าวได้ปิดบริการไปแล้ว หลังจากเปิดบริการได้ไม่ถึงปีโดยสาขาแรกนี้ทางอภ.ได้ว่าจ้างให้เอกชนคือ บริษัท โอดีเอส จำกัด เข้ามาเป็นที่ปรึกษาและบริหารงานในช่วงแรก โดยมีสัญญาปีต่อปี แต่ขณะนี้ได้หมดสัญญาไปแล้วเช่นกันเมื่อช่วงปลายไตรมาสแรกของปีนี้และไม่ได้ต่อสัญญากันอีก หลังจากนั้น ทางองค์การเภสัชกรรมจึงได้เข้ามาบริหารงานเอง แต่ที่ผ่านมากลับพบว่า ขาดการทำตลาดที่ต่อเนื่อง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วจะต้องมีการทำโปรโมชั่น กิจกรรมการตลาด การบริหารจัดการที่ต้องสามารถแข่งขันกับเอกชนได้

"เป้าหมายหลักขององค์การเภสัชกรรมในตอนแรกนั้น ตั้งใจที่จะให้สาขานี้เป็นต้นแบบในการรุกธุรกิจเชิงค้าปลีกนร้านขายยาต่อไป และจะเป็นร้านที่ยึดคอนเซ็ปท์ สะดวก สุขภาพ เป็นหลัก มีขายทั้งยา ทั้งอาหารเสริม สแน็ก เครื่องดื่ม อุปกรณ์ทั่วไปที่เกี่ยวกับสุขภาพ รวมทั้งมีบริการอื่นๆที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่อย่างดี ฉีกภาพลักษณ์เดิมๆของร้านขายยาองค์การเภสัชกรรมออกไปจนหมดสิ้น"

ทว่าสุดท้ายก็ไปไม่ไหวหากวิเคราะห์ถึงปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้โครงการนี้ต้องสะดุดลงแล้ว แม้ว่า องค์การเภสัชกรรมจะมีความตั้งใจที่ดี พบว่าสาเหตุใหญ่ๆน่าจะเป็น 1.การบริหารจัดการ แม้ว่าโครงการนี้จะว่าจ้างให้เอกชนเข้ามาบริหารการตลาดก็ตาม แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบขององค์การเภสัชกรรมอีกทอดหนึ่งอยู่ดี จึงทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงาน ซึ่งรู้กันดีว่าระบบราชการนั้นมีปัญหาด้านความรวดเร็ว ขั้นตอน รวมทั้งงบประมาณด้วย

2.ค่าใช้จ่ายที่สูงเช่น ค่าเช่าพื้นที่ คิดดูก็แล้วกันว่า สาขาแรกนี้ลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท จากข้อมูลที่ องค์การเภสัชกรรมให้ไว้ในช่วงเปิดสาขาใหม่ๆ รวมทั้งต้นทุนการแบ่งสรรรายได้จากการขายให้กับเอกชนตามที่ตกลงกันคือ องค์การเภสัชกรรม สัดส่วน 70% เอกชน 30% แทนที่องค์การเภสัชกรรมจะเก็บได้เต็มน้ำเต็มเนื้อฝ่ายเดียว

3.ขนาดของพื้นที่และทำเล ซึ่งพื้นที่ที่ใช้ในการเปิดร้านนั้นถือว่าใหญ่มากกับขนาด 200 ตารางเมตร ซึ่งจะต้องทำรายได้ให้คุ้มเมื่อคิดเป็นปริมาณต่อตารางเมตร รวมทั้งการที่ไปตั้งอยู่ในศูนย์การค้า ซึ่งน่าจะดีเพราะมีปริมาณผู้คนจำนวนมากและมีความสะดวกสบายสำหรับผู้บริโภคในการเข้ามาจับจ่าย แต่ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากร้านขายยาเอกชนทั่วไป และร้านที่ขายสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพหรือสเปเชียลตี้สโตร์ต่างๆ ที่มีจำนวนมากในศูนย์การค้านั้นๆ หากขยายสาขาอื่นต่อไป

แต่ต้องยอมรับถึงวิธีการคิดและการปรับตัวในความพยายามครั้งนี้ที่จะสร้างรูปลักษณ์และมิติใหม่ขึ้นมาเพราะรูปแบบการบริการในร้านที่สำโรงนี้ จะแยกพื้นที่ของผลิตภัณฑ์เป็นกลุ่ม เช่น มุมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพซึ่งจะมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นของ องค์การเภสัชกรรมเอง และของซัปพลายเออร์ รายอื่น มีอาหารเสริมทางการแพทย์ อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เครื่องสำอาง โฮมสปา มากกว่า 8,000 รายการ รวมทั้งการให้บริการต่างๆ การให้บริการตรวจสุขภาพ มุมบริการอื่นเช่น เครื่องดื่มสุขภาพ อินเทอร์เน็ตเคาเฟ่ จัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์

ตามแผนเดิมนั้นกำหนดว่าในปี 2549 นี้จะต้องเปิดสาขาใหม่ให้ได้อีก 3 สาขา และคาดว่ารูปแบบร้านนี้จะช่วยผลักดันสร้างรายได้ให้กับองค์การเภสัชกรรมมากขึ้น จากตัวเลขที่คาดว่าจะมีปริมาณคนเดินเข้าร้านสะดวกซื้อจีพีโอนี้ ประมาณ 1,000 คนต่อวัน ค่าใช้จ่ายประมาณ 140 บาทต่อคนต่อครั้งวางเป้าหมายภายใน 1 ปีแรกมียอดสมาชิก 10,000 ราย และคาดหวังว่าจะมีรายได้ 50 ล้านบาท และ ภายใน 3 ปี จะมีรายได้เพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท

ถึงเวลานี้ องค์การเภสัชกรรม คงต้องยอมรับแล้วว่า แผนงานดังกล่าวที่วางไว้นั้น โอกาสที่จะบรรลุผลยากเหลือเกิน
กำลังโหลดความคิดเห็น