รมว.คลัง สั่ง สศค.และ ธปท.หารือร่วมกัน เพื่อหาทางให้สถาบันการเงินทุกแห่งตัดเอ็นพีแอลออกจากตัว เพื่อให้มีความคล่องตัวและปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น
นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหาแนวทางหรือยกร่างระเบียบที่จะให้สถาบันการเงินทุกแห่งสามารถตัดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่สะสมมาเป็นเวลานานออกจากสถาบันการเงินได้ เพื่อให้สถาบันการเงินมีความคล่องตัวและสามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลกับการสำรองหนี้สงสัยจะสูญ เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา สถาบันการเงินอาจไม่มีเวลาไปดูแลสินเชื่อรายเล็กรายย่อย จนทำให้เกิดการคั่งค้างสะสมเอ็นพีแอลมาเป็นเวลานาน ซึ่งถึงเวลาที่ต้องจัดระเบียบสินเชื่อคั่งค้างเหล่านี้ให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น หรือคลีนอัพ (clean up) เพื่อเพิ่มเครดิตหรือความน่าเชื่อถือให้กับสถาบันการเงินเอง ซึ่งตัวสถาบันการเงินเองต้องไม่เก็บหนี้เสียไว้ในบัญชีให้นานเกินไป ดังนั้น จึงต้องหาแนวทางที่จะปลดล็อกหรือทำให้สถาบันการเงินคล่องตัวโดยการตัดหนี้สะสมออกไป
“เช่นเดียวกับหนี้เอ็นพีแอลที่รัฐบาลได้จัดทำโครงการแก้หนี้ภาคประชาชนรายย่อยที่มียอดหนี้เงินต้นคงค้างเพียงแค่ 7,000 ล้านบาท แต่มีดอกเบี้ยมากถึง 22,000 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นหนี้ที่สะสมมานานกว่า 10 ปี เพราะดอกเบี้ยเพิ่มไปถึง 300% และเป็นดอกเบี้ยที่ค้างอยู่นานแล้ว และยอมรับว่าศาลเองอาจมีเรื่องพิจารณามากจึงทำให้ทั้งสถาบันการเงินและศาลไม่มีเวลาในการพิจารณา”
นายทนง กล่าวว่า การปรับหนี้ประชาชนรายย่อยครั้งนี้ เป็นเพียงการดูแลช่วยเหลือประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่เป็นนโยบายประชานิยมอย่างที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น ใครจะพูดอย่างไรก็ยังขอยืนยันในหลักการที่ได้ชี้แจงไปก่อนหน้านี้แล้ว และทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งในรายละเอียดทั้งหมดยังอยู่ระหว่างดำเนินการ เชื่อว่าจะแล้วเสร็จภาย ในสัปดาห์นี้