ก่อนหน้านี้ เมื่อเอ่ยถึงชื่อบริษัท บอกซ์ ออฟฟิศ เอนเทอร์เทนเมนท์ จำกัด อาจจะเป็นเพียงบริษัทหนึ่งในวงการบันเทิงที่ดูเหมือนกับบริษัทอื่นทั่วไป
แต่ ณ วันนี้ สถานภาพของบอกซ์ออฟฟิศได้เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อมีบริษัท บีเอ็นที เข้ามาถือหุ้นมากถึง 40% จากทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทของบอกซ์ออฟฟิศ ขณะที่บอกซ์ออฟฟิศเองก็ได้เข้าไปถือหุ้นจำนวนเท่ากัน 40% ในบีเอ็นที
ความน่าสนจึงอยู่ตรงที่ว่า ที่มาที่ไปของการควบหุ้นครั้งนี้ว่าเป็นอย่างไร และทิศทางของบอกซ์จากนี้จะเป็นอย่างไร คงไม่มีใครที่จะให้คำอธิบายได้อย่างถูกต้องเท่ากับ “สยามรัศมิ์ เลาหสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท บอกซ์ ออฟฟิศ เอนเทอร์เทนเมนท์ จำกัด
“วันนี้บีเอ็นทีเขามีการเปลี่ยนแปลงไปมากโดยเฉพาะกลุ่มผู้ถือหุ้น เรามองว่าเขามีความตั้งใจทำธุรกิจบันเทิงจริงๆ ธุรกิจอะไรที่ไม่ทำกำไรก็เริ่มตัดทิ้ง ขายออกไป เพื่อลดต้นทุนแล้วใช้หนี้ แต่ยังเป็นบริษัทที่มีอนาคต เราคุยกันมาระยะหนึ่งแล้วก่อนที่จะสรุปความร่วมมือด้วยการแลกหุ้นกัน ตอนนี้ถ้าพูดง่ายๆเราเองก็คงเป็นเหมือนกับบิสซิเนสยูนิตหนึ่งของบีเอ็นทีในแง่ของคอนเท้นต์ ”
แม้ว่าจะมีการแลกหุ้นกันแล้วก็ตาม แต่การบริหารงานนั้นจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบอกซ์ออฟฟิศก็ยังคงมีตัวเขาบริหารอยู่เหมือนเดิม
แนวคิดหนึ่งที่สยามรัศมิ์เชื่อมั่นก็คือ สมัยนี้การจะทำธุรกิจจะต้องหาพันธมิตรมากขึ้น จับมือกับผู้ที่มีความชำนาญในแต่ละด้านที่พันธมิตรมีความถนัด จึงจะทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าเติบโตต่อไปได้
การตัดสินใจเป็นพันธมิตรถือหุ้นร่วมกันนั้น สยามรัศมิ์ระบุว่า เกิดจาก 1.ความตั้งใจจริงของบีเอ็นทีที่จะทำธุรกิจบันเทิง 2.บีเอ็นทีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่แล้ว ขณะที่บอกซ์ออฟฟิศเองก็มีแผนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์เช่นเดียวกัน แต่แผนเข้าตลาดของบอกซ์ฯยังมีอยู่ยังไม่เลิกล้ม 3.บีเอ็นทีมีสื่ออยู่ในมือมากมายหลายรูปแบบที่จะมาเกื้อหนุนธุรกิจกันได้
เขายกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนมากขึ้นว่า กรณีของธุรกิการจัดจำหน่ายภาพยนตร์นั้น บีเอ็นทีทำตรงนี้อยู่บ้าง แต่อาจจะไม่แข็งแรงด้านนี้พอ เขาจึงใช้วิธีชอร์ตคัท (Short Cut) ด้วยการหาพันธมิตรเข้ามาถือหุ้นและรับผิดชอบทำไปเลย เช่นกรณีของธุรกิจภาพยนตร์เมื่อมาถือหุ้นเราแล้ว แล้วบีเอ็นทีก็ยุบแผนกนั้นทิ้งไป จะได้ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกันแล้วให้เราทำเอง ลิขสิทธิ์หนังภาพยนตร์โรงต่างๆที่บีเอ็นทีทำอยู่ก็โอนสิทธิ์ให้เราทำแทนที่เหลืออีกประมาณ 5-6 เรื่อง
หรืออีกมุมหนึ่ง เราเองก็มีลิขสิทธิ์หนังมาก ในรูปแบบออลไรท์ เราก็ทำต่อไป ขณะที่บีเอ็นทีก็พยายามที่จะบุกหนักทางด้านเคเบิ้ลทีวีมากขึ้น ตรงนี้บีเอ็นทีก็สามารถใช้เราเป็นฐานด้านคอนเท้นต์ได้ เพราะเคเบิ้ลทีวีจะต้องการคอนเท้นต์อย่างมาก ก่อนหน้านี้ เราเองก็ป้อนให้กับเคเบิ้ลทีวีแค่ค่ายยูบีซีเท่านั้น
จากนี้ไป บีเอ็นทีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นและผู้บริหารใหม่ก็จะมีเครือข่ายพันธมิตรที่เพิ่มมากขึ้น เพราะหลังจากนี้แล้วก็คงมีการหาพันธมิตรในด้านอื่นๆเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน
อีกมุมหนึ่งอย่างบอกซ์อฟฟิศก็มองการเติบโตจากศักยภาพที่เพิ่มขึ้นได้ โดยคาดหวังรายได้ในปีนี้จะขยับมาอยู่ที่ 400 กว่าล้านบาท
“ผมคิดว่า เราคงจะเติบโตแบบก้าวกระโดดในแง่ของศักยภาพ ส่วนรายได้นั้นคงจะโตได้ในระดับหนึ่ง เพราะเราเองก็สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ด้วยเช่น ใช้อุปกรณ์ร่วมกันกับบีเอ็นที เป็นต้น”