xs
xsm
sm
md
lg

เผยดัชนีเชื่อมั่นเศรษฐกิจของผู้บริโภค มิ.ย.ต่ำสุดในรอบ 50 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจเดือนมิถุนายน ต่ำที่สุดในรอบ 50 เดือน และเป็นการปรับลดลงทุกรายการของดัชนีที่มีการสำรวจ โดยปัจจัยที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นยังเป็นเรื่องสถานการณ์การเมืองในประเทศ ปัญหาราคาน้ำมัน และผลจากความเชื่อมั่นที่ลดลง ทำให้การตัดสินใจซื้อสินค้าคงทนของประชาชนลดลงอย่างชัดเจน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมลดลงจากเดือนพฤษภาคม โดยเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 75.2 ขณะที่เดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 75.5 ถือว่าต่ำสุดในรอบ 50 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2545 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 76.3 ขณะที่เดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 76.4 ต่ำสุดในรอบ 50 เดือนเช่นกัน ด้านดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 91.3 ขณะที่เดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 92.6

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมิถุนายนปรับตัวลดลงทุกรายการ แต่เป็นการลดลงเพียงเล็กน้อย เนื่องจากในช่วงเดือนมิถุนายนมีปัจจัยบวกหลายด้าน เช่น งานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมหกรรมฟุตบอลโลก 2006 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่าช่วงปกติ ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประกาศตัวเลขการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจไตรมาสแรกอยู่ที่ร้อยละ 6 รวมถึงการส่งออกเดือนพฤษภาคมที่ยังขยายตัวในระดับสูง และความกังวลเกี่ยวกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากเกินไปคลี่คลายลง ขณะที่รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายการเงินการคลัง เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนมิถุนายนปรับตัวลดลงไม่มาก

สำหรับปัจจัยลบที่กระทบต่อความเชื่อมั่น ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมิถุนายนลดลง เช่น สำนักงานอัยการสูงสุดเห็นชอบตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบ 5 พรรคการเมือง ซึ่งรวมถึงพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ปัญหาราคาน้ำมัน การปรับประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ ลดลงจากร้อยละ 4.5-5.5 เหลือร้อยละ 4.2-4.9 และ ธปท.มีการปรับอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์พี) ระยะ 14 วันอีกร้อยละ 0.25 โดยปรับจากร้อยละ 4.75 เป็นร้อยละ 5 และการปรับตัวลดลงของดัชนีหุ้น รวมทั้งความกังวลของผู้บริโภคถึงปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเกิดขึ้น และผู้บริโภคยังมีความวิตกต่อภาวะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

“อย่างไรก็ตาม คงต้องดูดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนกรกฎาคม เพราะเป็นช่วงที่ราคาขายปลีกน้ำมันทะลุ 30 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงความชัดเจนของสถานการณ์การเมือง โดยเฉพาะคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง และความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” นายธนวรรธน์ กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าวอีกว่า จากปัจจัยดังกล่าว ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังคาดการณ์ว่า การบริโภคจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ และหากสถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายไปในทางที่ดี ผู้บริโภคจะเริ่มจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้หรือต้นปี 2550 แต่จากความกังวลทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมัน การเมือง ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอยตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 และ 4 โดยรวมขณะนี้ต้องยอมรับว่าการลงทุนมีการชะลอตัวลง แต่ภาคการส่งออกยังเป็นตัวสำคัญที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจลดลงไม่มาก ทางศูนย์ฯ จึงคิดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.8-4.3 ในปีนี้

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า จากผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งการเมือง ราคาน้ำมัน ทำให้ผลการสำรวจภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคเดือนมิถุนายน โดยเฉพาะการซื้อรถยนต์คันใหม่ในปัจจุบัน เห็นว่าไม่เหมาะสมอย่างมากถึงร้อยละ 94.5 ขณะที่การซื้อบ้านหลังใหม่ไม่เหมาะสมถึงร้อยละ 39.6 ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในปัจจุบันไม่เหมาะสมถึงร้อยละ 61.9 การลงทุนทำธุรกิจเอสเอ็มอีในปัจจุบันไม่เหมาะสมถึงร้อยละ 42.4 ซึ่งแน่นอนที่สุด ผลกระทบดังกล่าวในกลุ่มสินค้าประเภทคงทน ทั้งบ้าน รถยนต์ ผู้บริโภคจะมีการชะลอตัวลง แต่ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคยังมีอัตราการเติบโตและการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการชุมนุมนั้น นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ทางศูนย์ฯ มองว่าคงไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนและบริโภคมากนัก เพราะเศรษฐกิจของประเทศมีการชะลอตัวลงไปมากแล้ว แต่สิ่งที่กระทบในอนาคตคือการท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างประเทศ และเชื่อว่าผลกระทบดังกล่าวจะเห็นเป็นรูปธรรมในช่วงครึ่งแรกของปี 2550
กำลังโหลดความคิดเห็น