"วีจีไอ โกลบอล มีเดีย" พลิกเกมรบ หาผู้เช่าพื้นที่ค้าปลีกบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ปรับกลยุทธ์ดันพื้นที่เช่าแบบคีออสเป็นหัวรบใหม่ เจาะกลุ่มธุรกิจ อาหาร เครื่องดื่มเป็นหลัก พร้อมปรับเงื่อนไขการเช่าและแยกทีมขายพื้นที่จากร้านถาวร ชี้ปีหน้ามีแผนที่จะผลักดันร้านค้าเปิดที่สถานีรองเพิ่มขึ้น
แหล่งข่าวจาก บริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด ผู้บริหารพื้นที่ร้านค้าปลีกและพื้นที่โฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผย กับ “ผู้จัดการรายวัน” ว่า ภายหลังจากที่บริษัทฯได้ปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดพื้นที่ค้าปลีกบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสใหม่ โดยเน้นการเปิดให้เช่าพื้นที่แบบคีออสมากขึ้น จากเดิมที่จะเปิดเช่าพื้นที่เป็นร้านค้าถาวรขนาดใหญ่เป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งได้มีการแยกทีมขายพื้นที่ออกจากกันโดยเฉพาะคือ ทีมขายพื้นที่ร้านค้าเช่าแบบเดิม กับทีมขายพื้นที่ร้านค้าเช่าแบบคีออส รวมกันประมาณ 8 คน โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้
ผลปรากฎว่า กลยุทธ์ดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะทำให้มีผู้สนใจรายใหม่ๆเข้ามาทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปีหน้าบริษัทฯจะเน้นกลยุทธ์นี้เป็นหลักต่อไปและจะทำการตลาดเต็มที่มากขึ้นกว่าปีนี้
ขณะเดียวกันในปีหน้ายังมีแผนที่จะพยายามมุ่งพัฒนาสถานีรองให้มีร้านค้าจำนวนมากเหมือนสถานีหลักด้วย ตามที่บริษัทฯได้จัดแบ่งไว้คือ สถานีหลักประกอบด้วย หมอชิต อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สยาม ศาลาแดง ชิดลม พร้อมพงศ์ อ่อนนุช ช่องนนทรี สนามกีฬา ส่วนที่เหลือก็เป็นสถานีรองๆลงมาเช่น พญาไท สะพานควาย เอกมัย ทองหล่อ พระโขนง ราชดำริ เพลินจิต ชิดลม นานา สุรศักดิ์ เป็นต้น พร้อมกับการเตรียมแผนจัดกิจกรรมบนสถานีบางแห่งที่มีศักยภาพที่สามารถทำได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดและสร้างความคึกคักให้กับพื้นที่ ซึ่งผู้เช่าพื้นที่ก็จะได้รับผลประโยชน์ไปด้วย
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับเงื่อนไขในการเช่าพื้นที่ก็มีการปรับเปลี่ยนด้วย เพื่อให้สามารถดึงดูดเจ้าของธุรกิจมาเปิดร้านค้าง่ายขึ้น โดยร้านค้าแบบคีออสนั้น มีเงื่อนไขให้เช่า 3 เดือนต่อ 3 เดือน สำหรับคีออส 1 ตู้หรือ พื้นที่ประมาณ 1-2 ตารางเมตร ราคาค่าเช่าตั้งแต่ 20,000-40,000 บาทต่อคีออสต่อเดือน โดยเก็บค่าเช่าล่วงหน้า 3 เดือนและมัดจำ 1 เดือน (จะคืนให้เมื่อครบสัญญา)
ขณะที่เงื่อนไขการเช่าแบบเดิมที่เป็นร้านขนาดใหญ่นั้น จะเก็บค่าเช่าเฉลี่ย 3,000-5,000 บาทต่อเดือนต่อตารางเมตร และจะเก็บค่าเช่าล่วงหน้า 1 เดือน เก็บค่ามัดจำ 3 เดือน ซึ่งขนาดของพื้นที่ที่ให้เช่านั้นจะมีหลากหลายเช่น 9, 12, 15, 18, 20, 30 กว่าตารางเมตรขึ้นไป
ทั้งนี้ การปรับใช้กลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ขณะนี้มีร้านค้าที่เข้ามาเช่าพื้นที่ในการเปิดร้านแบบคีออสเป็นจำนวนมาก ทั้งในสถานีหลักและสถานีรองหลายแห่ง ส่งผลให้พื้นที่ที่บริษัทฯได้รับสัมปทานมาจาก บริษัท บีทีเอส ประมาณ 6,000 ตารางเมตร จากจำนวนทั้งสิ้น 23 สถานี มีผู้เช่าพื้นที่แล้วรวมกันมากกว่า 70%
“ธุรกิจหลักของเราคือ การขายพื้นที่ให้ผู้สนใจมาเช่าเปิดธุรกิจ ต้องมีกลยุทธ์หลากหลายและปรับตัวตามสถานการณ์ที่จะดึงดูดให้เจาของธุรกิจมาเปิดร้านให้ได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีปัจจัยอื่นเข้ามามีบทบาทด้วย คือ ปริมาณผู้ใช้รถไฟฟ้าว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้ามีมากขึ้นโอกาสในการขายสินค้าของผู้เช่าก็มีมากขึ้น ก็จะเป็นแรงดึงดูดให้มาเช่าพื้นที่มากขึ้นนั่นเอง ซึ่งเวลานี้ ปริมาณผู้ใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสเฉลี่ยมากที่สุดเกือบ 5 แสนคนต่อวันแล้ว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก”
อย่างไรก็ตาม จากการปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดนี้ เป็นเหตุผลมาจากการที่ รถไฟฟ้าใต้ดินได้เปิดบริการเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้หรือไม่ โดยจะต้องมีการปรับตัวเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากที่จะมีร้านค้าย้ายไปเปิดร้านที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหรือไม่นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน แต่การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์นั้นมีสาเหตุหลักมาจากต้องการที่จะเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการธุรกิจมากกว่า
ร้านค้าใหม่เช่าพื้นที่เพียบ
สำหรับร้านค้าใหม่ๆที่เข้ามาเช่าพื้นที่แบบคีออสซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น เครื่องดื่ม อาหาร เป็นหลัก เช่น ยูนิฟ (จำนวนหลายสถานี), โออิชิ (จำนวนหลายสถานี), เซนชะ( 3 สถานี), พรานทะเล ( 6 สถานี), ร้านสุนทรา (15 สถานี และมีร้านแบบถาวร 2 สถานีที่พร้อมพงศ์และหมอชิต), ร้านพิซซ่าสปิคิโอ (หลายสถานีและมีร้านถาวรอีก 4 สถานีที่ หมอชิต, ศาลาแดง,สนามกีฬา, พญาไท), ร้านกรีนมิวสิค (มีร้านถาวร 2 จุดที่ ชิดลม, ศาลาแดง และมีร้านแบบคีออสอีกมากเช่น พร้อมพงศ์ ,ศาลาแดง, สนามกีฬา, อโศก, สยาม เป็นต้น) โรงแรมวินด์เซอร์เปิดร้านเบเกอรี่ (ศาลาแดง,สนามกีฬา,ชิดลม)
ขณะที่ผู้เช่ารายใหญ่ที่เช่าพื้นที่แบบเป็นร้านถาวรเช่น แบงก์เอเชีย (หมอชิต,อ่อนนุช,พร้อมพงศ์), ร้านแบล็คแคนยอน (สยาม, สนามกีฬา,พร้อมพงศ์), ร้านอีซี่ส์บาย (สนามกีฬา, ชิดลม, อโศก, พร้อมพงศ์, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, ศาลาแดง), ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น (สยาม, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, หมอชิต), ร้านฟาสเตอร์บุ๊ค (เกือบทุกสถานี แต่ไม่มีที่สนามเป้า, พระโขนง, ตากสิน), ร้านจีอีแคปปิตอล (ทุกสถานีที่ไม่ซ้ำกับสถานีที่มีร้านอีซี่ส์บาย)
ร้านแมงป่อง ( อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, ชิดลม, ศาลาแดง, อ่อนนุช, อโศก,ช่องนนทรี, สุรศักดิ์, พร้อมพงศ์), ร้านเจมาร์ท ( สนามกีฬา,ชิดลม,นานา, อโศก, พร้อมพงศ์, อ่อนนุช, ศาลาแดง,อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, หมอชิต), ร้านยามาซากิ (พร้อมพงศ์, หมอชิต, ศาลาแดง, อ่อนนุช), ร้านวัตสัน (สนามกีฬา, พร้อมพงศ์, ทองหล่อ, อ่อนนุช, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, ช่องนนทรี, หมอชิต), ร้านดับเบิ้ลกูส (สยาม,อโศก, อ่อนนุช, อารีย์, หมอชิต, ศาลาแดง)
ส่วนร้านค้าใหม่ๆที่เพิ่งเข้ามาเช้าพื้นที่ในรูปแบบร้านถาวรเช่น แบงก์ทหารไทย (สนามกีฬา, พร้อมพงศ์, ชิดลม), แบงก์นครหลวงไทย (พร้อมพงศ์), ร้านบ้านใร่กาแฟ (มีร้านแบบถาวรเช่น สนามกีฬา,ชิดลม และยังมีแบบคีออสอีกเช่น พญาไท เป็นต้น, ร้านกาแฟอะคาเฟ่ (เปิดร้านแบบคีออสที่ อโศก, พร้อมพงศ์, ทองหล่อ, เอกมัย, สุรศักดิ์)
นอกนั้นก็จะมีร้านใหม่ๆ เช่น บูมมิ่งสปา ที่ชิดลม ร้านอิศเรศ ที่สนามกีฬา, ศาลาแดง, ชิดลม, หมอชิต, พร้อมพงศ์ ร้านควิกแอนด์อีซี่ส์ ที่พญาไท เคทีซีที่ชิดลม, ศาลาแดง และสถาบันแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ ที่ราชดำริ เป็นต้น (ทั้งนี้ข้อมูลจำนวนร้านเป็นข้อมูลล่าสุดเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2548 ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย)