เมโทรมอลล์เร่งเครื่องสรุปรายชื่อร้านค้าย่อย 200 ราย จากลิสต์กว่า 1,500 รายที่ยื่นเรื่องเข้ามา หลังสรุปรายใหญ่ที่เป็นเชนไปเรียบร้อยแล้ว เผยตั้งทีมฝ่ายการตลาดเพื่อดูแลรายย่อย หวังช่วยผลักดันธุรกิจให้โตและแข็งแกร่ง เน้นธุรกิจที่มีไอเดียแหวกแนว
นายคุณานันท์ ทยายุทธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เมโทรมอลล์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้บริหารพื้นที่ค้าปลีกในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการร้านค้าปลีกระดับรายย่อยถึงรายกลาง ที่จะเข้ามาเช่าพื้นที่ค้าปลีกของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน หลังจากที่ในส่วนของผู้เช่าค้าปลีกรายใหญ่ได้มีการพิจารณาไปเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้บริษัทฯกำหนดจำนวนร้านค้าปลีกรายย่อยประมาณ 200 ราย เนื่องจากมีปริมาณพื้นที่รองรับได้เท่านี้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีจำนวนรายชื่อผู้ที่สนใจเสนอรายชื่อเพื่อเช่าพื้นที่จำนวนมากกว่า 1,500 รายก็ตาม โดยมีพื้นที่รองรับกลุ่มนี้ประมาณ 40% จากปริมาณพื้นที่ค้าปลีกทั้งหมดที่บริษัทฯรับสัมปทานมาจำนวน 12,720 ตารางเมตร ซึ่งขนาดของพื้นที่ของร้านค้ารายย่อยนี้จะมีประมาณ 10 ตารางเมตรขึ้นไป และค่าเช่าก็จะคิดเท่ากับรายใหญ่คือ 3,000 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน
ขณะที่พื้นที่จำนวน 60% นั้นจะเป็นของร้านค้าปลีกที่เป็นเชนหรือรายใหญ่ ซึ่งขณะนี้มีเอกชนรายใหญ่จำนวนมากกว่า 25 รายเข้ามาเช่าพื้นที่เรียบร้อยหมดแล้วประมาณ 524 ร้านค้า ซึ่งบางรายก็มีหลายสาขา แต่บางรายก็มีเพียงสาขาเดียว
"ในส่วนของร้านค้ารายย่อยนี้เราให้ความสำคัญอย่างมากในแง่ของการช่วยเหลือเพื่อที่จะสร้างธุรกิจให้เติบโตและแข็งแกร่ง จริงๆแล้วตอนนี้เราเพิ่งสรุปกันมาได้ไม่มากประมาณ 10 กว่ารายเท่านั้นเอง ซึ่งประเภทของธุรกิจรายย่อยเหล่านี้ เรามุ่งเน้นไปที่ ธุรกิจใหม่ๆ มีไอเดียใหม่ๆ หรือไม่ก็เป็นธุรกิจพวกร้านกิ๊ฟชอป เป็นต้น โดยมีพื้นที่เฉลี่ย 10-12 ตารางเมตรต่อร้าน"
โดยทางบริษัทฯได้ตั้งฝ่ายส่งเสริมการตลาดให้กับรายย่อย ซึ่งเพิ่งตั้งไม่นานนี้เอง โดยฝ่ายนี้จะเข้ามาทำหน้าที่ทั้งในแง่ของการตลาด การร่วมมือกับในการพัฒนาธุรกิจ การให้คำปรึกษารวมไปถึงการแก้ไขปัญหาร่วมกันในอนาคต เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านี้กลุ่มนี้จะมีหลากหลายเท่าที่อยู่ระหว่างการเจรจา จะมีทั้งผู้ที่ทำธุรกิจมานานแต่ไม่ได้มีการขยายสาขาทางด้านร้านค้าปลีกมากนัก หรือบางรายก็จะเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นมาใหม่ บางรายก็เป็นเอสเอ็มอี ซึ่งยังอาจจะขาดประสบการณ์ ฝ่ายฯนี้จึงพร้อมที่จะให้คำปรึกษา
อย่างไรก็ตามมีผู้ประกอบการร้านค้าปลีกระดับกลางและรายย่อยบางราย ที่ได้มีการเปิดร้านค้าไปบ้างแล้ว รวมทั้งได้มีการเซ็นสัญญาเช่าพื้นที่ไปบ้างแล้วแต่ยังไม่ได้เปิดบริการเช่นกัน เช่น ร้านโดลเซ่ ซึ่งเป็นร้านแรกที่จำหน่ายเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ความงามบางอย่าง เปิดร้านแรกที่สถานีสุขุมวิท และเตรียมที่จะเปิดต่ออีกที่สถานีพหลโยธินและสถานีจตุจักร ร้านซาลวิโอ ซึ่งถือเป็นร้านใหม่ที่เกิดขึ้น เป็นของกลุ่มสยามคูโบต้า
นอกนั้นแล้วก็ยังมีร้านค้าที่เป็นของธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาเปิดเพิ่มขึ้นในสถานีสุขุมวิทซึ่งเป็นสถานที่เปิดให้บริการพื้นที่ร้านค้าปลีกแห่งแรกเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา จากเดิมก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ได้พื้นที่ในสถานีแห่งนี้เช่น ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จากเดิมที่มีเพียงสาขาอื่น
สำหรับสถานีสุขุมวิทซึ่งเป็นสถานีแรกที่เปิดให้บริการพื้นที่ร้านค้าปลีกแล้วตั้งแต่วันที่ 9 กันยายนนั้นมีพื้นที่ร้านค้าปลีกรวม 759 ตร.ม. จำนวนร้านค้ารวม 22 ร้าน แบ่งเป็น กลุ่มธุรกิจสะดวกซื้อ คือ เซเว่น อีเลฟเว่น แต่ยังไม่ได้เปิดบริการในช่วงการเปิดตัวเป็นทางการเมื่อต้นเดือนนี้ กลุ่มธนาคาร คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ กลุ่มธุรกิจไอที-สื่อสาร เช่น ทรูคอฟฟี่ กลุ่มธุรกิจหนังสือ คือ ซีเอ็ด กลุ่มสถาบันการเงิน คือ อีซี่ บายและ บัตรเคทีซี
กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เช่น อานตี้แอนส์,เนสท์เล่ และแดรี่ ควีน เป็นต้น ส่วนร้านน้ำผลไม้และเบเกอรี่ Chic Shake ของฝรั่งเศสและ พรานทะเล และกลุ่มร้านค้าต่างๆ คือ ร้านยา Salveo, ร้านแว่นตาและเครื่องสำอาง SY Subway, ร้านตัดผมไม่ใช้น้ำ QB House, ร้านเครื่องประดับและผลิตภัณฑ์รักษาเครื่องประดับ Dol'ce, ร้านทอง Aurora, ร้านเพลง mm'G และ เครื่องครัวสแตนเลสสตีลตรานกนางนวล (Seagull Store)
โดยบริษัทฯตั้งงบประมาณการตลาดจำนวน 200 ล้านบาท นับตั้งแต่การเปิดบริการสถานีแรกจนกระทั่งสามารถเปิดบริการได้ครบทุกสถานี ซึ่งในช่วงถึงสิ้นปีนี้จะเปิดบริการพื้นที่ค้าปลีกอีก 2 สถานีคือ พหลโยธินและจตุจักร