xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองกระทบชิ่งฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ เดือน ก.พ. ปรับลดเล็กน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ ปรับลดเล็กน้อยจาก 103.4 มาอยู่ที่ 101.4 โดยผู้ประกอบการ ร้อยละ 61.6 คิดว่าการเมืองในประเทศส่งผลให้กิจการแย่ลง ร้อยละ 36.2 คิดว่าการเมืองในประเทศไม่มีผลต่อธุรกิจ ขณะที่ร้อยละ 2.2 คิดว่าการเมืองส่งผลให้กิจการดีขึ้น

นายสันติ วิลาสศักดานนท์
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการต่อผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองในประเทศพบว่า ผู้ประกอบการเริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองภายในประเทศมากขึ้น โดยผู้ประกอบการ ร้อยละ 61.6 คิดว่าการเมืองในประเทศส่งผลให้กิจการแย่ลง ร้อยละ 36.2 คิดว่าการเมืองในประเทศไม่มีผลต่อธุรกิจ และร้อยละ 2.2 คิดว่าการเมืองในประเทศส่งผลให้กิจการดีขึ้น ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถานการณ์การเมืองในประเทศในอนาคต 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการมองว่าการเมืองในประเทศส่งผลต่อกิจการในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับในปัจจุบัน

นายสันติ กล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 101.4 จาก 103.4 ในเดือนมกราคม 2549 ที่ผ่านมา สาเหตุเนื่องมาจากค่าดัชนีหลัก ปรับตัวลดลง ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย และปริมาณการผลิต ปรับตัวลดลงจาก 123.4 121.9 และ 126.2 ในเดือนมกราคม เป็น 117.8 118.5 และ 120 ในเดือนกุมภาพันธ์ ตามลำดับ นอกจากนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ และ ยอดขายในประเทศ ลดลงจาก 118.1 128.8 และ 117.1 ในเดือนมกราคม เป็น 113.2 128.6 และ 115.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ตามลำดับ

และเมื่อพิจารณาค่าดัชนีรายอุตสาหกรรม พบว่ามีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมี 14 กลุ่ม อุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวลดลงอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ลดลงจาก 97.5 เป็น 87.7 อุตสาหกรรมแก้วและกระจก ลดลงจาก 117.3 เป็น 106.2 อุตสาหกรรมเคมี ลดลงจาก 115.1 เป็น 88.9 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ ลดลงจาก 98.0 เป็น 87.1 อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ ลดลงจาก 110.6 เป็น 92.8 อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ลดลงจาก 100.0 เป็น 87.9 อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง ลดลงจาก 94.1 เป็น 77.0 อุตสาหกรรมการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ ลดลงจาก 119.2 เป็น 79.9 อุตสาหกรรมน้ำตาล ลดลงจาก 100.1 เป็น 82.7 และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ลดลงจาก 119.5 เป็น 100.3 เป็นต้น

ผลสำรวจยังพบว่าผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากปัญหาราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสภาวะการขาดสภาพคล่องทางการเงินอันเนื่องมาจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังคงเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ

ดังนั้นผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลระดับราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้มีความเหมาะสม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภายในประเทศ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังต้องการให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือในการจัดหาแหล่งวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมบางประเภทที่กำลังเผชิญกับภาวะวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นและมีการขาดแคลน เช่น น้ำตาล และไม้ยางพารา
กำลังโหลดความคิดเห็น