xs
xsm
sm
md
lg

สศอ. มั่นใจดัชนีอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวในไตรมาส 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สศอ. เชื่อแนวโน้มอุตสาหกรรมไตรมาส 3 จะปรับตัวดีขึ้น โดยตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ชะลอตัวลงจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต่อเนื่อง-ภาวะภัยแล้งกระทบ ด้านอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ขาดน้ำ ผู้ผลิตบางรายปิดซ่อมบำรุงประจำปี ส่งผลยอดผลิตลด ด้านอุตสาหกรรมอาหาร ยอดส่งออกไปขยายตัวขึ้น โดยที่ญี่ปุ่น-รัสเซีย สั่งซื้อไก่แปรรูปจากไทยเพิ่ม

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย
รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยภาวะอุตสาหกรรมช่วงไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ปี 2548 ว่า 50 กลุ่มอุตสาหกรรมชะลอตัวลงเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 140.03 หรือเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 1.3 ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดการค้าทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และสถานการณ์ภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้นยังเชื่อมั่นว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง ภาคอุตสาหกรรมไทยจะขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลที่กระตุ้นให้เกิดการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นทิศทางการปรับตัวที่ดีขึ้นในช่วงเดือนกันยายนเป็นต้นไป

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบให้ดัชนีมีการปรับตัวลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เนื่องจากมีผู้ผลิตบางรายปิดซ่อมบำรุงโรงงาน ประกอบกับภาวะการขาดแคลนน้ำภาคตะวันออก บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำให้ผู้ประกอบการต้องชะลอการผลิตในช่วงนั้น แต่ขณะนี้รัฐบาลได้วางมาตรการในการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเร่งด่วนทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีปริมาณน้ำป้อนเข้าสู่ระบบ ไม่กระทบต่อกำลังการผลิต ซึ่งมั่นใจได้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ผู้ประกอบการจะสามารถเดินเครื่องผลิตได้ตามปกติ และสามารถขยายกำลังการผลิตได้ ด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตในช่วงไตรมาสที่ 2 มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.6

ส่วนการประเมินแนวโน้มในช่วงไตรมาส 3 คาดว่าอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาดภายในประเทศยังคงชะลอตัว สาเหตุสำคัญมาจากผลกระทบราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม ภาวะการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงไตรมาส 3 พบว่ามีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 เนื่องจากตลาดส่งออกหลักยังคงมีความต้องการซื้อสินค้าในอัตราที่สูง และมีบริษัทต่างชาติเริ่มย้ายฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ามาผลิตในไทย

ขณะที่หลายอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ที่ในไตรมาสที่ 2 ปริมาณการผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.16 และ 18.76 โดยมีการผลิตรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.70 และ 14.85 ตามลำดับ ทั้งนี้ แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ไม่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของผู้บริโภคมากนัก โดยมั่นใจว่าในช่วงครึ่งปีหลังภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนจะยังคงขยายตัว อุตสาหกรรมอาหาร ภาวะโดยรวมในไตรมาสที่ 2 ถือว่าขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าจะมีบางรายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งมีปริมาณผลผลิตลดลง ขณะเดียวกัน มีหลายรายการสินค้าที่มีระดับราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป ผลิตภัณฑ์ผัก ผลไม้แปรรูป และผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์แปรรูป

ดังนั้น ในไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะยังมีทิศทางการผลิตและส่งออกที่ดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประมงและปศุสัตว์ ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ขณะที่จีนประกาศปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น ประกอบกับการที่ไทยได้รับการรับรองโรงงานแปรรูปไก่จากประเทศญี่ปุ่น และรัสเซีย ทำให้สามารถส่งออกได้มากขึ้น

ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ช่วงไตรมาสที่ 2 จะเห็นได้ชัดว่ามีการขยายตัวขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นไปตามภาวะความต้องการตลาด โดยเฉพาะเหล็กทรงแบนที่มีการขยายตัวทั้งภาคการผลิต ความต้องการใช้ในประเทศ ปริมาณการนำเข้าและส่งออก เพราะขณะนี้โครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ สำหรับแนวโน้มราคาเหล็กมีทิศทางการขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากราคาเศษเหล็กในตลาดโลกได้มีการปรับสูงขึ้น ประกอบกับผู้ค้าคนกลางเริ่มมีคำสั่งซื้อเพื่อสตอกสินค้าไว้จำหน่ายในช่วงสิ้นปี ทำให้คาดการณ์ว่าราคาเหล็กจะปรับตัวขึ้นในช่วงเดือนกันยายน 2548
กำลังโหลดความคิดเห็น