xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เลี้ยงกุ้งยุส่ง!! ฟ้องกลับมะกันเก็บภาษีซ้ำซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ทักษิณ” ชี้เอดีกุ้งสหรัฐฯ ไม่มีผล เชื่อยังแข่งขันในตลาดสหรัฐฯได้เนื่องจากยังมีอัตราภาษีต่ำกว่าประเทศอื่น ขณะที่ “นายกสมาคมกุ้งไทย” เสนอรัฐฟ้องสหรัฐฯ เก็บเอดีเข้าข่ายภาษีซ้ำซ้อน เช่นเดียวกับอินเดีย ด้าน “สมคิด” ร้องแยกประเด็นไทยส่งออกกุ้งเพิ่มขึ้นจากการพิจารณายกเลิกเอดี

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “นายกฯ ทักษิณ พบสื่อมวลชน” กล่าวถึงกรณีสหรัฐฯไม่ยกเลิกเอดีสินค้ากุ้งของไทยว่า จากรายงานทราบเหตุผลว่าสหรัฐฯ ยอมรับถึงภัยพิบัติสึนามิได้ส่งผลกระทบต่อแหล่งผลิตกุ้งของไทยจริง แต่เนื่องจากอัตราเอดีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากสินค้ากุ้งของไทยยังต่ำกว่าหลายประเทศ รวมทั้งยอดการส่งออกกุ้งของไทยในตลาดสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก รวมทั้งสหรัฐเองก็ประสบภัยพิบัติภายุเฮอริเคนแคทรีนาในแหล่งผลิตกุ้งสำคัญ จึงเห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องยกเลิกเอดีสินค้ากุ้งให้ไทย แต่แม้กุ้งไทยจะยังถูกเอดี แต่ก็มีอัตราภาษีต่ำกว่าประเทศอื่นและยังสามารถแข่งขันได้

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวในรายการ “ภาษาเศรษฐกิจ” ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี ในกรณีเดียวกันว่า ภาคเอกชนผิดหวังกับท่าทีของสหรัฐฯ ครั้งนี้ เพราะสหรัฐฯเป็นผู้พิจารณาเองว่าจะช่วยเหลือประเทศไทย จึงถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ไทยจะต้องพิจารณาและควรจะมีความเข้มข้นขึ้นหากมีการเจรจาการค้าหรือเปิดเสรีการค้าอะไรกับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม หากมองอีกแง่หนึ่ง ถือว่าสหรัฐฯเข้าข่ายเก็บภาษีซ้ำซ้อน สำหรับสินค้ากุ้งจากไทย แม้จะเป็นการเก็บเอดีจากผู้นำเข้า แต่ผู้นำเข้าก็ผลักภาระมาให้ผู้ส่งออกกุ้งอยู่ดี ดังนั้น ไทยควรจะพิจารณาว่าจะมีการฟ้องสหรัฐฯว่าเก็บภาษีซ้ำซ้อนเช่นเดียวกับอินเดียที่ฟ้องไปแล้วหรือไม่

นายสมศักดิ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาตลาดกุ้งส่งออกของไทยในสหรัฐฯ ว่า แม้กุ้งของไทยจะยังมีเอดีอยู่ แต่ก็ยังถือว่าแข่งขันได้และขยายตัวอยู่ ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์การส่งออกสินค้ากุ้งของไทย จะต้องหาตลาดอื่นทดแทนมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป (อียู) หลังจากไทยได้คืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ทำให้การส่งออกกุ้งขยายตัวมากขึ้น

นางสมรักษ์ เมธีปรีชากุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กูดลัก โปรดักส์ กล่าวว่า กรณีที่สหรัฐประกาศไม่ยกเลิกเอดีกุ้งให้ไทย กระทบต่อการส่งออกกุ้งของภาคเอกชนไปตลาดสหรัฐ แม้ว่าทางบริษัทจะเป็นบริษัทเล็ก ซึ่งแต่ละปีส่งออกกุ้งไปตลาดสหรัฐมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่จากมาตรการเอดีดังกล่าวทำให้ต้นทุนของบริษัทสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่ไม่ถูกเรียกเก็บเอดี เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเสียค่าธรรมเนียมในการส่งสินค้ากุ้งเข้าตลาดสหรัฐฯ ประมาณ 30-50 บาท ขณะที่บริษัทของไทยที่ถูกเรียกเก็บเอดีกุ้งร้อยละ 5.95 ทำให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกกุ้งไปตลาดสหรัฐฯ โดยเสียค่าธรรมเนียมและค่าภาษีเอดี และอื่นๆ ถึง 110-120 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สูง ดังนั้น หากสหรัฐไม่ได้ประกาศยกเลิกเอดี ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม อยากเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาในเรื่องการวางเงินค้ำประกัน เพื่อลดภาระให้กับผู้ประกอบการ เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากที่ส่งกุ้งเข้าตลาดสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบและภาคเอกชน คงจะมีการหารือกันเพื่อหาหนทางลดภาระต่อไป

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐ ประกาศผลการพิจารณาไม่ยกเลิกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้ง หรือเอดีสินค้ากุ้ง ให้กับประเทศที่ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ ในช่วงปลายปี 2547 ที่ผ่านมา ทั้งที่สหรัฐฯได้รับปากว่าจะช่วยเหลือไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ไทยรู้สึกผิดหวังต่อการประกาศของสหรัฐ และได้รับรายงานเรื่องนี้แล้ว พร้อมได้รายงานให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อทราบแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็รู้สึกผิดหวังเช่นกัน

เชื่อว่าเหตุผลหลักที่สหรัฐไม่ยอมประกาศยกเลิกเอดีกุ้งไทย คิดว่าเกิดจากปัญหาที่มีบางรัฐของสหรัฐฯ เกิดพายุถล่ม และกระทบต่อผู้เลี้ยงกุ้งในสหรัฐฯเอง จึงเป็นเหตุผลที่ไม่มีการยกเลิก แต่เรื่องนี้ได้สั่งการให้นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ทำหนังสือแจ้งไปยังสหรัฐฯ เพื่อคงเรียกร้องให้ทบทวนเรื่องนี้ และควรที่จะยกเลิกเอดีกุ้งของไทยต่อไป

นายสมคิด ระบุว่า สหรัฐฯไม่ควรมองว่า เมื่อประเทศไทยส่งออกกุ้งได้สูงขึ้น จึงไม่ควรที่จะมีการทบทวนหรือยกเลิกเอดีกุ้ง เพราะถือเป็นคนละประเด็นกัน การที่ไทยส่งออกกุ้งได้มากขึ้นในช่วงนี้เป็นผลจากการเดินหน้าผลักดันการส่งออกกุ้งไทยให้สูงขึ้นของภาครัฐและเอกชน ดังนั้น จึงต้องการให้สหรัฐฯทำความเข้าใจในเรื่องนี้ และไทยจะแจ้งรายละเอียดดังกล่าวให้สหรัฐฯทราบ ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีของไทย ระบุว่า ถึงแม้จะผิดหวัง แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะจะพยายามทำให้ดีที่สุด ส่วนการจะใช้มาตรการตอบโต้หรือไม่ ยังไม่สมควรที่จะพูดอะไรออกไป เพราะคงต้องรอสหรัฐฯว่าจะประกาศทบทวนหรือไม่

“เราขายกุ้งได้มาก ไม่ได้เกี่ยวกับการพิจารณาทบทวนเอดี เพราะถือเป็นคนละเรื่อง ซึ่งไทยและเอกชนเป็นผู้ที่ช่วยกันผลักดันหาตลาดการส่งออกที่ได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไทยไม่ได้ง้อสหรัฐที่จะให้ยกเลิกเอดีกุ้ง แต่เป็นเรื่องที่สหรัฐเป็นคนออกมาพูดว่าจะทบทวนให้เอดีกุ้งกับประเทศที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ดังนั้น จึงขอยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ได้ง้อ แต่เป็นเรื่องของความถูกต้องมากกว่า” นายสมคิด กล่าว

ประมวล"ทักษิณพบสื่อมวลชน" รายสัปดาห์
กำลังโหลดความคิดเห็น