xs
xsm
sm
md
lg

“ณพ ณรงค์เดช” แห่งเคพีเอ็นมิวสิค ต่อยอดโรงเรียนดนตรีสู่ธุรกิจครบวงจร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คงเป็นที่ยอมรับกันดีว่า สถาบันดนตรีเคพีเอ็นมิวสิคเป็นแบรนด์ของคนไทยที่อยู่ในแถวหน้าของธุรกิจโรงเรียนสอนดนตรี หลังจากที่ก่อตั้งมาได้เพียง 5 ปี ก็ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก ทั้งหลักสูตร การจัดการ แบรนด์

เคพีเอ็นมิวสิคอยู่ภายใต้การบริหารงานของ นายณพ ณรงค์เดช 1 ใน 3 ทายาทหนุ่มของ นายเกษมและคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ผู้ก่อตั้ง การแข่งขันการประกวดร้องเพลงมานานตั้งแต่ นิสสันอวอร์ด ซูบารุอวอร์ด จนถึงเคพีเอ็นอวอร์ด หรือการประกวดร้องเพลงถ้วยพระราชทานฯ ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย (KPN AWARD) และการประกวดร้องเพลงยุวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ (KPN JUNIOR AWARD) และการประกวดวงดนตรี ชิงถ้วยพระราชทานฯ (KPN THAILAND COMPETITION)

ช่วง 5 ปีที่ ณพ เข้ามาบริหารสถาบันแห่งนี้ ปัจจุบันตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ได้มีการลองผิดลองถูกและพัฒนาธุรกิจมาตามแนวทางของบริษัทฯที่วางไว้ จนกระทั่งทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยและเติบโตไปได้ดี

“ผมเชื่อว่าธุรกิจดนตรีในไทยยังมีโอกาส และช่องว่างในการขยายตัวได้อีกมาก จากปัจจุบันคนที่อยู่ในระบบการศึกษามีจำนวนกว่า 10 ล้านคน แต่มีคนที่อยู่ในระบบการเรียนดนตรีรวมประมาณ 500,000 คน ขณะเดียวกันในปัจจุบันผู้ปกครองมีการสนับสนุนให้บุตรหลานหันมาพัฒนาตัวเองในด้านดนตรีมากขึ้นประกอบกับภาพลักษณ์ของอาชีพด้านดนตรีก็เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ทางสถาบันฯมุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ของตัวเองให้มีความชัดเจนในด้านของคุณภาพและความเป็นสถาบันดนตรีสำหรับคนรุ่นใหม่ พร้อมทั้งยังมองดนตรีเป็นเรื่องของไลฟ์สไตส์ การวางหลักสูตรของสถาบันแห่งนี้จึงสะท้อนความเป็นไลฟ์สไตล์อย่างแท้จริง” ณพ กล่าวให้ฟัง

ที่ผ่านมาณพบริหารงานได้ดีไม่น้อย เช่น การขยายสาขาของเคพีเอ็นมิวสิคถึงวันนี้แล้วกว่า 30 สาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ ทั้งที่ช่วงแรกไม่คิดว่าจะขายแฟรนไชส์ด้วยซ้ำไป โดยมีสาขาของบริษัทฯเพียงแห่งเดียวที่ทองหล่อ และขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเรียนกว่า 20,000 คน และยังตั้งเป้าถึงสิ้นปีนี้จะมีสาขามากกว่า 40 แห่งด้วย

อีกทั้งทำเลขยายสาขาก็ถือว่ามีความแปลกกว่าคู่แข่งที่เน้นในศูนย์การค้าและดิสเคานท์สโตร์ สแตนด์อโลน ซึ่งเคพีเอ็นเองก็มีเหมือนกัน แต่ที่แปลกเช่น การขยายเข้าไปในหมู่บ้านจัดสรร ด้วยการซื้อบ้านแล้วนำมาดัดแปลงเป็นโรงเรียนสอนดนตรี

เท่านั้นยังไม่พอ ณพ เองยังมีแนวคิดที่ต้องการจะขยายธุรกิจดนตรีให้ครบวงจร หลังจากที่ขณะนี้มี 3 ธุรกิจหลักแล้ว คือ 1.โรงเรียนสอนดนตรีเคพีเอ็นมิวสิค 2.บริษัท ดูดูน้อง จำกัด ทำหน้าที่บริหารศิลปินหรือนักร้อง ซึ่งทำมานานแล้วโดยเอาผู้ที่ชนะการประกวดรวมทั้งผู้ที่ไม่ได้ชนะจากรางวัลที่บริษัทฯตั้งขึ้นมาเข้ามาทำสัญญาเพื่อจัดการในเชิงธุรกิจให้กว่า 300 สัญญาแล้ว

3.ค่ายเพลง อันนี้เองที่ณพ บอกว่า มีแผนที่จะตั้งให้ได้ เพราะเชื่อมั่น่ในคุณภาพของศิลปินที่ผลิตขึ้นมาจากบริษัทฯ แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้ทำออกมาในนามของเคพีเอ็น เป็นแต่เพียง ผู้ที่เข้าแข่งขันกับเคพีเอ็นอวอร์ด ไปเติบโตอยู่ตามค่ายเพลงต่างๆ เช่น เบิร์ด-ธงไย, อุ้ย-ระวิวรรณ จินดา, ฟอร์ด, อู๋, ทาทายัง เป็นต้น ซึ่งทุกคนล้วนผ่านเวทีประกวดของบริษัทฯมาทั้งสิ้น จึงเชื่อมั่นว่า บริษัทฯมีศักยภาพพอที่จะปั้นศิลปินให้กับค่ายตัวเองได้บ้าง

นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่ณพ ต้องการให้เกิดขึ้นอีก คือ การตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องดนตรีต่างๆของต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้นำเข้ามาจำหน่ายในสถาบันเคพีเอ็นมิวสิค สาเหตุหนึ่งที่จะแยกบริษัทเพื่อต้องการไม่ให้เกิดการทับซ้อนกับธุรกิจสอนดนตรี

โดยรายได้จากการขายเครื่องดนตรีที่ผ่านมามีเพียงแค่ 6.7% เท่านั้นเอง จากรายได้รวมปีที่แล้วกว่า 300 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 30% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์นี้มาโดยตลอด และปีนี้ยังตั้งงบการตลาดไว้ 60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เพื่อรุกตลาดเต็มที่

วันนี้ ณพ พร้อมแล้ว ที่จะสร้างสิ่งที่หวังไว้ให้เกิดขึ้น เพื่อการผลักดันให้ เคพีเอ็นมิวสิค สู่ธุรกิจดนตรีแบบครบวงจร
กำลังโหลดความคิดเห็น