"ทอท." ร่วมกับ "การบินไทย" จัดการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนกรณีเครื่องบินลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจำลองเครื่องบินแอร์บัส เอ 300-600 เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้เครื่อง ผู้บริหาร ทอท. ระบุการซ้อมลงจอดฉุกเฉินเต็มรูปแบบจะมีอย่างน้อย 1 ครั้ง ทุก 2 ปี และมีการตั้งคณะกรรมการแผนฉุกเฉินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รองรับด้วย
ในช่วงเช้าวันนี้ (20 ก.ค.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดการฝึกซ้อมแบบเต็มรูปแบบ กรณีมีเครื่องบินลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยการนำเครื่องบินแบบแอร์บัสเอ 300-600 พร้อมด้วยนักบิน พนักงานต้อนรับ พนักงานบริการภาคพื้นของการบินไทย กว่า 400 คน เข้าร่วมการปฏิบัติการฝึกซ้อม ซึ่งได้สมมติเหตุการณ์กรณีอากาศยานเกิดเหตุฉุกเฉินในพื้นที่รันเวย์ฝั่งตะวันออก
เรืออากาศโทอภินันท์ สุมนะเศรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การฝึกซ้อมเหตุฉุกเฉินตามแผนวันนี้ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือไอซีเอโอ ที่ถือปฏิบัติสำหรับท่าอากาศยานสากลของประเทศสมาชิก เพื่อสร้างความมั่นใจในการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยการบินไทย ในฐานะสายการบินแห่งชาติ ได้นำพนักงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฝึกซ้อม เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันของทุกฝ่าย ซึ่งแผนมาตรฐานความปลอดภัยของบริษัทเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด และลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร รวมถึงพนักงานของการบินไทย
สำหรับการเตรียมแผนฝึกซ้อมของ ทอท. ได้มีการจำลองสถานการณ์หลังจากหอบังคับการบินได้รับแจ้งว่า เครื่องบินแบบแอร์บัสเอ 300-600 ซึ่งเดินทางมาจากประเทศที่มีการสมมติขึ้นเกิดเหตุเพลิงลุกไหม้ที่เครื่องหมายเลข 1 โดยบนเครื่องบินลำดังกล่าว มีผู้โดยสารจำนวน 95 คน นักบิน 2 คน ลูกเรือ 6 คน และมีน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวน 20,000 ลิตร อยู่ในเครื่อง ขณะเดินทางห่างจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไป 30 ไมล์ หลังจากการรับแจ้งเหตุได้มีการรายงานเหตุฉุกเฉินตามสายบังคับบัญชาก่อนที่ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งฝ่ายดับเพลิงและกู้ภัยออกทำงานพร้อมกัน ก่อนที่นักบินจะนำเครื่องบินร่อนลงจอดในรันเวย์ทางวิ่ง 19 L หรือรันเวย์ด้านทิศตะวันออก ก่อนที่รถดับเพลิง หน่วยกู้ภัย หน่วยแพทย์พยาบาล จะไปถึงที่เกิดเหตุพร้อมกัน หลังจากนั้น จะใช้เวลาประมาณ 15 นาที นับตั้งแต่รับแจ้งเหตุอพยพผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่องบินออกทางประตูหลังของเครื่อง และฝ่ายรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เข้าควบคุมพื้นที่เพื่อปฏิบัติการตามแผนฉุกเฉิน หลังจากนั้น จึงมีการประกาศยกเลิกสถานการณ์โดยรวมระยะเวลาในการซ้อมตั้งแต่รับแจ้งเหตุเวลา 10.10 น. จนถึงเวลายกเลิกการตั้งศูนย์ควบคุมเหตุการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ชั่วโมง
ด้านนายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า การฝึกซ้อมรองรับแผนฉุกเฉินทั้งหมดในวันนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ หากเกิดสถานการณ์ขึ้นจริง โดย ทอท.จะมีการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบอย่างน้อย 1 ครั้ง ทุก 2 ปี รวมทั้งจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแผนฉุกเฉินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขึ้น และแจกจ่ายแผนดังกล่าวให้แก่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน