xs
xsm
sm
md
lg

ไอ.ซี.ซี.ดัน“บีเอสซี”เรือธงหลัก เป้า5ปี2,000ล้าน-รุกนิชมาร์เกตเน้นซีอาร์เอ็ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไอ.ซี.ซี.ฯ เปิดนโยบายอีก 5 ปีจากนี้ ดันแบรนด์ บีเอสซี ขึ้นสู่แบรนด์ทำรายได้หลัก เทียบเคียงอินเตอร์แบรนด์ ตั้งเป้าฟันรายได้ 2,000 ล้านบาทต่อปี เป็นแบรนด์แรกของบริษัทฯเอง ทุ่มงบลงทุน 50 ล้านบาทปีหน้า ลุยเปิดจุดขายเพิ่มเติม เน้นทำซีอาร์เอ็ม พร้อมรุกกลยุทธ์แบบนิชมาร์เกตหนักขึ้น

นายธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการ บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการที่บริษัทฯได้ทำตลาดกับแบรนด์บีเอสซี มานานประมาณ 5 ปี พบว่ามีอัตราการเติบโตของยอดขายค่อนข้างดีต่อเนื่อง และได้รับการยอมรับจากตลาดที่ดีพอสมควร ซึ่งนโยบายจากนี้ไปบริษัทฯตั้งเป้าที่จะผลักดันให้แบรนด์บีเอสซีเป็นแบรนด์ที่ทำรายได้หลักหรือเป็นเรือธงให้กับบริษัทฯอีกแบรนด์หนึ่ง

ปัจจุบันสินค้าที่ทำรายได้หลักให้กับบริษัทฯจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่ในขณะนี้จะเป็นสินค้าด้านเสื้อผ้าและแฟชั่นเป็นหลัก และล้วนเป็นสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศที่บริษัทฯได้ลิขสิทธิ์ผลิตและจัดจำหน่ายทั้งสิ้นคือ วาโก้ เพี๊ยซ แอร์โรว์ ลาคอส เป็นต้น ซึ่งบีเอสซีจะเป็นแบรนด์แรกที่เป็นของคนไทยและเป็นของบริษัทฯที่จะขึ้นสู่แบรนด์สร้างรายได้หลักของบริษัทฯภายใน 5 ปีนับจากนี้ นอกนั้นยังมีแบรนด์ของบริษัทฯเองอีกมากแต่ยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายเป็นแบรนด์สร้างรายได้หลักเช่น อองฟองต์ เซนต์แอนดรูวส์ เป็นต้น ซึ่งยังเป็นเรื่องของอนาคต

ทั้งนี้ บีเอสซี มีรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี (ซึ่งรวมถึง บีเอสซีผู้หญิงที่ทำรายได้หลัก และบีเอสซีผู้ชายด้วยที่ยังทำรายได้รองจากกลุ่มผู้หญิงอย่างมาก) จากรายได้รวมของบริษัทฯที่มีประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยสินค้ากลุ่มเสื้อผ้ามีรายได้สูงสุด รองลงมาคือเครื่องสำอาง ซึ่งบีเอสซีทำรายได้ให้กับบริษัทฯในสัดส่วนประมาณ 10% เท่านั้นเอง โดยจากการสำรวจของบริษัทฯเองพบว่า ผู้บริโภครับรู้ในแบรนด์บีเอสซีแล้วมากถึง 90% และกว่า 70% รู้ว่าเป็นสินค้าของคนไทยในเครือสหพัฒน์

สาเหตุที่ต้องการจะดันบีเอสซีเป็นแบรนด์หลักเนื่องจากว่า ที่ผ่านมาผลักดันแบรนด์อื่นที่เป็นของบริษัทอื่นจนมีรายได้หลักมาแล้วก็ถึงเวลาที่จะทำแบรนด์ของตัวเองให้มีรายได้หลักบ้าง ซึ่งมั่นใจว่าน่าจะทำได้เพราะในเครือสหพัฒน์มีฐานการผลิตที่ได้รับการยอมรับจากตลาดโลกทั้งที่ผลิตเองและรับจ้างผลิต มีศักยภาพในการผลิตพร้อมอยู่แล้ว อีกทั้งในด้านของราคาก็สามารถต่อสู้กับแบรนด์ต่างชาติได้ เพราะมีต้นทุนต่ำจากฐานผลิตของตัวเอง รวมไปถึงสามารถตอบสนองกลุ่มเป้าหมายในเอเชียได้ดีกว่าแบรนด์จากยุโรป

สำหรับแผนการบุกตลาดเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายนี้นั้น นายธรรมรัตน์ซึ่งดูแลเฉพาะแบรนด์บีเอสซีผู้ชายกล่าวว่า ยอดขายสำหรับบีเอสซีผู้ชายปีนี้คาดว่าจะมีประมาณ 100 ล้านบาท และตั้งเป้าปีหน้าเติบโต 50% หรือมีรายได้รวม เฉพาะกลุ่มผู้ชาย 150 ล้านบาท ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 3 ซับแบรนด์คือ บีเอสซี อีเอ็กซ์ เป็นเสื้อสูท เนคไท คนทำงาน, บีเอสซี 2001 เน้นกลุ่มวัยรุ่น, บีเอสซีแอคทีฟ เน้นกลุ่มเล่นกีฬา

โดยปีหน้ามีแผนที่จะขยายจุดจำหน่ายเพิ่มขึ้นด้วยงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีจุดขายที่เป็นเคาน์เตอร์ประมาณ 60 จุดที่ตั้งอยู่ในแผนกเสื้อผ้าแฟชั่นของห้างสรรพสินค้าต่างๆ แบ่งเป็นซับแบรนด์ บีเอสซี 2001 มากที่สุด 40 กว่าจุด บีเอสซีอีเอ็กซ์ประมาณ 10 กว่าจุด และบีเอสซีแอคทีฟประมาณ 10 กว่าจุด ล่าสุดคือ การเปิดจุดขายที่สยามพารากอน ซึ่งจะเป็นการรวมเอาทั้ง 3 ซับแบรนด์มารวมไว้ที่เดียวกัน เป็นแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกในเมืองไทยและของบีเอสซีผู้ชาย และตั้งงบการตลาดไว้ประมาณ 10 กว่าล้านบาท

นอกจากนั้นก็เป็นจุดขายที่เป็นชอปของบริษัทฯเองประกอบด้วย ร้านบีเอสซีที่เซ็นทรัลพระรามสาม ขายเฉพาะบีเอสซีผู้ชาย และอีกแห่งคือที่เซ็นทรัลกาดสวนแก้ว เชียงใหม่ ขายทั้งบีเอสซีผู้ชายและบีเอสซีผู้หญิง โดยระดับราคาสินค้าของบีเอสซีนั้นหากเป็นสูทจะอยู่ในระดับกว่า 7,000 บาทขึ้นไป หรือ เสื้อเชิ๊ตอยู่ในระดับ 1,000 กว่าบาทขึ้นไป จับกลุ่มเป้าหมายระดับบีบวกขึ้นไป โดยมีรายได้ประมาณ 20,000 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 50,0000 บาทต่อครอบครัวต่อเดือน

นายธรรมรัตน์  กล่าวด้วยว่า แนวทางการทำตลาดปีหน้าจะหันมาเน้นการทำแบบนิชมาร์เกตมากขึ้น จากเดิมที่ผ่านมาจะทำในแนวแมสมาร์เกต จะเน้นการทำซีอาร์เอ็มมากขึ้น เช่น การส่งจดหมายไปยังกลุ่มลูกค้าประจำเพื่อให้รับรู้ถึงข่าวคราวความเคลื่อนไหว ทั้งกิจกรรม การลดราคา0และแฟชั่นใหม่ๆที่ออกมา การร่วมสนุกกับสมาชิก หรือการทำตลาดผ่านคอล์เซ็นเตอร์ของบริษัทฯเองที่เพิ่งตั้งขึ้นมา ซึ่งบริษัทฯมีการทำโครงการ “His and Her” เพื่อเป็นศูนย์รวมของการพบปะระหว่างบริษัทฯกับลูกค้าของบริษัทฯทั้งหมดอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะบีเอสซีเท่านั้น จึงทำให้การทำซีอาร์เอ็มมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

ส่วนตลาดส่งออกนั้น มีการส่งออกไปบ้างเล็กน้อย แต่ยังไม่ได้เริ่มจริงจังมากนัก แต่คาดว่าในอนาคตคงจะมีการเปิดตลาดต่างประเทศมากกว่านี้ทั้งในรูปของการส่งไปขายหรือการแต่งตั้งเอเยนต์ เนื่องจากมีช่องทางพร้อมอยู่แล้วจากการทำตลาดสินค้าอื่นมากมาย

กำลังโหลดความคิดเห็น