xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-จีน-พม่าจับมือสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัจจี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทย-จีน-พม่า ลงนามเอ็มโอยูจับมือสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัจจี มูลค่า 4,000 ล้านเหรียญ โดย กฟผ. และบริษัทในเครือ ลงทุนร้อยละ 50 ชิโนไฮโดรของจีนลงทุนร้อยละ 40 และพม่าลงทุนร้อยละ 10 คาดจะเริ่มผลิต 1,000-2,000 เมกะวัตต์ ในปี 2556 คาดประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้าและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ประหยัดได้ถึง 28,000 ล้านบาท/ปี

นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามข้อตกลงเบื้องต้น ( MOU) ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำฮัจจี ประเทศพม่า ระหว่าง นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ MR. Huang Baodong ประธาน SINOHYDRO CORPORATION ของจีน โดยความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของสองรัฐบาล ในการสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจของทั้งสองประเทศเข้าไปพัฒนาและลงทุนนอกประเทศ และความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำฮัจจีครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จของ 3 ประเทศร่วมกัน คือ ไทย จีน และพม่า ในการร่วมพัฒนาเขื่อนอเนกประสงค์ฮัจจีอย่างยั่งยืน คือ นอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังมุ่งหวังในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่โดยเฉพาะประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ทั้งฝั่งไทยและเพื่อนบ้านให้ดีขึ้น ซึ่งการดำเนินการต่อไปนั้น กฟผ. SINOHYDRO และกระทรวงไฟฟ้า 1 ของพม่า จะร่วมกันศึกษาความเหมาะสมและออกแบบ โดยจะครอบคลุมผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณโครงการเพื่อสร้างอาชีพให้กับประชาชน

นายไกรสีห์ กล่าวว่า โครงการฮัจจีเป็นหนึ่งในโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าลุ่มน้ำสาละวิน หลังจากนี้จะศึกษาก่อสร้างร่วมกัน คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างในปี 2550-2551 และสร้างเสร็จส่งกระแสไฟฟ้ามาขายให้กับประเทศไทยได้ในปี 2556 จากการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 1,000-1,200 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นคงด้านไฟฟ้าและช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า (FT) ให้กับไทยเป็นอย่างมาก คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ประหยัดได้ถึง 28,000 ล้านบาท/ปี เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้า

นายไกรสีห์ กล่าวว่า เม็ดเงินก่อสร้างโรงไฟฟ้าฮัจจี คาดว่าจะมีมูลค่าก่อสร้างประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 160,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนลงทุนในร้อยละ 50 กฟผ.และบริษัทในเครือจะลงทุนร่วมกัน ในขณะที่ร้อยละ 40 ถือหุ้นโดย SINOHYDRO และร้อยละ 10 ถือหุ้นโดยพม่า ซึ่งโครงการนี้นับว่าเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ และลดต้นทุนค่าไฟฟ้าของไทย จึงคาดว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการกู้เงินเพื่อลงทุนของ กฟผ.ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น