xs
xsm
sm
md
lg

สร้างความภักดีในกลุ่มผู้บริโภค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การสร้าง Brand นอกจากเป็นการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าแล้ว ยังเป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างความภักดีในกลุ่มผู้บริโภคด้วย การที่ผู้บริโภคมีความชื่นชม Brand และใช้ Brand เป็นปัจจัยสุดท้ายในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า พวกเขาจะไม่สนใจเรื่องราคาหรือการส่งเสริมการขายอื่นๆ พวกเขาจะมีความมั่นคงในการใช้ Brand ที่เขาชื่นชอบด้วยความภาคภูมิใจ

นักการตลาดจะต้องมียุทธวิธีในการทำให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายต้องการที่จะใช้สินค้าอย่างต่อเนื่องด้วยกิจกรรมทางการตลาดดังต่อไปนี้

  • สร้างภาพลักษณ์ของ Brand ให้เป็นคุณค่าเพิ่ม เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกใช้ Brand ด้วยความภาคภูมิใจ

  • สร้างระบบสมาชิก (membership) เพื่อให้ผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกได้รับสิทธิพิเศษในการซื้อ Brand ทำให้ไม่ต้องการไปซื้อสินค้าอื่น

  • จัดระดับชั้นของลูกค้าเป็นลูกค้าระดับมาตรฐาน (Classic) ระดับเงิน (Silver) ระดับทอง (Gold) และระดับทองคำขาว (Platinum) ที่จะมีอภิสิทธิ์เพิ่มขึ้นตามลำดับ

  • ให้มีการสะสมแต้มเพื่อรับสิทธิพิเศษบางประการ จูงใจให้ผู้บริโภคใช้สินค้าภายใต้ Brand อย่างต่อเนื่อง

  • มีรางวัลพิเศษ (Bonus) สำหรับยอดซื้อในระดับสูงตามที่กำหนดไว้

  • มีรางวัลพิเศษสำหรับลูกค้าที่ซื้อบ่อยและต่อเนื่อง (Frequent buyer program)

    การสร้างความภักดีในกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเป็นสิ่งที่จำเป็นในยุคนี้ เพราะการตลาดที่แสวงหาลูกค้าใหม่อยู่ตลอดเวลานั้นเป็นการตลาดที่ต้นทุนสูง แต่สำหรับการตลาดสำหรับลูกค้าปัจจุบันที่มีความภักดีนั้นนอกจากจะมีต้นทุนที่ต่ำลง ก็ยังสามารถเพิ่มยอดขายได้ง่าย ทำกำไรได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะ

  • ลูกค้าที่มีความภักดีจะซื้อสินค้า Brand เดิมอย่างต่อเนื่อง

  • เมื่อมีการออกสินค้าใหม่ภายใต้ Brand เดิม นักการตลาดจะสามารถจูงใจให้ใช้สินค้าใหม่ได้ง่ายขึ้น

  • การจูงใจให้ลูกค้าที่มีความภักดีซื้อสินค้า Brand เดิมแต่เป็นรุ่นที่ราคาสูงขึ้นได้ง่ายอย่างที่เขาเรียกกันว่า Up-sell

  • การจูงใจให้ลูกค้าซื้อสินค้าอื่นๆภายใต้ Brand เดียวกันที่เขาเรียกว่า Cross-sell เป็นสิ่งที่ทำได้โดยง่าย

  • งบประมาณการตลาดในการสื่อสารกับลูกค้าที่มีความภักดีไม่สูงเท่ากับงบประมาณในการหาลูกค้าใหม่

  • ลูกค้าที่มีความภักดีจะเป็นผู้ช่วยขายที่ไม่ต้องจ่ายเงินเดือน พวกเขาจะแนะนำเพื่อนๆให้มาเป็นลูกค้าของ Brand ที่เขามีความภักดีให้

  • เวลาที่มีปัญหาอะไรก็ตาม ลูกค้าที่มีความภักดีจะไม่โกรธ แต่จะให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาด้วยความจริงใจ ทำให้การแก้ปัญหาต่างๆเป็นไปด้วยความง่ายดาย

    ในปัจจุบันสำหรับผู้บริโภคหลายคน คำว่า “ภักดี” กลายเป็นอดีตไปแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในพจนานุกรมชีวิตของพวกเขาอีกต่อไปแล้ว บางคนถึงกับมองว่า “ความภักดี” ที่พวกเขามีให้กับ Brand ใดๆก็ตามเป็น “ความโง่และความแพง” ที่ว่า “โง่” ก็เพราะว่าสินค้าต่างๆในตลาดจะมีการส่งเสริมการขายในรูปแบบการลดแลกแจกแถมอยู่เป็นประจำ ถ้าเขาปักใจซื้อสินค้า Brand เดิมตลอดเวลาก็เท่ากับเขามองข้ามผลประโยชน์ทั้งหลายที่ Brand ต่างๆมอบให้เป็นระยะๆ ดังนั้นถ้าจะ “ไม่โง่” ก็ควรจะเลือกซื้อสินค้าที่มีการลด แลก แจก แถม เปลี่ยนไปเรื่อยๆ และที่ว่า “แพง” ก็เพราะว่าการซื้อสินค้า Brand เดิมที่ไม่มีการลด แลก แจก แถม นั้นทำให้ต้องจ่ายเงินเต็มราคาตลอดเวลา และไม่ได้อะไรเพิ่มเติมด้วย

    แม้ว่าผู้บริโภคไม่รู้จักคำว่า “ภักดี” แต่นักการตลาดต้องไม่ยอมแพ้ที่จะพยายามสร้างความภักดีให้เกิดขึ้น ด้วยวิธีการต่างๆที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และต้องให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของ Brand (Brand Equity) เพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายมีความภาคภูมิใจในการใช้สินค้าภายใต้ Brand นั้น ด้วยเหตุนี้นักการตลาดจึงต้องให้ความสำคัญกับการมียุทธศาสตร์ที่ดีในการสร้าง Brand

  • ต้องมั่นใจว่าสินค้ามีคุณลักษณะที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย

  • ต้องมั่นใจว่าคุณลักษณะดังกล่าวนั้นมีบางอย่างที่เป็นความโดดเด่นแตกต่างจากสินค้าอื่น

  • ต้องมั่นใจว่าสินค้าที่มีจุดเด่นดังกล่าวมีคุณประโยชน์ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

  • ต้องมั่นใจว่าสินค้าให้คุณค่าแก่ผู้บริโภคคุ้มเงิน คุ้มเวลา คุ้มความพยายามของผู้บริโภค

  • ต้องมั่นใจว่าได้วางตำแหน่งครองใจให้กับ Brand ได้ชัดเจน ทำให้ Brand มีความแตกต่างที่โดดเด่น

  • ต้องมั่นใจว่าได้สร้างบุคลิกที่ชัดเจนให้กับ Brand เพื่อกำหนดแนวทางในการสื่อสารเรื่องราวของ Brand

  • ต้องมั่นใจว่ามีการสื่อสารเรื่องราวของ Brand อย่างต่อเนื่องด้วยความคงเส้นคงวา

    การสร้าง Brand และการใช้ CRM เพื่อการสร้างความภักดีนั้นถือเป็นการลงทุนทางด้านการตลาดที่ชาญฉลาด และเป็นยุทธศาสตร์การตลาดที่สำคัญยิ่งในยุคที่สินค้าหาความแตกต่างได้ยาก และผู้บริโภคไม่ให้ความสำคัญกับคำว่าภักดี


  • กำลังโหลดความคิดเห็น