"สมคิด"เดินหน้าเจรจากับภาครัฐและเอกชนของสหรัฐ ให้ทบทวนสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย หวั่นถูกตัดสิทธิไปให้ประเทศอื่น เชื่อมั่นมีแนวโน้มดี เพราะต้องการให้ไทย-สหรัฐ ทำความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน เหมือนกับประเทศต่าง ๆ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พร้อมคณะภาครัฐและเอกชน เดินทางเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อหารือกับนาย Carlos M.Gutierrez รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า ของสหรัฐ รวมทั้งการหารือกับ นาง Susan C.Schwab ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐ (USTR) เพื่อต้องการให้หน่วยงานภาครัฐทั้งสองหน่วยงานเริ่มทบทวนเรื่องสิทธิพิเศษทางศุลกากร หรือจีเอสพี สำหรับสินค้าไทยหลายรายการที่จะครบกำหนดการให้สิทธิภายในสิ้นปีนี้ พร้อมกับการให้สิทธิกับประเทศต่าง ๆ ดังนั้น ไทยจึงต้องเร่งมาเจรจาและพบปะอย่างหารือกันต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เพราะสินค้าที่จะครบกำหนดการให้สิทธิจีเอสพี เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องรับโทรทัศน์ พลาสติกบรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยาง ซึ่งเป็นมูลค่าการค้าที่ได้รับสิทธิประมาณ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากสหรัฐถือเอาตัวเลขการพัฒนาด้านศักยภาพของไทยมาวัดการตัดสินใจ เรื่องการให้สิทธิจีเอสพี ก็มีโอกาสถูกตัดหลายตัว ซึ่งต้องการชี้ให้เขาเห็นว่า แม้ไทยจะพัฒนาหลายด้านเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีประชาชนยากจน และมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลางสำหรับประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งต้องการชี้ให้เห็นว่าการเจรจาเรื่องจีเอสพีไม่ใช่อยู่บนเงื่อนไขการเจรจาเอฟทีเอ จึงต้องการให้หน่วยงานรัฐช่วยดูแลเรื่องดังกล่าวเป็นพิเศษ นับว่าการหารือก็มีแนวโน้มที่ดีจากทั้งสองฝ่าย คือผู้แทนการค้าและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ
นอกจากนี้รัฐบาลไทยต้องการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนกับสหรัฐให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เพราะในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา ไทยจะให้ความสนใจการค้า การลงทุนกับประเทศ จีน ญี่ปุ่นค่อนข้างมาก แต่การค้าการลงทุนกับสหรัฐก็ยังมีมูลค่าเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่น มูลค่าถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นจึงต้องการกระชับความสัมพันธ์ ให้เป็นแบบพันธมิตรการค้า การลงทุน การศึกษาเทคโนโลยี เหมือนกับที่ไทยได้ลงนามกับฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมัน และหากไม่เร่งเจรจาก็จะถูกเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ดึงการค้าการลงทุนไปก่อน เพราะไทยต้องการให้สหรัฐเข้ามามีบทบาทในการอาเซียนมากขึ้นพร้อมกับจีนและญี่ปุ่น