xs
xsm
sm
md
lg

คลังจับมือเอดีบีศึกษามาตรการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ศึกษาแนวทางจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม จากผู้ทำให้เกิดขยะ มลภาวะ น้ำเสีย เพื่อเสนอต่อรัฐบาลใหม่พิจารณา เตรียมเริ่มดำเนินการออกพื้นที่เดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม

นายสมชัย สัจจพงษ์ โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เริ่มศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมไปแล้วในช่วงที่ 1 โดยได้วางกรอบโครงสร้างเบื้องต้นในการจัดเก็บภาษีไปแล้ว ส่วนในช่วงที่ 2 ทาง สศค. จะร่วมกับเอดีบี ศึกษาเพิ่มเติมอีกในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ด้วยการออกพื้นที่ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อสรุปอัตราการจัดเก็บภาษีให้ได้อัตราส่วนที่เหมาะสม และจะดูว่าควรจัดเก็บภาษีเกี่ยวกับอะไรบ้าง เช่น ภาษีเกี่ยวกับการทำให้เกิดน้ำเสีย การทำให้เกิดมลภาวะต่าง ๆ ภาษีจากขยะของภาคอุตสหากรรม นอกจากนี้ ต้องพิจารณาว่า หน่วยงานใดต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ และมีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคาดว่าจะสามารถสรุปแนวทางการศึกษาได้ในต้นปีหน้า เพื่อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา เพราะการรักษาสิ่งแวดล้อมและมลภาวะที่เกิดจากการทำลายจากมนุษย์ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาษีสิ่งแวดล้อม (environmental taxes) ได้มีการวางกรอบไว้เบื้องต้นแล้ว เพื่อจัดเก็บภาษีจากกิจกรรมที่เป็นพิษภัยต่อสภาพสิ่งแวดล้อม เช่น จากมลพิษอุตสาหกรรม จากของเสียหรือของเหลือใช้ในครัวเรือน เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของโรงงานหรือผู้บริโภค และประชาชนทั่วไป ให้ความสำคัญในการรีไซเคิลของเหลือใช้จากบ้านเรือนนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดปัญหาขยะ ลดการใช้สารอันตราย ซึ่งภาษีสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งมาตรการทางการคลังที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาทางสังคม เพราะปัจจุบันกิจกรรมของผู้บริโภคได้ก่อให้เกิดขยะที่เป็นพิษภัยต่อสิ่งแวดล้อม เช่น หลอดไฟนีออน หลอดภาพโทรทัศน์ แบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งอาจมีแนวทางในการรับซื้อซากคืนโดยจ่ายเงินซื้อขยะอุตสาหกรรม โดยมีเครือข่ายร้านรับซื้อคืนกระจายอยู่ทุกจังหวัด หรือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ (product charges) หน้าโรงงาน เหมือนกับภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากโรงงานสุรา โรงงานบุหรี่ เพื่อนำเงินที่ได้นำมาเข้ากองทุนรับซื้อคืน เพื่อให้ปัญหาขยะน้อยลง
กำลังโหลดความคิดเห็น