xs
xsm
sm
md
lg

เอดีบีแนะตั้ง กบช. เน้นแรงงานในระบบ 13 ล้านคนก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เสนอแนวทางการตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นกองทุนภาคบังคับ เพื่อดูแลเงินออมระยะยาวให้คนทำงานหลังเกษียณอายุ เบื้องต้นจะครอบคลุมแรงงานในระบบ 13 ล้านคน ประเดิมปี 2551 ใช้บังคับกับสถานประกอบการขนาดใหญ่ก่อน กระทรวงการคลังคาดสรุปกรอบทั้งหมดได้เดือนธันวาคมนี้

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้ง กบช. ว่า คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง กบช. ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า การปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนตกไปสู่ความยากจนหลังเกษียณอายุการทำงาน เป็นการเพิ่มเงินออมระยะยาว และพัฒนาตลาดทุนของประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญจากเอดีบี ได้เสนอกรอบ กบช. เบื้องต้นไว้หลายประการ เพื่อให้ครอบคลุมแรงงานในระบบ 13 ล้านคน ซึ่งในปี 2551 จะเริ่มการบังคับใช้กองทุนสำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป จากนั้น ในปี 2556 และขยายไปยังสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 – 99 คน และในปี 2561 จึงขยายไปยังสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 – 10 คน และหากมีการเคลื่อนย้ายแรงงานและการโอนกองทุน เห็นว่าการแยกระบบการออมของข้าราชการ แรงงานเอกชน และแรงงานนอกระบบออกจากกันในปัจจุบัน จะต้องมีระบบการโอนย้ายแรงงานของทุกกองทุน หากเมื่อใครย้ายไปทำงาน หรือเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ เพื่อดูการไหลเงินข้ากองทุนและการคำนวณผลประโยชน์ทดแทน

ส่วนอัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนนั้น ทั้งลูกจ้างและนายจ้างควรเริ่มจ่ายเงินสมทบเริ่มต้นที่ร้อยละ 3 ของค่าจ้างแต่ละฝ่ายในระยะเริ่มต้น และทยอยปรับเพิ่มขึ้นเพื่อให้ผลประโยชน์ที่ได้จาก กบช. เมื่อรวมกับกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพแล้วได้ถึงร้อยละ 50 ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย และเห็นว่าสมาชิกควรเกษียณอายุที่ 60 ปี เนื่องจากข้อกำหนดเดิมที่เกษียณอายุ 55 ปี ถือว่าต่ำกว่าหลายประเทศ ขณะที่ผลประโยชน์ของกองทุน ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ควรจ่ายเป็นรายงวด ในจำนวนผลประโยชน์ทดแทนที่ร้อยละ 50 ของเงินเดือน เดือนสุดท้าย และส่วนที่เกินจากนั้นให้สามารถเลือกรับเป็นรายงวด หรือรับเป็นเงินก้อน

นายนริศ กล่าวอีกว่า ผู้เชี่ยวชาญของเอดีบี เห็นว่าควรยกเว้นภาษีของเงิน 2 ส่วน คือ เงินสะสม ผลประโยชน์เงินสะสม และเงินสมทบ ส่วนเงินผลประโยชน์ที่ได้รับเมื่อเกษียณอายุ เห็นว่าควรจะเสียภาษี เพราะทุกคนต้องเสียภาษีเมื่อมีรายได้ แต่หากใครมีรายได้ในเกณฑ์ที่กำหนดก็จะได้รับการยกเว้นภาษีให้แก่คนชราอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่นายจ้างและลูกจ้างได้จ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วอย่างน้อยร้อยละ 3 ในแต่ละฝ่าย ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเข้า กบช. อีก และควรแยกบัญชีกองทุนภาคบังคับออกจากภาคสมัครใจ รวมทั้งพิจารณาถึงเงินไหลเข้ากองทุนให้เหมาะสมกับการจ่ายผลประโยชน์ทดแทน ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย

สำหรับการกำหนดนโยบาย กบช. นั้น ผู้เชี่ยวชาญเอดีบี เสนอว่า ควรมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายเงินออมเพื่อการเกษียณอายุ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และควรมีการตั้งสำนักงาน กบช. เป็นผู้กำกับดูแลนโยบายภาคบังคับ มีกฎหมายรับรองเหมือนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งคณะกรรมการจะสรุปกรอบทั้งหมดได้ประมาณเดือนธันวาคมนี้ ส่วนการเริ่มจัดตั้งกองทุนก็เป็นเรื่องการพิจารณาของรัฐบาลชุดใหม่ ขณะเดียวกัน ยังมีการเสนอให้ปรับปรุงกองทุนประกันสังคม โดยควรจะแยกการบริหารเงินกองทุนสำหรับเงินกองทุนที่มีการจ่ายผลประโยชน์ระยะสั้นออกจากผลประโยชน์ระยะยาวและการปรับอัตราสมทบในเวลาที่เหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น