“สมคิด”ระบุหน่วยงานรัฐไม่เร่งแก้อุปสรรคทำให้โครงการครัวไทยสู่โลกไม่คืบหน้า สั่งเอสเอ็มอีแบงก์เร่งปล่อยสินเชื่อ และให้รวมสัญลักษณ์ส่งเสริมให้เหลือเพียงตราเดียวเท่านั้น มั่นใจเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นจะส่งเสริมโครงการนี้มากยิ่งขึ้น พร้อมวางเป้ายกระดับอุตสาหกรรมกุ้งให้เข้มแข็งเร่งสร้างคลัสเตอร์ของกุ้งโดยเร็ว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายลัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการพัฒนาอาหารไทยและครัวไทยสู่โลก ครั้งที่ 2/2548 ว่า เท่าที่ได้รับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากสถาบันอาหารไทยและหน่วยงานต่าง ๆ เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าเบื่อและเหนื่อยมีการพูดจาซ้ำซาก แนวทางจะต้องเดินหน้า ปัญหาส่วนใหญ่วนเวียนเรื่องเดิม ๆ เช่น กรณีที่ได้รับงบประมาณจัดสรร 500 ล้านบาท ที่จะใช้ในปี 2547-2549 แต่เพิ่งจะได้รับงบฯ เต็มจำนวน 500 จำนวน ในเดือนสิงหาคม 2548 ดังนั้น หากจะมีการพัฒนาร้านอาหารไทยและครัวไทยสู่โลกเงินงบประมาณที่ขอไว้จะต้องใช้ให้หมด เพื่อให้งานต่าง ๆ เดินหน้า
นายสมคิด กล่าวว่า ที่ผ่านมาข้าราชการมีคนเก่งอยู่มาก แต่ส่วนใหญ่จะกลัวหากทำไปแล้วผิดพลาดก็จะถูกตำหนิ ซึ่งหากคิดอย่างนี้ถือว่าผิด เพราะงานจะเดินได้จะต้องเดินหน้าทำงาน มีปัญหาก็จะต้องนำเสนอเพื่อให้งานเดินหน้า ดังนั้น จึงได้ฝากคณะกรรมการฯ จะต้องไปปรับบทบาทการทำงานร่วมกันใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ทำอย่างไรที่จะส่งเสริมร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กับสถาบันอาหารไทยฯ จะต้องร่วมมือกัน โดยทางเอสเอ็มอีแบงก์จะสนับสนุนด้านสินเชื่อ เพื่อให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศเพิ่มขึ้นและที่สำคัญอย่ามองเพียงแค่ส่งเสริมพ่อครัวและแม่ครัวไทย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนไทยเท่านั้น ควรเป็นคนท้องถิ่นในประเทศนั้น ๆ ให้มาเรียนอาหารไทย เพื่อกระจายร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งได้สั่งการให้สถาบันอาหารและเอสเอ็มอีแบงก์ไปกำหนดแผนว่าจะให้สินเชื่อหรือคิดอัตราดอกเบี้ยที่จะกระจายร้านอาหารไทยในปี 2549 จำนวนมากน้อยขนาดไหน แม้ปัจจุบันร้านอาหารไทยทั่วโลกมีจำนวน 9,000 แห่ง ยังเห็นว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ดังนั้น หากต้องการให้ร้านอาหารไทยอยู่ในต่างประเทศทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นจะต้องทำงานเป็นทีม
“เบื่อที่จะฟังและเหนื่อยพูดกันแบบซ้ำซาก งานไม่เดิน ปัญหาวนเวียนเรื่องเดิม อย่างกรณีของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะต้องปรับแนวคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะมีการโปรโมทให้มีการลงทุนในต่างประเทศ เช่น ร้านอาหารไทยให้มากขึ้น ขณะเดียวกันหากมีการส่งเสริมร้านอาหารไทยในต่างแดนก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในสิ่งที่จะตามมาอีกทั้งให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ควรจัดทำแผนร้านอาหารไทย นอกเหนือจากร้านอาหารไทยแล้ว ควรจะมีศูนย์กระจายสินค้าภาคการเกษตรในร้านอาหารไทยในต่างแดนด้วย” นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวอีกว่า ตัวเลขการให้สินเชื่อของเอสเอ็มอีแบงก์แก่ร้านอาหารไทยในต่างแดนในช่วงที่ผ่านมามีเพียง 57 ราย วงเงิน 490 ล้านบาท ถือว่าน้อยมาก จึงอยากให้ทุกฝ่ายควรประสานกันและเร่งให้ร้านอาหารไทยในต่างแดนเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเห็นว่าการให้ตราสัญลักษณ์ในส่วนของสถาบันอาหารไทยฯ มีการให้เครื่องหมายมาตรฐานร้านอาหารไทย หรือ ไทยแลนด์ ซีเล็กท์ 83 ร้าน ขณะที่กรมส่งเสริมการส่งออกได้มอบเครื่องหมายตราสัญลักษณ์ร้านอาหารไทย หรือไทยแลนด์แบรนด์ กว่า 1,000 ราย ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องสับสน เพราะการให้ตราสัญลักษณ์กับร้านอาหารไทยภายในประเทศถือเป็นเรื่องดี แต่ในต่างประเทศควรที่จะให้ตราเพียงชนิดเดียวไม่ควรให้หลายตรา เพราะจะทำให้เกิดความสับสนได้ ซึ่งได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปพิจารณาแล้ว
นายสมคิด กล่าวว่าการที่ประเทศไทยจะมีการลงนามข้อตกลงการกรอบข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคิดว่าเกิดขึ้นได้แน่นอน เนื่องจากคามสัมพันธ์ไทยกับญี่ปุ่นเป็นไปด้วยดี ดังนั้นตามโครงการสนับสนุนโครงการครัวไทยสู่โลกของประเทศญี่ปุ่นภายใต้ข้อตกลงหุ้นสว่นเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นน่าจะเกิดขึ้นได้แน่นอน ซึ่งขณะนี้มีคณะทำงานร่วมไทย-ญี่ปุ่นที่จะดูความก้าวหน้าทางด้านการเกษตร การพิจารณาและแก้ไขปัญหาและอุปสรรคร่วมกัน และพัฒนาสินค้าเกษตรร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย และการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศ ที่สำคัญทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานว่าในวันที่ 20 กันยายนนี้ จะมีการลงนามสัญญาเช่าพื้นที่ที่สนามบินนาริตะ ซึ่งทางสนามบินญี่ปุ่นจะเปิดศูนย์สินค้าเกษตรและร้านอาหารไทยในสนามบิน รวมถึงจะเปิดโรงเรียนสอนร้านอาหารไทยด้วย ซึ่งตามเป้าหมายภายใน 5 ปี ร้านอาหารไทยในญี่ปุ่นจะมีไม่ต่ำกว่า 1,000 ร้านอาหาร และต่อไปนี้การผลิตสินค้าภาคการเกษตรจะผลิตตามตลาดเป็นหลักและรักษาคุณภาพอาหารให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัยสูง
นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 28 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม 2548 ทางสถาบันอาหารไทยฯ จะจัดงานแสดงสินค้าอาหารไทยและครัวไทยสู่โลกที่ศูนย์การประชุมไบเทค โดยจะเน้นอาหารไทยและอาหารต่างประเทศ ทั้งสดและแปรรูป โดยจะมีผู้ผลิตและเจ้าของร้านอาหารทั้งคนไทยและต่างชาติเข้ามาร่วมจัดงาน 250 ราย และในช่วง 2 วันแรกจะเน้นการเจรจาทางธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะมีเงินสะพัดในการจัดงานไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
นายสมคิด กล่าวอีกว่า ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าการแก้ไขปัญหากุ้ง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมกุ้งให้มีความเข้มแข็ง จะต้องดูแลปัญหาและการแก้ไขอย่างครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยง การส่งออก การหาตลาด คุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งจะต้องจัดเป็นระบบคลัสเตอร์เป็นการเฉพาะ เพราะยอมรับว่าปัญหาลูกกุ้งถูกทำลายในช่วงภัยพิบัติสึนามิค่อนข้างมาก ส่งผลให้กุ้งมีผลผลิตน้อย แต่ราคาสูงขึ้น ดังนั้น แนวทางที่จะทำเป็นคลัสเตอร์แบบครบวงจรคือ สนับสนุนด้านการเงิน โดยมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เร่งจัดทำแผนสนับสนุนพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งอย่างมีคุณภาพ โดยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนา พร้อมทั้งหาสิ่งจูงใจให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อง่ายต่อการสนับสนุนและเป็นการยกระดับการเลี้ยงกุ้งอย่างมีคุณภาพ
ส่วนขั้นตอนการผลิตและแปรรูปได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปดูว่าจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มมูลค่าในการแปรรูป เมื่อมีการผลิตและแปรรูปที่มีคุณภาพ ก็จะได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้รับสิทธิพิเศษทั้งทางภาษีและอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นสิ่งจูงใจให้เกิดการผลิตและแปรรูปอย่างมีคุณภาพ ส่วนด้านการตลาดได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์กลับไปดูว่าจะต้องกระจายสินค้ากุ้งของไทยไปตลาดใหม่ ๆ อย่าเน้นเฉพาะตลาดสหรัฐอย่างเดียว เพราะตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มมีความต้องการสินค้ากุ้งจากไทยมากขึ้น และเชื่อว่ากุ้งไทยในปีหน้าน่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากที่ไทยได้รับคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากกลุ่มอียูรวมถึงการเดินทางเยือนสหรัฐของคณะนายกรัฐมนตรีในขณะนี้ เชื่อว่าหลังจากนายกรัฐมนตรีของไทยได้มีการพูดคุยกับนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐ น่าจะมีข่าวดีเกี่ยวกับการพิจารณาทบทวนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) สินค้ากุ้งของไทยได้อย่างแน่นอน ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมจึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดระบบอุตสาหกรรมกุ้งให้เป็นแบบคลัสเตอร์แบบครบวงจร เพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปริมาณการส่งออกกุ้งตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2548 มีปริมาณทั้งสิ้น 139,377 ตัน คิดเป็นมูลค่า 881 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 34,689 ล้านบาท โดยหากคิดเป็นปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.53 และเมื่อคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเชื่อว่าหลังจากที่ไทยได้รับข่าวดีเรื่องเอดีกุ้งจากสหรัฐ หรือจีเอสพีของอียู น่าจะทำให้แนวโน้มส่งออกกุ้งปี 2549 มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งหลังจากผ่านพ้นช่วงที่ทางสหรัฐจะประกาศเอดีมาแล้ว ตนจะประกาศแนวทางการส่งออกสินค้ากุ้งให้มีความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง