xs
xsm
sm
md
lg

"พงษ์ศักดิ์" สั่ง สบพ.วางยุทธศาสตร์ดันไทยเป็นฮับการบินครบวงจร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมว.คมนาคม สั่ง สบพ. วางยุทธศาสตร์เน้นสร้างศูนย์กลางการบินครบวงจรในประเทศไทย ทั้งตลาดซ่อมบำรุงเครื่องบิน-ชิ้นส่วนประกอบ หวังชิงส่วนแบ่งตลาดสิงคโปร์ ขณะที่ สบพ. เตรียมยกระดับแปรสภาพเป็นศูนย์ฝึก-บริษัทจำกัด เพิ่มความคล่องตัวบริหารงานและมุ่งพัฒนาบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมการบิน

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) จัดทำสรุปภาพรวมยุทธศาสตร์การพัฒนา สบพ. ระหว่างปี 2548-2552 เพื่อนำมาใช้วางแนวทางผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชีย ที่จะสามารถครอบคลุมทั้งในเรื่องของการพัฒนาบุคลากร การให้บริการเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และการเป็นศูนย์กลางการบริการช่างอากาศยานและซ่อมเครื่อง ซึ่งจะเป็นแผนการให้บริการที่ครบวงจรสำหรับอุตสาหกรรมการบิน เพื่อรองรับสายการบินต่างประเทศที่เข้ามาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินเชิงพาณิชย์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเตรียมจะเปิดให้บริการในปี 2549

“ปัจจุบัน ตลาดซ่อมบำรุงเครื่องบินและชิ้นส่วน จะอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์เป็นหลัก โดยมีมูลค่าตลาดกว่าแสนล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไทยมีโอกาสที่จะเข้าไปชิงส่วนแบ่งตลาดตรงจุดนี้ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ได้ เนื่องจากไทยมีความพร้อมด้านทำเลที่ตั้งและการเปิดเสรีน่านฟ้า แต่จำเป็นต้องจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อพิจารณาการนำงบประมาณมาใช้ในการปรับปรุงเครื่องมือ และอุปกรณ์ให้ทันสมัย อีกทั้งต้องเน้นเพิ่มขีดความสามารถของนักบิน บุคลากรภาคบริการในสายการบินของไทยทั้งหมด โดย สบพ. ในฐานะที่ได้รับการรับรองจากสถาบันการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) จำเป็นที่จะต้องวางแผนงานเร่งด่วนทั้งในด้านของการปรับองค์กรใหม่ให้มีความคล่องตัวในการทำงาน ที่สำคัญคือ ต้องสามารถดึงหน่วยงานจากต่างประเทศเข้ามาถ่ายทอดในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี อะไหล่และชิ้นส่วน” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ในส่วนโครงสร้างการบริหารงานตามแผนยุทธศาสตร์ สบพ. ได้วางแผนที่จะมีการแปรสภาพเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านการเป็นศูนย์ฝึกและบริษัทจำกัด ซึ่งได้เห็นชอบโดยหลักการแล้ว เนื่องจากเห็นว่าการแปรสภาพเป็นเอกชนจะเกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน และสามารถดำเนินธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้เข้าองค์กร ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายทางด้านการพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากร โดยเฉพาะในส่วนที่มีการจัดส่งบุคลากรไปฝึกอบรมต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ขณะนี้ สบพ. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สบพ. กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ 2 แห่ง ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัย Massey University ประเทศนิวซีแลนด์ และ 2. มหาวิทยาลัย Royal Melbourne Institute of Technology [RMIT] ประเทศออสเตรเลีย เพื่อแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน พัฒนาหลักสูตรการบิน และการจัดส่งนักศึกษาไทยไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยดังกล่าว เพื่อเพิ่มทักษะเฉพาะด้านการบินและในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการบริการต้อนรับภายในท่าอากาศยาน
กำลังโหลดความคิดเห็น