xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวร้อยละ 5 ชี้ 3ปัจจัยฉุดความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนาคารโลกประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวร้อยละ 5 โดยมีแรงผลักดันจากภาคการส่งออก ขณะที่การลงทุนและการบริโภคจะชะลอตัวต่อเนื่อง เพราะความมั่นใจผู้บริโภคลดลงจากราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย และความไม่แน่นอนทางการเมือง

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก เปิดเผยรายงาน “ตามติดเศรษฐกิจไทย ฉบับที่ 1 ปี 2549” ว่า ธนาคารโลก คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวร้อยละ 5 ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว ที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 เนื่องจากภาคการส่งออกขยายตัวสูง โดยการส่งออกสุทธิขยายตัวร้อยละ 7.4 ขณะที่การนำเข้าชะลอตัวลง เนื่องจากการลงทุนทั้งภาคเอกชน และ ภาครัฐชะลอตัวลง โดยคาดว่าการบริโภคภาคครัวเรือน และการลงทุนในประเทศ จะขยายตัวลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง โดยการบริโภคภาคเอกชนเติบโตลดลงจากร้อยละ 4.4 ในปี 2548 เหลือร้อยละ 4 โดยความต้องการสินค้าคงทนลดลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ลดลงจากร้อยละ 11 เหลือร้อยละ 9.5 เนื่องจากราคาน้ำมันยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่าราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 25 ทำให้ผู้ประกอบการต้องลดต้นทุนการผลิต ส่งผลให้อัตราการเติบโตของการผลิตขยายตัวร้อยละ 5.5

ส่วนอัตราการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะลดลงเป็นร้อยละ 6.5 แทนที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากความล่าช้าในการเริ่มต้นโครงการเมกะโปรเจกต์ ซึ่งธนาคารโลกประเมินว่า เม็ดเงินลงทุนเมกะโปรเจกต์ ปีนี้จะเหลือเพียง 145,000 ล้านบาท จากงบรวมทั้ง 290,000 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนร้อยละ 3.5 ของการลงทุนภาครัฐทั้งหมด ประกอบกับมีความล่าช้าในการยื่นและอนุมัติโครงการสำหรับระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และความล่าช้าในการขออนุมัติงบประมาณจากรัฐสภาสำหรับปีงบประมาณหน้า เพราะจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลและเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกประเมินว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยปีนี้จะลดลง เหลือขาดดุลประมาณร้อยละ 1.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรือคิดเป็นมูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนดุลการค้า จะขาดดุล 8.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 15 เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักของไทย คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อยู่ในวัฏจักรขาขึ้น ขณะที่การนำเข้าชะลอตัวลงเหลือเติบโตร้อยละ 14 เหตุเพราะการนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักรลดลง ตามการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ ขณะที่การท่องเที่ยวจะมีการฟื้นตัวมากขึ้นหลังผ่านเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ

“การประเมินครั้งนี้ ธนาคารโลกได้รวมผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองไว้แล้ว ซึ่งให้น้ำหนักความไม่แน่นอนทางการเมือง เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว โดยธนาคารโลกให้ความสำคัญกับราคาน้ำมัน และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นมากกว่า อย่างไรก็ตามการที่ภาครัฐไม่สามารถลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์เต็มวงเงิน และบางโครงการอาจล่าช้าไป กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน” น.ส.กิริฎา กล่าว

ส่วนแนวโน้มในระยะปานกลาง ธนาคารโลกยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความมั่นคง โดยมีอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ต่ำ และมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เข้มแข็ง แต่ธนาคารโลกมีข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินการปฏิรูปมากขึ้น เพื่อให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน โดยต้องเพิ่มการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งจากการสำรวจความเห็นของนักธุรกิจจำนวน 1,300 ราย พบว่า ต้องการให้ภาครัฐเร่งสร้างโครงการพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะในภาคตะวันออกและภาคกลาง รวมทั้งลดข้อจำกัดด้านการบริการต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น