xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดสินค้า"ผู้สูงวัย"บูม กำลังซื้อสูงเน้นคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การทำตลาดสินค้าในแต่ละกลุ่มเป้าหมายนั้น ย่อมมีความแตกต่างกัน เนื่องจากพฤติกรรม ความต้องการและแนวโน้ม ของแต่ละกลุ่มย่อมไม่เหมือนกัน มีวิถีทางของสินค้าชัดเจน ในส่วนของกลุ่มผู้สูงวัยนั้น ก็เป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีความน่าสนใจเหมือนกัน ไม่แพ้ตลาดเด็กอ่อน เนื่องจากเป็นฐานที่ใหญ่ และมีกำลังซื้อค่อนข้างแน่นอน

นายอภิชัย ฟูตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดผู้สูงวัย จาก รีดเดอร์ไดเจ็ทส์ กล่าวถึงสถานการณ์ของกำลังซื้อ,ทัศนคติในการซื้อสินค้าของกลุ่มผู้สูงวัยในปัจจุบันนี้ว่า "ปัจจุบัน คนที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป มีจำนวนคนถึง 14 ล้านคน (เท่ากับ 20% ของประชากร) แต่เชื่อหรือไม่ว่า คนกลุ่มนี้ มีพละกำลังซื้อมากกว่า วัย 30 ปี ถึง 3 เท่า

ดังนั้น สิ่งที่ชี้ถึงกำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ก็คือ
- คนอายุ 50 - 60 ปี เป็นช่วงศักยภาพสูงสุดของสถานภาพการทำงาน เนื่องจากมีทั้งตำแหน่ง ,อำนาจ,รายได้

- มีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพจากลูกจ้าง เป็นเกษียน หรือ เป็นเจ้าของกิจการขนาดย่อย / ขนาดกลาง

- มีเงินเหลือใช้มากขึ้น เนื่องจาก ลูกโต , ครอบครัวเดี่ยว หรือ เป็นหม้าย หรือหย่าร้าง , มีบ้านที่อยู่ของตนเอง

ส่วนในด้านของทัศนคติในการใช้เงิน ก็คือจะเน้นใช้ไปในเรื่องของ การสันทนาการ / การดูแลตนเอง (ท่องเที่ยว, สปา,สุขภาพ) แทนภาระดูแลผู้อื่น การเลือกใช้ เลือกซื้อสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ สินค้าแบรนด์เนม เริ่มมองดูอนาคตที่ต้องรับผิดชอบตนเองมากขึ้น แทนที่จะต้องพึ่งพาลูกหลาน โดยสิ่งที่สนใจ ก็จะเป็นพวกกลุ่มบริการ ประกันชีวิต สุขภาพ ที่พักยามชรา เตรียมตัวให้กับตัวเองเมื่อเสียชีวิต ซึ่งเมื่อสินค้าใดๆ ที่ต้องการจะติดต่อหรือเข้าไปอยู่ในใจคนกลุ่ม 50 ปีขึ้นไป จึงมิได้เป็นการติดต่อด้วย Mass Communications เหมือนคนที่มีวุฒิภาวะอ่อนกว่า หรือมี สภาพจิตวิทยาตามกลุ่ม เช่นคน 25-40 ปี แต่จะต้องมีการจัดกลุ่ม (Segment) ที่ชัดเจน มีข้อมูลที่หนักแน่น และน่าเชื่อถือ เน้นที่คุณภาพ ความสะดวก และรสนิยมที่ดี เป็นหลัก

นายแพทย์ธานินทร์ สนธิรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงวัย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ว่า "ในปัจจุบันผลพวงประการหนึ่งของความสำเร็จในการพัฒนาคือการที่ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น (Population Aging) หรือการที่กลุ่มประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและสัดส่วนต่อประชากรทั้งหมด ยิ่งการพัฒนาประสบความสำเร็จมากเท่าไร ปรากฏการณ์นี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น และหากวิเคราะห์เฉพาะในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุแล้ว ยังพบอีกด้วยว่า กลุ่มผู้ที่มีอายุยิ่งมาก ยิ่งเพิ่มเร็ว มีการประมาณกันว่าใน

ขณะที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นปีละ 1% ประชากรกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในอัตราปีละ 6% และแทบไม่น่าเชื่อว่ากลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 100 ปี ขึ้นไป มีอัตราเพิ่มสูงถึง 8% ต่อปี ปรากฏการณ์นี้เด่นชัดขึ้นเมื่อประเทศนั้นมีการพัฒนาไปไกลขึ้น และการที่คนเราจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องมีผู้อภิบาลดูแลเป็นประจำ มีการคาดการณ์ได้ว่าเมื่อประชากรไทยมีอายุยืนยาวมากกว่านี้อีก จะมีผู้สูงอายุที่อยู่ใน "ภาวะพิการ" และ "ภาวะพึ่งพา" เพิ่มมากขึ้นไปอีกในอัตราและสัดส่วนที่สูงกว่าอัตราการดำเนินไปของปรากฏการณ์ Population Aging ของประเทศ หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าประเทศที่พัฒนาไปได้ไกลกว่าไทยอย่างอังกฤษหรือฝรั่งเศสซึ่งอาจนำมาใช้แสดงภาพของไทยในอนาคตได้ ยังไม่เกิดปัญหาเรื่องนี้มากมายอะไรนัก จึงได้เพิกเฉยและไม่ให้น้ำหนักความสำคัญเท่าที่ควร

ความเข้าใจผิดนี้นำไปสู่ความประมาทซึ่งท้าทายต่อหายนะใหญ่หลวงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในไม่ช้านี้ เพราะนอกจากประเทศไทยจะไม่มีพื้นฐานที่มั่นคงและร่ำรวยเหมือนอังกฤษและฝรั่งเศสแล้ว การเข้าสู่สภาวะ Aged Population หรือการที่สัดส่วนของกลุ่มประชากรผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด มีอัตราเร็วและลักษณะที่แตกต่างไป

โดยในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสใช้เวลานานถึง 107 ปี (พ.ศ. 2378 - 2485) และ 120 ปี (พ.ศ. 2375 - 2495) ตามลำดับ ในการเพิ่มสัดส่วนกลุ่มประชากรผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดจาก 7% ไปเป็น 14% ประเทศไทยจะใช้เวลาเพียง 30 ปี (พ.ศ. 2530 - 2560) ในการเพิ่มสัดส่วนเดียวกันนี้ และสิ่งสำคัญกว่าอัตราเร็วขึ้นไปอีกก็คือลักษณะของความเจริญที่มาจากการพัฒนาประเทศ

ดังนั้นปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ทำให้มีการจัดงาน "มหกรรมพร้อมทุกสิ่งเพื่อผู้สูงวัย Smart & Happy 50 up" ในช่วงระหว่างวันที่ 9-13 สิงหาคม 2549 บนพื้นที่ 5,000 กว่าตร.ม. ณ อาคาร 4 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

นางสาวศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการจัดงาน กล่าวว่า งานนี้เป็นงานมหกรรมที่พร้อมด้วยสินค้า การบริการ การจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ การสัมมนาวิชาการและการฝึกอบรมสำหรับพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ วัยเกษียณ วัยก่อนเกษียณ และบุคคลอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นโครงการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และจะมีการจัดกิจกรรมพิเศษในวันที่ 12 สิงหาคม 2549

สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้ร่วมชมงานคือ กลุ่มสมาคมชมรมผู้สูงวัย ประชาชนทั่วไป รวมทั้งชาววัยก่อนเกษียณ และวัยเกษียณที่จะมาร่วม คาดว่าตลอด 5 วันจะมีคนมาร่วมงานกว่า 50,000 คน เพื่อร่วมกิจกรรมต่างๆ ภายในงานและชมงาน โดยคาดว่าจะมียอดเงินสะพัดทั้งหมดภายในงาน ประมาณ 100 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น