xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องดื่มชูกำลังปี 49 ครึ่งปีแรกยังโต...ครึ่งปีหลังต้องระวัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในช่วงครึ่งแรกปี 2549 ยังคงเติบโต โดยในเดือนมกราคม-เมษายน 2549 ปริมาณการจำหน่ายในประเทศมี 265.0 ล้านลิตร1 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.7 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราการขยายตัวในรูปของเม็ดเงินหรือมูลค่าตลาดนั้นจะมีแนวโน้มเติบโตน้อยกว่าอัตราการขยายตัวทางด้านปริมาณจำหน่าย ทั้งนี้เป็นเพราะผู้ประกอบการต่างแข่งขันกันจัดกิจกรรมการให้ส่วนลดกับร้านค้ารวมทั้งผู้บริโภค เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิมและขยายส่วนแบ่งตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ

สำหรับทิศทางตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่จะขยายตัวต่ำกว่าในช่วงครึ่งปีแรก จากปัจจัยด้านราคาน้ำมัน รวมทั้งความผันผวนทางการเมือง ในขณะเดียวกันช่วงครึ่งปีหลังจะเข้าสู่ฤดูฝนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมด้านการขนส่งสินค้า และภาคการก่อสร้าง นอกจากนี้โครงการลงทุนขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจกของภาครัฐก็ยังชะงักงัน ทำให้คาดว่าตลอดทั้งปี 2549 ตลาดเครื่องดื่มดื่มชูกำลังจะมีการขยายตัวทางด้านมูลค่าไม่เกินร้อยละ 5

ดังนั้นการจะกระตุ้นให้ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังเติบโตท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวได้จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องหาหนทางขยายฐานตลาดไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้งกลุ่มวัยรุ่นและคนวัยทำงานจากเดิมที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายส่วนใหญ่จะอยู่ที่ผู้ใช้แรงงานเป็นหลัก ในขณะเดียวกันก็ควรเร่งขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น

สำหรับตลาดส่งออกเครื่องดื่มชูกำลังในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 พบว่ามูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 42.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ม.ค.-พ.ค.)2ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปี 2548 ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 42.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ตลาดส่งออกเครื่องดื่มชูกำลังถือว่าชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งการส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากมูลค่าการส่งออก 53.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2545 เพิ่มขึ้นมาเป็น 63.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 89.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯและ 98.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2546-2548 ตามลำดับหรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 23.7 ต่อปี

ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางด้านการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมัน ทำให้กำลังซื้อของประชาชนในประเทศผู้นำเข้าชะลอตัวลง โดยตลาดส่งออกหลักเครื่องดื่มชูกำลังของไทยอันดับหนึ่ง

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากปัจจัยลบที่กระทบตลาดมีค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น กำลังซื้อของประชาชนเริ่มถูกบั่นทอนมากขึ้นเรื่อยๆจากปัญหาราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบไปถึงต้นทุนสินค้าและบริการแทบทุกชนิดที่ปรับตัวสูงขึ้นง ในขณะเดียวกันในช่วงครึ่งหลังของปีเป็นช่วงหน้าฝนนับเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจทางด้านการขนส่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงภาคก่อสร้างซึ่งก็กำลังอยู่ในช่วงชะลอตัวเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แนวโน้มของตลาดเครื่องดื่มชูกำลังที่มีมูลค่า 15,000 ล้านบาทต่อปี นับวันจะมีอุปสรรคและปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อการขยายตลาดไม่ว่าจะเป็นมาตรการควบคุมที่เข้มงวดของภาครัฐทั้งการห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์สรรพคุณหรือเชิญชวนให้บริโภคสินค้า การห้ามนำดารานักร้องที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีมาเป็นพรีเซนเตอร์ รวมทั้งการห้ามจัดรายการชิงโชคแจกของรางวัล ประการสำคัญ ปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้แรงงานและผู้ทำงานหนักซึ่งเป็นตลาดหลักของเครื่องดื่มชูกำลังได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ปรับลดลงจากภาวะราคาน้ำมันและราคาสินค้าค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการเครื่องดื่มชูกำลังควรเร่งปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดซึ่งมีดังนี้

ปรับภาพลักษณ์เพื่อขยายฐานผู้บริโภค เครื่องดื่มชูกำลังเป็นสินค้าที่มีภาพลักษณ์ของเครื่องดื่มให้กำลังงาน ทำให้มีฐานลูกค้าที่เหนียวแน่นในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นตลาดใหญ่ของเครื่องดื่มชูกำลัง แต่หากจะขยายตลาดให้เติบโตขึ้น ต้องขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคสู่คนรุ่นใหม่ทั้งวัยทำงานและวัยเรียนเหมือนเช่นตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในต่างประเทศ ซึ่งสามารถขยายตลาดสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ตามสถานบันเทิงต่างๆ ทั้งนี้สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการควรเร่งทำคือการปรับภาพลักษณ์สินค้าให้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยต้องเน้นให้เห็นว่าการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังจะได้อะไรที่มากกว่ากำลังงาน

ซึ่งกลยุทธ์ที่ควรนำมาใช้ควรเน้นด้านความบันเทิงทั้งมิวสิก มาร์เก็ตติ้ง และสปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง ที่เข้าถึงและตอบสนองความต้องการกลุ่มคนรุ่นใหม่มากที่สุด รวมไปถึงการปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์รวมทั้งฉลากสินค้าให้ทันสมัย

ขยายตลาดส่งออก ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในต่างประเทศถือเป็นอีกช่องทางการกระจายสินค้าของผู้ประกอบการเครื่องดื่มชูกำลังของไทยที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันประเทศต่างๆทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจและยอมรับเครื่องดื่มชูกำลังเพิ่มมากขึ้น ในฐานะเครื่องดื่มให้กำลังงานและเครื่องดื่มของคนรุ่นใหม่ตามสถานบันเทิงต่างๆ จนส่งผลให้ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของโลกมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ3ต่อปี

ทั้งนี้ปัจจุบันตลาดโลกมีมูลค่าการนำเข้าเครื่องดื่มชูกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยจากมูลค่าการนำเข้า 2,354.8ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ4ในปี 2546 เพิ่มขึ้นมาเป็น 2,810.3ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2547 และ 3,000ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 โดยประเทศผู้นำเข้าเครื่องดื่มชูกำลังที่สำคัญของโลกส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สหรัฐฯ และสเปน

สำหรับประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกเครื่องดื่มชูกำลังอันดับ 9 ของโลกและอันดับ 1 ในเอเชียคิดเป็นมูลค่าส่งออก 98 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังมีโอกาสที่จะขยายส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการที่เอื้อต่อการส่งออก ไม่ว่าจะเป็น ชื่อเสียงทางด้านการผลิตเครื่องดื่มชูกำลังที่มีการพัฒนาคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง แต่เครื่องดื่มชูกำลังไทยก็ไม่ประมาทจีนไม่ได้ เพราะด้วยต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำ ทำให้จีนส่งออกเป็นอันดับที่ 11 ของโลกมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น