xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาท้าทายการตลาด (4)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในตอนที่ผ่านมาได้พูดถึงการตัดใจจัดการเอาพนักงานที่ไม่ได้มาตรฐานออกไป เพื่อไม่ให้เป็นตัวถ่วงความสำเร็จทางการตลาด สำหรับตอนนี่จะเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจากตอนที่แล้ว นั่นคือการให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมเพื่อความรู้และฝึกฝนทักษะให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง

นักการตลาดจะต้องสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่พนักงานทุกระดับมีความเต็มใจที่จะเป็นผู้คงแก่เรียน และพร้อมที่จะพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา การหมั่นฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ และการใฝ่รู้เรียนจะต้องเป็นวัฒนธรรมขององค์กร พนักงานทุกคนจะต้องตระหนักว่า “เกิดมาเป็นมนุษย์ต้องไม่หยุดพัฒนา เพราะหากหยุดพัฒนาก็จะไร้คุณค่าของความเป็นคน” พนักงานจะต้องไม่มองว่าการเข้าฝึกอบรมนั้นเป็นการถูกลงโทษ หรือเป็นการแก้ไขคนที่มีปัญหา แต่พวกเขาจะต้องมองว่าการได้เข้าอบรมนั้นแสดงว่าเขาเป็นคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ และบริษัทก็ยินดีที่จะลงทุนพัฒนาเขา การได้เข้าฝึกอบรมคือการได้โอกาส การได้โบนัสจากบริษัท เป็นสวัสดิการที่บริษัทมอบให้พนักงานเพื่อให้พนักงานมีความเติบโตทางความคิด ความสามารถ

เมื่อพนักงานเข้ามาทำงานในองค์กร จะต้องมีการปฐมนิเทศให้พนักงานได้รู้จักวัฒนธรรมขององค์กร ได้รู้จักลักษณะของการทำงานในธุรกิจนั้นๆ ได้รู้จักหน้าที่การงาน และสิ่งที่บริษัทคาดหวังจากเขา อย่าให้พนักงานทำงานไปแล้วต้องพบกับความประหลาดใจหรือสิ่งที่ไม่คาดหวังที่จะทำให้เขารู้สึกผิดหวังกับการทำงาน หรือรู้สึกว่าการทำหน้าที่ของเขาในบริษัทไม่เป็นไปตามที่เขาวาดฝันไว้ เพราะการได้พบกับความประหลาดใจที่ไม่คาดฝันในเชิงลบบ่อยๆ จะทำให้พนักงานท้อแท้ และรู้สึกว่าเขาเลือกงานผิด

เพื่อการฝึกฝนพนักงานที่ดี บริษัทควรมีระบบพี่เลี้ยงให้พนักงานที่เข้ามาใหม่รู้สึกอบอุ่น และสามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรให้ได้ด้วยคำแนะนำของพนักงานที่อยู่มาก่อน มนุษย์แต่ละคนมีการพัฒนาและได้รับการฝึกอบรมมาแตกต่างกัน และเมื่อเข้ามาทำงานที่ใดที่หนึ่งย่อมต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรนั้น ซึ่งต้องใช้เวลา และต้องได้รับคำแนะนำที่ดีจากบุคคลที่มีความเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างดี ดังนั้นการมีระบบพี่เลี้ยงในองค์กร จึงเป็นวิธีการหนึ่งในการช่วยให้พนักงานปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้ด้วยความรู้สึกอบอุ่นใจ

การฝึกอบรมที่ดีควรจะต้องมีครบทั้งสามมิติกล่าวคือ ต้องมีทั้งการอบรมด้านความรู้และทักษะ เป็นมิติที่หนึ่ง ต้องมีการฝึกอบรมเพื่อสร้างทัศนคติและปลูกฝังค่านิยมในการทำงานที่ดี เป็นมิติที่สอง และจะต้องมีการฝึกอบรมศิลปะในการดำเนินชีวิตส่วนตัวนอกเวลางานเป็นมิติที่สาม ตามปรกติแล้วในการฝีกอบรมในองค์กรต่างๆนั้น ผู้บริหารมักจะให้ความสำคัญกับการอบรมด้าน ความรู้และทักษะในลักษณะ How to ด้วยความหวังว่าพนักงานจะนำเอาความรู้และทักษะนั้นไปปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับองค์กร จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการอบรมในมิติที่สองและที่สาม อันที่จริงแล้ว ทัศนคติและค่านิยมเป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานของการกระทำ หากต้องการให้คนมีการกระทำที่ดี หากต้องการให้เกิดพฤติกรรมที่ดี จะต้องมีการอบรมเพื่อปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมที่ดีเกี่ยวกับการทำงานและการดำเนินชีวิตให้กับพนักงานด้วย

สำหรับเรื่องของศิลปะในการดำเนินชีวิตนอกเวลางานนั้น เป็นเรื่องที่ฝ่ายจักฝึกอบรมขององค์กรมักจะมองข้าม เพราะคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของพนักงาน ไม่เกี่ยวกับองค์กร แต่เราต้องไม่ลืมว่าชีวิตส่วนตัวของพนักงานย่อมมีผลกระทบกับประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน คนเราไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน รักองค์กรเพียงใด มีค่านิยมในการทำงานที่ดีงามเพียงใด แต่หากมีปัญหาชีวิต ไม่สามารถจัดการกับปัญหาส่วนตัวได้ เขาย่อมไม่สามารถเป็นพนักงานที่ดีของเราได้ ดังนั้นในการฝึกอบรมพนักงานนั้น ผู้จัดหลักสูตรในการฝึกอบรมจะต้องให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมเรื่องศิลปะการใช้ชีวิตส่วนตัวนอกเวลางาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลาอย่างรู้คุณค่า การรู้จักจัดสรรงบประมาณในการใช้จ่ายและการออม การรักษาความสุขสงบในครอบครัว ไม่มีปัญหารักสามเส้า ไม่มีปัญหาหนี้สินรุงรัง มี่ปัญหาการพนัน ไม่มีปัญหายาเสพติด ไม่มีปัญหาการใช้ชีวิตผิดลู่ทาง หากพนักงานคนใดมีความคิดที่ว่านอกเวลาทำงานชีวิตเป็นของเขา ดังนั้นเขาจะใช้ชีวิตอย่างไรก็ได้ ไม่เกี่ยวกับบริษัท พนักงานคนนั้นก็ไม่ใช่พนักงานที่ดีของบริษัท เพราะเขาไม่ยอมรับว่าการดำเนินชีวิตส่วนตัวนอกเวลางานนั้นมีผลกระทบกับประสิทธิภาพของการทำงาน

การที่จะมีการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพได้นั้น ผู้บริหารจะต้องเห็นความสำคัญของการพัฒนาทุนมนุษย์ จะต้องพร้อมที่จะลงทุนในด้านนี้ จะต้องสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ จะต้องมีผู้จัดการฝ่ายพัฒนากรมนุษย์ที่เป็นอาชีพ สามารถสร้างหลักสูตรเพื่อการพัฒนาพนักงานในแผนกต่างๆทุกระดับได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าหากผู้บริหารไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาทุนมนุษย์ งบประมาณในการฝึกอบรมก็จะไม่เพียงพอที่จะทำให้มีการฝึกอบรมที่มีคุณภาพ จากวิทยากรที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่มีฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มืออาชีพ ก็จะไม่มีหลักสูตรเพื่อการพัฒนาที่ดี การฝึกอบรมไม่มีความต่อเนื่อง และไม่มีความครบถ้วน หากต้องการชัยชนะทางการตลาด ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงานที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการที่เหมาะสม ด้วยวิทยากรที่มีคุณภาพ

เพื่อให้การลงทุนด้านการฝึกอบรมพนักงานมีประสิทธิผล ผู้บริหารองค์กรจะต้องนำเอาหลักการในการบริหารจัดการความรู้ (Knowledge Management) มาใช้ นั่นคือจะต้องรู้ว่า จะหาแหล่งความรู้ได้จากที่ไหน จะให้พนักงานเรียนรู้ด้วยวิธีใด เมื่อพนักงานมีความรู้แล้วจะให้มีการแบ่งปันความรู้กันอย่างไร จะส่งเสริมให้มีการนำเอาความรู้มาใช้ในการทำงานอย่างไร และที่สำคัญจะให้คนที่มีความรู้แตกต่างกัน นำเอาความรู้ที่แตกต่างกันนั้นมาร่วมกันทำงานแบบบูรณราการให้ราบรื่น และบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้อย่างไร การปลูกฝังการรักเรียน ใฝ่เรียนให้พนักงานและความพร้อมที่จะลงทุนด้านการฝึกอบรมเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับชัยชนะทางการตลาด

เขียนโดย : รศ.ดร. เสรี วงษ์มณฑา
กำลังโหลดความคิดเห็น