xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟไม่ให้สัมปทานแอร์พอร์ตลิงก์ เร่งศึกษาเดินรถเองแก้ปัญหาตั๋วร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ฟ.ท.กลับลำบริหารการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์เอง บอร์ดมีมติให้เร่งศึกษารูปแบบและแหล่งเงินลงทุน เผยให้สัมปทานเอกชนมีปัญหาเรื่องตั๋วร่วมและการกำหนดอัตราค่าโดยสาร "พงษ์ศักดิ์"ทำเองไม่ถูกครหาเอื้อเอกชนกรณีให้งบอุดหนุนส่วนต่างค่าโดยสาร

นายนายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.เมื่อปลายเดือนเม.ย. 2549 ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติให้ร.ฟ.ท.เป็นผู้บริหารการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ต ลิ้งก์) เองจากเดิมที่จะให้เอกชนเข้ามารับสัมปทาน โดยให้ร.ฟ.ท.เร่งศึกษารายละเอียดรูปแบบของการบริหารการเดินรถเอง

ทั้งนี้ ตามแผนจะต้องมีการศึกษาถึงข้อดีข้อเสียของการบริหารแต่ละรูปแบบ ซึ่งเห็นว่าสามารถทำได้หลายแนวทาง เช่น การที่ ร.ฟ.ท.ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาทำเอง หรือการว่าจ้างเอกชนเข้ามารับผิดชอบเดินรถ นอกจากนี้ จะต้องมีแผนเรื่องการจัดหาเงินลงทุนด้วยว่าจะใช้จากแหล่งใด ซึ่ง ร.ฟ.ท.มีที่ดินจำนวนมากสามารถ นำมาหารายได้เพื่อนำมาใช้ในการลงทุนส่วนนี้ก็ได้

โดยสาเหตุที่บอร์ดเห็นว่า ร.ฟ.ท. ควรเป็นผู้บริหารการเดินรถเองนั้น เนื่องจากจะเกิดปัญหาน้อยที่สุด และรัฐสามารถเข้ามาบริหารจัดการในเรื่องของการเชื่อมต่อเส้นทาง ระบบตั๋วร่วม และกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมได้ง่ายกว่าการให้สัมปทานเอกชน ส่วนรูปแบบนั้น ร.ฟ.ท.จะต้องเร่งสรุปเสนอบอร์ดโดยเร็วที่สุด

"จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การให้สัมปทานเอกชนในหลายโครงการทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน ที่ให้บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเอ็มซีแอล รับสัมปทานเดินรถ มีปัญหาในหลายเรื่อง เพราะเอกชนจะบริหารภายใต้เงื่อนไขในสัญญาสัมปทานที่ได้รับ การปรับเปลี่ยนเพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์และนโยบายในขณะนั้นทำได้ง่าย จะเห็นได้ว่า ทั้งบีทีเอสและบีเอ็มซีแอลรัฐก็ต้องการซื้อหุ้นคืนมาทำเอง แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่"

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การที่ร.ฟ.ท.เป็นผู้บริหารการเดินรถโครงการแอร์พอร์ตลิงก์เองเป็นเรื่องที่ดีกว่าการให้สัมปทานเอกชนแน่นอน โดยให้ศึกษารูปแบบที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งตนเห็นว่า นอกจากจะทำให้การทำระบบตั๋วร่วมและการควบคุมค่าโดยสารทำได้ง่ายแล้ว ยังสามารถถ่ายโอนพนักงานรถไฟจำนวนหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถไปทำงานในส่วนนั้นได้ ซึ่งจะช่วยลดพนักงานของรถไฟลงได้อีกทางหนึ่ง

"หากโครงการนี้ให้เอกชนรับสัมปทานไป ในอนาคตรัฐจะคุมค่าโดยสารโดยใช้งบประมาณเข้าไปสนับสนุนก็จะเกิดข้อครหาว่าเอาเงินไปให้เอกชนได้ประโยชน์ แต่ถ้ารถไฟทำเอง รัฐเอางบไปหนุนก็ไม่ต้องถูกครหา"นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น