xs
xsm
sm
md
lg

ปัจจัยในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การตลาดคือการแข่งขัน ดังนั้นผู้ที่จะชนะจะต้องรู้จักสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เริ่มต้นจากการมีทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการแข่งขันที่เหนือกว่าคนอื่น ทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรจะต้องมีคุณภาพกว่าทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรอื่น เป็นคนมีความรู้ เป็นคนมีทักษะในการทำงาน เป็นคนเก่ง เป็นคนมีทัศนคติในการทำงานที่ดี เป็นคนมีค่านิยมในการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นคนมีวินัยในการทำงานโดยไม่ต้องมีคนคอยควบคุม เป็นคนที่สามารถกระตุ้นตนเองให้ทำงานโดยไม่ต้องมีใครคอยจี้ เป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ เป็นคนมีวิญญาณบริการ เป็นคนมีทักษะมนุษย์หรือความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆได้ดี เป็นคนที่มีความสุขกับการทำงาน พร้อมที่จะทำงานด้วยความทุ่มเทสุดกำลังความสามารถที่มี

ในปัจจุบัน ทรัพยากรมนุษย์อย่างที่ว่านี้หายากเต็มที เพราะคนสมัยนี้หลายคนทำงานเพื่อหารายได้เพื่อยังชีพเท่านั้น ไม่ได้ทำงานเพื่อแสดงศักยภาพของตนเองให้คนอื่นเห็นความมีค่าของตนเอง หลายคนทำงานเพื่อให้เสร็จเท่านั้น แต่ไม่มีคำว่าคุณภาพอยู่ในหัวใจ หลายคนเป็นคนติดสุข ชอบความสนุกสนาน ไม่เคยจริงจังกับชีวิต ไม่เห็นความสำคัญของการสร้างผลงานใดๆที่จะทำให้ตนเองเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น องค์กรใดได้ทรัพยากรมนุษย์ที่ไร้คุณภาพไว้ทำงานด้วย ก็จะเสียเปรียบในการแข่งขันทันที เพราะทรัพยากรมนุษย์ถือได้ว่าเป็นพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ชัยชนะ

ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบันจะต้องทำงานแบบมืออาชีพ ตั้งแต่การรับสมัครพนักงาน การคัดเลือกพนักงาน การจัดฝึกอบรมพนักงาน การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง การสร้างวิญญาณของการทำงานเป็นหมู่คณะอย่างมีเอกภาพ และการสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน และมีความภักดีกับองค์กร และต้องมีความสามารถในการจะรักษาพนักงานที่มีคุณภาพให้อยู่ทำงานกับองค์กรด้วยความสุขตลอดไป การทำให้พนักงานมีความสุขนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะการตลาดคือการสร้างความพึงพอใจให้ผู้บริโภค ถ้าพนักงานของเราไม่มีความสุข ไม่มีความพึงพอใจ แล้วเขาจะสร้างความสุข ความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคได้อย่างไร ผู้บริหารจะต้องตระหนักว่า เราไม่มีทางที่จะมีลูกค้าที่มีความสุขถ้าหากพนักงานของเรายังไม่มีความสุข ผู้บริหารที่คิดแต่จะเอาใจลูกค้า แต่ลืมที่จะเอาใจพนักงานก็ไม่อาจประสบความสำเร็จในการเอาใจลูกค้าได้

นอกจากการมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพมากกว่าแล้ว ชัยชนะทางการตลาดต้องอาศัยทรัพยากรทางการเงิน ทางด้านเทคโนโลยี และทางด้านภูมิปัญญาด้วย การทำการตลาดให้ชนะต้องมีเงินลงทุนและเงินหมุนเวียนที่มากพอที่จะต่อสู้กับคู่แข่งที่เป็นเป้าหมาย นักธุรกิจหลายคนพลาดท่าก็เพราะคิดถึงแต่เงินในการลงทุน แต่ไม่คิดถึงเงินหมุนเวียนที่ต้องใช้ในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินทุนที่ต้องใช้ในการทำการตลาด เราจึงเห็นธุรกิจที่ขาดการตลาด ไม่มีกิจกรรมการตลาด ไม่มีการสื่อสารการตลาด สินค้าดีๆที่ขาดกิจกรรมการตลาดสนับสนุนก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น อย่าคิดเพียงแค่เงินลงทุนในการก่อตั้งธุรกิจ ต้องคิดถึงเงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจและงบประมาณทางการตลาดที่สามารถทำกิจกรรมการตลาดในระดับที่จะทำให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายรู้จักสินค้าของเรา ชื่นชมสินค้าของเรา และชอบสินค้าของเรามากกว่าสินค้าของคู่แข่ง

มีเงินแต่ไร้เทคโนโลยีที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจ หรือไร้ภูมิปัญญา เงินที่มีก็ไม่มีความหมายอะไร ประเทศไทยเราแข่งขันทางการตลาดกับประเทศคู่แข่งไม่ได้ก็เพราะเราขาดการพัฒนาเทคโนโลยีของเราเอง และเราขาดภูมิปัญญาใหม่ๆ ทำให้เราสูญเสียโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมที่จะทำให้เรามีสินค้าที่แตกต่างจากสินค้าของคู่แข่ง ถ้าจะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาดให้ประเทศไทย เราจะต้องมีการลงทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยี เราจะต้องพัฒนาภูมิปัญญาให้เป็นทรัพยากรของชาติ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆที่จะทำให้สินค้าของเรามีความแตกต่างที่ชัดเจน ดูเหมือนปัจจัยข้อนี้ เป็นปัญหาที่บั่นทอนศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาดของประเทศไทยอย่างมาก เรายังขาดเทคโนโลยีของเราเอง เรายังขาดภูมิปัญญาสมัยใหม่ที่จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่จะก่อให้เกิดสินค้าและบริการใหม่ๆ

อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นที่มาของความได้เปรียบในการแข่งขันก็คือความสามารถด้านการจัดการ การจัดการคือการบริหารทรัพยากรที่มีจำกัดให้เป็นประโยชน์สูงสุดในการดำเนินงานขององค์กร และเป็นการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้และภูมิหลังแตกต่างกันให้สามารถทำงานร่วมกันไปสู่เป้าหมายเดียวกันอย่างราบรื่น ประเทศใดมีผู้บริหารที่มีความสามารถในการจัดการตามนิยามดังกล่าว จะสามารถใช้ทรัพยากรขององค์กรให้ได้ประโยชน์สูงสุด และจะได้ผลงานที่ดีจากการรวมพลังของคนที่มีความสามารถแตกต่างกัน แต่เรียนรู้ที่จะเติมเต็มให้ซึ่งกันและกันอย่างมีเอกภาพ ย่อมก่อให้เกิดผลงานที่ดีทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ

ผู้บริหารในประเทศไทยหลายคนยังขาดความสามารถในการสื่อสารที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานทุ่มเทความรู้ความสามารถในการทำงานอย่างมีความสุข รู้สึกว่าความต้องการทำงานให้สำเร็จเกิดจากความสมัครใจที่เกิดขึ้นข้างใน ไม่ใช่การถูกบีบบังคับให้ทำงานจากผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจมากกว่า พนักงานที่ทุ่มเททำงานด้วยความเต็มใจ ย่อมมีความสุขในการทำงาน ย่อมสร้างผลงานได้มากกว่า และดีกว่า ทำให้ลดต้นทุนในการทำงานเพราะมีผลิตภาพที่ดีกว่าคู่แข่ง ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะต้องเรียนรู้การจัดการสมัยใหม่ที่ใช้ "การนำ" แทน "การจัดการ" ใช้การ "จูงใจ" แทนการ "ออกคำสั่ง" ใช้การ "พูดคุย" แทน "การบังคับบัญชา"
หากผู้บริหารมีทักษะของการเป็นผู้นำที่ดีตามแนวทางของการจัดการสมัยใหม่ และมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพร่วมทำงานด้วย โดยไม่ขัดสนด้านงบประมาณการตลาด เขาย่อมมีโอกาสในการเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้ดีกว่าผู้บริหารที่ไร้ทักษะในการเป็นผู้นำที่ดี

 

เขียนโดย  :  รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
กำลังโหลดความคิดเห็น