ในช่วงที่วงการค้าปลีกในไทยยังแข่งกันรุนแรง จากค้าปลีกข้ามชาติรวมทั้งค้าปลีกไทยที่เป็นรายใหญ่ต่างก็พยายามขยายสาขาเพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมทั้งเล่นเกมราคากันอย่างหนักหน่วง
แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ยังมีค้าปลีกค้าส่งของคนไทยเองที่พยายามจะหาช่องว่างทางการตลาดและสร้างโอกาสให้กับตัวเองในการแหวกม่านค้าปลีกเพื่อหาที่อยู่ในวงการให้ได้
ชื่อของ “ไทยมาร์ทสโตร์” จึงก่อเกิดขึ้นมา เพื่อสร้างโอกาสดังกล่าว
หากดูถึงชื่อ ไทยมาร์ทสโตร์ อาจจะใหม่ไม่มีคนรู้จักมากนัก เพราะเพิ่งเปิดบริการสาขาแรกที่ถนนแจ้งวัฒนะประมาณต้นเดือนนี้เอง
ทว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังนี้กลับเป็นคนที่คลุกคลีอยู่กับวงการซื้อขายรูปแบบค้าปลีกค้าส่งในย่านสำเพ็งมานานกว่าค่อนชีวิตแล้วคือ “กำพล ปัญญาพฤฒิโชติ” และถือเป็นรุ่นที่สองด้วย
แนวคิดของการเปิดร้าน ไทยมาร์ทสโตร์ของกำพล มาจากการที่ เขามองเห็นว่า ผู้บริโภคที่มาเดินซื้อของในย่านสำเพ็งนี้มีทั้งคนรุ่นใหม่รุ่นเก่า และมีทั้งที่ซื้อจำนวนมากและจำนวนน้อยๆ โดยปัญหาหนึ่งที่พบว่า ทุกคนจะต้องเจอก็คือ การเดินหาซื้อของที่ต้องปวดหัว เพราะบางครั้งไม่รู้ว่าสินค้าประเภทนี้อยู่ตรงไหน ร้านไหนขาย เพราะว่าในย่านสำเพ็งนั้น มีร้านค้ามากมายตั้งเรียงรายติดกัน ไม่ได้ตั้งร้านเป็นหมวดหมู่ตามสินค้าที่ขาย เพราะแต่ละร้านเป็นกิจการของแต่ละคนไม่ใช่เป็นห้างจึงตั้งกันอยู่แบบกระจัดกระจาย ตรงนี้คือ สิ่งที่กำพลมองเห็น
ขณะเดียวกันชีวิตที่สัมผัสและคลุกคลีกับบรรยากาศการค้าขายในย่านสำเพ็งมานาน จึงทำให้เขามีความคิดที่จะพัฒนาแหล่งขายสินค้าขึ้นมาสักหนึ่งแห่ง โดยให้เป็นที่รวบรวมสินค้าต่างๆย่านสำเพ็ง และที่สำคัญคือ จะต้องง่ายและสะดวกต่อการเดินหาซื้อสินค้า และที่สำคัญราคาขายต้องไม่แพงด้วย
นี่จึงเป็นที่มาของคอนเซ็ปท์รูปแบบค้าปลีกใหม่ที่ชื่อว่า “สเปเชียลตี้ โลว์คอสต์ สโตร์” ที่เขาคิดขึ้นมาเอง โดยการเอาข้อดีของแต่ละระบบมารวมกัน
สเปเชียลตี้สโตร์ (Specialty Store) คือ รูปแบบของการขายสินค้าเฉพาะทาง โดยเขาจะมีการจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ หาซื้อง่าย และมีให้เลือกมาก
แคชแอนด์แคร์รี่ (Cash and Carry) การซื้อสินค้าด้วยระบบเงินสดและบริการตัวเอง
โลว์คอสต์ (Low Cost) คือ การขายสินค้าราคาน้ำ เหมือนกับบรรดาดิสเคาต์สโตร์ทั้งหลาย
ดังนั้น ไทยมาร์ทสโตร์ คือ ร้านค้าส่งที่ขายสินค้าเฉพาะทางที่หลากหลายในราคาที่ต่ำ
สาขาแรกที่ถนนแจ้งวัฒนะลงทุนไปกว่า 40 ล้านบาท มีพื้นที่ 1,600 ตารางเมตร มีสินค้า 8 กลุ่มประกอบด้วย เครื่องเขียน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องครัว ฮาร์ดแวร์ กิ้ฟท์ชอป ของเด็กเล่น ของชำ และของใช้ในครัวเรือน โดยแบ่งเป็นสินค้าที่มาจากประเทศจีนกับสินค้าจากซัปพลายเออร์คนไทยที่ผลิตภายในประเทศ 60/40 สินค้า โดยมีสินค้ากว่า 6,000 SKU ไว้บริการ และยังมีสินค้าเฮาส์แบรนด์ในชื่อ Thaimart บริการด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาเดินในร้านกว่า 900 คนต่อวัน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 5,000 บาทต่อคนต่อครั้ง เน้นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ระดับซีถึงบี
เป้าหมายระยะยาวของกำพล เขาหวังที่จะให้มี ไทยมาร์ทสโตร์กระจายอยู่ 4 มุมเมือง เพื่อตอบรับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายคนไทย และให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ต่อสู้กับค้าปลีกข้ามชาติทั้งหลาย