xs
xsm
sm
md
lg

การสร้างคุณค่าให้ยั่งยืน(1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อสินค้าติดตลาด เติบโต จนถึงจุดที่มีความมั่นคงในตลาด ยอดขายเริ่มคงที่ หรือเติบโตเพียงเล็กน้อย สินค้าก็จะเข้าสู่ช่วงที่เรียกว่า Maturity คือโตเต็มที่จนเกือบจะไม่โตอีกแล้ว สินค้าที่อยู่ในช่วงนี้ถ้าหากไม่มียุทธวิธีในการให้คุณประโยชน์กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะทำให้สินค้าเข้าสู่ช่วงของความเสื่อมได้ ดังนั้นนักการตลาดจะต้องมองหายุทธวิธีในการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับ Brand เพื่อให้ย่างเข้าสู่ช่วงของการธำรงความยั่งยืน (Retention) ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ป้องกันไม่ให้ Brand ย่างเข้าสู่ช่วงความเสื่อม (Decline) ซึ่งการจะธำรงความยั่งยืนนั้น มีแนวทางที่จะทำได้หลากหลายวิธี

  • ต้องรักษาระดับของคุณภาพให้คงเส้นคงวา และหมั่นปรับปรุงคุณภาพให้ทันตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงไป อย่าปล่อยให้ผู้ท้าชิงตามทัน อย่าปล่อยให้ระดับของความแตกต่างเจือจางลง ต้องรักษาระดับความแตกต่างให้เข้มข้นตลอดเวลา การจะรักษาคุณภาพของ Brand ให้มีความแตกต่างจากสินค้าอื่น นักการตลาดจะต้องทำงานร่วมกับนักวิจัยที่จะเรียนรู้และวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง เข้าใจความต้องการ ความปรารถนา ความทะเยอทะยานของผู้บริโภคเพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้สามารถตอบสนองผู้บริโภคให้ได้ตรงใจมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องทำงานร่วมกับฝ่ายวิจัยและพัฒนาอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะช่วยกันพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้เหนือคู่แข่งตลอดเวลา ต้องมีความเชื่อเรื่องนวัตกรรม พร้อมที่จะทำสิ่งใหม่ๆเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

  • ต้องเน้นเรื่องของการบริการและการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer relationship Management—CRM) เพื่อให้ลูกค้ามีความประทับใจและรู้สึกว่า Brand ดังกล่าวคือเพื่อนผู้รู้ใจที่พวกเขาพร้อมจะผูกสัมพันธ์ด้วยระยะยาว และพร้อมที่เป็นลูกค้าที่มีความภักดีตลอดไป ต้องทำการสร้างฐานข้อมูลของลูกค้า เพื่อเข้าใจลูกค้า และวางยุทธวิธีทางการตลาดให้สอดรับกับความต้องการ และความใฝ่ฝันของลูกค้าแต่ละกลุ่มให้ตรงใจพวกเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ให้ลูกค้ารู้สึกว่า Brand ดังกล่าวสามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้ดีที่สุดซึ่งจะทำให้พวกเขาวางใจที่จะผูกพันกับ Brand ตลอดไป ไม่คิดที่จะเปลี่ยนใจไปใช้สินค้าอื่น ทำให้ยอดขายและส่วนครองตลาดที่มีอยู่มีความมั่นคง

  • ต้องใช้การตลาดเชิงประสบการณ์ (Experiential Marketing) ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience Management—CEM) ที่จะทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่น่าประทับใจตลอดช่วงของห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุณค่าของ Brand ดังกล่าวเพิ่มขึ้นทุกจุดสัมผัส (Brand Contact Points) ใช้การดำเนินงานที่ไร้รอยตะเข็บ (Seamless Operation) ที่ไร้รอยสะดุด ไม่ว่าลูกค้าจะติดต่อกับใครในทุกช่วงของห่วงโซ่แห่งคุณค่า ก็จะได้รับประสบการณ์ที่ประทับใจ รู้สึกว่าคุณค่าของ Brand เพิ่มขึ้นตลอดช่วงของการทำธุรกรรม ให้ประสบการณ์ที่น่าประทับใจในทุกจุดสัมผัส ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น ผูกพันกับ Brand จนกลายเป็นลูกค้าที่ภักดีตลอดไป

  • สร้างภาพลักษณ์ของ Brand สร้างคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของ Brand (Brand Equity) ด้วยการทำกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง สื่อสารเรื่องราวของ Brand ด้วยการสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้เรื่องราวของ Brand ด้วยความชื่นชมตลอดเวลา ใช้หลักการของ Pride Marketing คือทำให้ลูกค้าภูมิใจที่ได้ใช้สินค้าภายใต้ Brand นั้นๆ ประกอบกับ Transformational Marketing คือทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเขากลายเป็นใครบางคนที่เหนือกว่าตัวจริงทุกครั้งที่ได้ใช้สินค้าภายใต้ Brand ดังกล่าว ในช่วงเวลาที่เราประสบความสำเร็จ สินค้าคู่แข่งมักจะเลียนแบบในด้านบวกของสินค้าและบริการ เพื่อที่จะทำให้ระดับความแตกต่างเจือจางลง ถ้านักการตลาดต้องการรักษาระดับของความแตกต่างเอาไว้ จำต้องลงทุนสร้าง Brand Equity คือคุณค่าอันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของ Brand สินค้านั้นอาจจะเลียนแบบกันได้ แต่ความเป็น Brand เลียนแบบกันไม่ได้ เพราะ Brand เป็นนามธรรม เป็นภาพ เป็นความโยงใย เป็นความผูกพันที่เกิดขึ้นในสมอง ในความรู้สึกของผู้บริโภค ดังนั้นการสร้างภาพลักษณ์ของ Brand อย่างต่อเนื่องด้วยการสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ ด้วยการจัดกิจกรรมการตลาดที่สามารถสร้างข่าวเกี่ยวกับ Brand ได้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นวิธีการรักษาส่วนครองตลาด และธำรงตำแหน่งทางการตลาดที่ยั่งยืน นักการตลาดที่ไม่มียุทธศาสตร์การสร้าง Brand ที่ดี ขาดการสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการที่ดี จะสูญเสียส่วนครองตลาดได้ง่าย หลังจากที่เข้าสู่ช่วงอิ่มตัวแล้วก็จะย่างเข้าสู่ช่วงความเสื่อมอย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้ามสินค้าที่มี Brand ที่แข็งแกร่ง จะรักษาส่วนครองตลาดไว้ได้ยั่งยืน เพราะลูกค้ามีความภักดีกับ Brand

    แม้ว่าการตลาดยามนี้ สินค้าและบริการต่างๆจะอายุสั้น เพราะมีคู่แข่งไล่ตามอย่างรวดเร็ว ด้วยการเลียนแบบบ้าง ด้วยการพัฒนาสินค้าให้ดีกว่า โดยให้มีการปรับปรุงจุดบกพร่องของสินค้าที่ออกมาก่อนบ้าง แต่นักการตลาดจะต้องสู้กับแนวโน้มดังกล่าว การสร้างความภักดีให้เกิดขึ้นกับ Brand อย่างต่อเนื่อง จะทำให้นักการตลาดสามารถสวนกระแสอายุสั้นของสินค้าที่แข่งขันกันในปัจจุบัน


  • รศ.ดร. เสรี วงษ์มณฑา
    กำลังโหลดความคิดเห็น