xs
xsm
sm
md
lg

ก.พาณิชย์มั่นใจส่งออกได้ตามเป้า แม้น้ำมัน-อัตราแลกเปลี่ยนกระทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัดพาณิชย์ยืนยันผลกระทบจากน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้าต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคมถึงกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ย้ำหากเทียบกับปีที่ผ่านมาถือว่าขาดดุลลดลง มั่นใจแม้จะมีผลกระทบดังกล่าวแต่ยอดการส่งออกทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมายได้แน่นอน

นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศในช่วงเดือนพฤษภาคม 2549 ว่าการส่งออกมีมูลค่า 10,835.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 18.8 โดยเป็นการส่งออกที่เพิ่มขึ้นของสินค้าในทุกหมวด โดยเฉพาะการส่งออกกุ้งไปสหรัฐที่ขยายตัวถึงร้อยละ 44.2 ส่วนการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม มีมูลค่า 49,601.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 โดยเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในสินค้าหมวดเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรถึงร้อยละ 14 และอุตสาหกรรม ร้อยละ 14.6

ขณะที่การนำเข้าในช่วงเดือนพฤษภาคมมีมูลค่า 11,481.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 โดยเป็นการนำเข้าของน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงร้อยละ 2.5 แต่กลับนำเข้าทองคำถึง 16.5 ตัน มูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 195.1 สำหรับการนำเข้าในช่วง 5 เดือนแรกของปี มีมูลค่า 51,203.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพียงร้อยละ 5.4 โดยยังคงเป็นการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงสินค้าอาวุธยุทธปัจจัยและสินค้าอื่น ๆ ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนพฤษภาคม 2549 ไทยขาดดุลการค้าลดลงถึงร้อยละ 61.3 คิดเป็นมูลค่า 646.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ดุลการค้าในระยะ 5 เดือนแรกของปี ไทยขาดดุลการค้ารวม 1,601.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 73.4

“ต้องถือว่าถึงแม้ไทยจะขาดดุลการค้าต่อเนื่องมาหลายเดือน แต่เป็นการขาดดุลการค้าเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 300-600 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขาดดุลการค้าเฉลี่ยต่อเนื่องเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น จึงเชื่อว่าการขาดดุลการค้าระดับดังกล่าวเป็นสิ่งที่รับได้และไม่ใช่ตัวเลขขาดดุลการค้าสูงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแต่อย่างใด” นายการุณ กล่าว

นางจันทรา บูรณฤกษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า การส่งออกที่ขยายตัวถึงร้อยละ 18.8 ในเดือนพฤษภาคมเป็นผลมาจากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้เข้าไปขยายตลาด โดยเฉพาะในตลาดใหม่อย่างต่อเนื่องส่งผลให้ตลาดเกาหลีมีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 51.1 ตลาดไต้หวันร้อยละ 46 ตะวันออกกลางร้อยละ 46.3 ทำให้การส่งออกในครึ่งปีแรกขยายตัวได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ร้อยละ 16.5 แต่จากการหารือกับผู้ส่งออกในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ กว่าร้อยละ 80 ยืนยันว่าการส่งออกปีนี้จะใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ประเมินไว้ว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15–17.5 มีเพียงร้อยละ 20 ที่เห็นว่าการส่งออกบางสินค้าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ได้แก่ ข้าว เนื่องจากผลผลิตข้าวภายในประเทศประสบปัญหาภัยธรรมชาติ แต่ด้านราคายังสูงอยู่ รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ที่ขาดวัตถุดิบไม้ยางพาราที่ต้องนำเข้าบางส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ เนื่องจากโทรทัศน์จากจีนมีราคาต่ำกว่า แต่ยังยืนยันว่าจากการประเมินและดูตัวเลขการส่งออกย้อนหลังในช่วงเดือนมิถุนายน 2548 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่การส่งออกขยายตัวได้ดี ดังนั้น จึงเชื่อว่าในการส่งออกเดือนมิถุนายนนี้มีแนวโน้มที่สูงขึ้นต่อเนื่องด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่เป็นห่วงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ราคาน้ำมันที่ทะยานตัวและปัญหานิวเคลียร์ในอิหร่านจะทำให้เศรษฐกิจโลกประสบปัญหาบ้าง แต่จากความร่วมมือทำตลาดน่าจะทำให้ตัวเลขการส่งออกทั้งปีน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายได้

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า แนวโน้มการนำเข้าโดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันดิบชะลอตัวลง เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลมีมาตรการประหยัดพลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน แต่สิ่งที่กรมการค้าต่างประเทศจะต้องติดตามคือกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่นำเข้ามากผิดปกติ เช่น รองเท้า เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเท่าที่คำนวณกลุ่มสินค้านำเข้าดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 ของการนำเข้าโดยรวม จึงไม่น่าหวั่นวิตก แต่จะติดตามอย่างใกล้ชิดและประเมินว่าจากตัวเลขการขาดดุลการค้าเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 300-600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นตัวเลขที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับเมื่อช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดังนั้น ประเมินว่าการขาดดุลทั้งปีจะอยู่ที่ 3,000–4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขาดดุลทั้งปีที่ 6,000-7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น