ผู้จัดการรายสัปดาห์ - *สงครามโปรโมชั่นปีนี้ยั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ หลายสินค้า หลายบริการ ของหลายค่ายกระหน่ำลดราคาต่ำเตี้ยติดดินชนิดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ยั่วกำลังซื้อชนิดไม่ซื้อชาตินี้ เสียดายไปถึงชาติหน้า *เสื้อผ้า ห้างสรรพสินค้า โทรศัพท์มือถือ คือตัวอย่างที่สะท้อนภาพการแข่งขันอย่างรุนแรงของ P ตัวที่ 4 หากต้องการต้อนการซื้อของผู้บริโภคในยุคกำลังซื้อ “ฝืดดดดด” ให้อยู่หมัด
“สถานการณ์การทำตลาดของสินค้าในช่วงปีนี้ ถือว่าเป็นปีทองแห่งการทำโปรโมชั่น หรือลด แลก แจก แถม มากกว่าการสร้างตราสินค้าเลยก็ว่าได้” เป็นคำกล่าวของ ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย) จำกัด
เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการกระตุ้นยอดขายหรือรักษาส่วนแบ่งตลาดให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จากภาวะเศรษฐกิจปีนี้อยู่ในช่วงขาลง และราคาน้ำมันที่ถีบตัวแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้าหลายประเภทมีราคาขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รายได้ของประชาชนยังเท่าเดิม
“เศรษฐกิจฝืด ทำให้ตัวเลขขายตก ทุกคนจึงต้องงัดกลยุทธ์ทุกรูปแบบเพื่อรักษาเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งมีการทำทั้ง push และ pull คือ ทั้งเทรด โปรโมชั่น และคอนซูเมอร์ โปรโมชั่น โดยเฉพาะในไตรมาสสามที่หลายค่ายต่างยอดขายตก ไม่เว้นแม้แต่ค่ายยักษ์ใหญ่ เพราะเป็นฤดูฝนที่ทุกคนไม่ค่อยจับจ่ายใช้สอย อีกทั้งน้ำมันในช่วงนี้ขึ้นเร็วมาก เชื่อว่าในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงชอปปิ้ง จะยิ่งเห็นสัญญาณของคอนซูเมอร์ โปรโมชั่นรุนแรง และมากกว่านี้” ชลิต ลิมปนะเวช คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอแบค ในฐานะนักการตลาดผู้คร่ำหวอดในวงการมานานให้ความเห็นกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”
2548 โปรโมชั่นองศาเดือดทุกตลาด
ตอบสนองผู้บริโภคยุคใจง่าย
สัญญาณความร้อนแรงในสงครามโปรโมชั่นเผยให้เห็นควันที่ครุกรุ่นนับตั้งแต่ย่างเข้าต้นปี 2548 แล้ว เมื่อค่ายโทรศัพท์มือถือเปิดศึกโปรโมชั่น 3 เส้าแย่งลูกค้าตั้งแต่ต้นปี จากนั้นบรรดาสินค้าต่างๆก็ได้เฮละโลเปิดแคมเปญโปรโมชั่นอันอย่างคึกคัก นับตั้งแต่ ตลาดชาเขียว เมื่อเสี่ย ตัน ภาสกรนที แห่งโออิชิ กับแคมเปญ 30 ฝา 30 ล้าน ส่งผลให้ตลาดชาเขียวร้อนขึ้นมาทันที เมื่อคู่แข่งสำคัญอย่างยูนิฟต้องออกแคมเปญโปรโมชั่นแจกทอง 100 เส้รนออกมาต้อนรับเพื่อไม่ให้ยอดตก
หรือแม้แต่บรรดาเสื้อผ้าที่ต้องเพิ่มส่วนลดเพื่อความเร้าใจ จากก่อนหน้านี้เคยลด 50% ก็มีคนแย่งซื้อจนนับเงินไม่หวาดไหว แต่ตอนนี้ 40-50% ไม่พอแล้ว แม้จะเป็นแบรนด์อินเตอร์ชื่อดังอย่าง U2 หรือ G 2000 ก็ไม่ค่อยมีคนยอมควักกระเป๋าซื้อ ต้องขยับส่วนลดให้ถึง 70% จึงจะมีคนเข้าร้าน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีหลายร้านที่ร่วมขบวนโปรโมชั่น 70% กันให้เพียบ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดบ้านเราไม่นาน อย่าง co-co หรือ haas ที่ไม่เคยมีโปรโมชั่นลดราคามากขนาดนี้มาก่อน เป็นต้น
“เรียกง่ายๆว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งความใจง่ายของผู้บริโภค เพราะการตลาดในยุคนี้เป็นยุคของผู้บริโภคมากกว่าผู้ผลิต หรือมีซัปพลายมากกว่าดีมานด์ ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น การได้รับข้อมูลข่าวสารด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความฉลาด และรู้จักสิทธิในฐานะที่ผู้บริโภคควรจะได้รับ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอ็มดีเค กล่าว
แม้ว่าการทำโปรโมชั่นอย่างดุเดือดจะมีผลต่อพฤติกรรม และความจงรักภักดีของผู้บริโภคในตัวสินค้าให้ลดน้อยลงไป เนื่องจากเป็นการสร้างนิสัยให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มเปลี่ยนไปหาตราสินค้าอื่นๆที่ให้ผลประโยชน์มากกว่า ขณะเดียวกันยังสร้างความคาดหวังของผู้บริโภคให้เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลเสียต่อตราสินค้า เพราะหากไม่มีการลดราคาจะไม่ซื้อสินค้านั้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น บรรดาเจ้าของสินค้าก็ต้องมานั่งแบกภาระสินค้าล้นสต็อก ซึ่งการลดราคาแม้จะต้องเฉือนเนื้อไปบ้าง แต่ยังดีกว่าต้องมาจ่ายค่าแวร์เฮาส์ หรือค่าดูแลสินค้า
“ยุคนี้เป็นช่วงเวลาที่ผู้บริโภคและเจ้าของร้านค้าได้เปรียบ เพราะมีโอกาสได้ใช้สินค้าดีราคาถูก โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็นนักต่อชีวิตประจำวัน ขณะที่เจ้าของร้านก็ได้รับผลดีจากการที่เจ้าของสินค้าต้องอัดเทรด โปรโมชั่นเป็นการใหญ่เพื่อให้ขายได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น incentive หรือบางค่ายถ้ามีสินค้าขายดี ก็จะให้สินค้าขายดีนั้นแถมให้เป็นรายๆไป หรือแม้แต่การให้เงินกับร้านค้าให้ตั้งดิสเพลย์สินค้าในมุมที่เห็น หรือหยิบได้ง่ายๆ” นักการตลาดรั้วเอแบค อธิบาย
ธุรกิจเสื้อผ้าโหมโปรโมชั่น
ลดแหลกดึงลูกค้าสุดฤทธิ์
เสื้อผ้าเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ต้องใช้กลยุทธ์ดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาชมสินค้า โดย “ราคา” นับว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเรียกความสนใจจากผู้บริโภค นอกเหนือจากแบรนด์ รูปแบบ หรือการดีไซน์ ทั้งนี้ การลดราคาอาจไม่ใช่เรื่องใหม่นักสำหรับการทำตลาดในปัจจุบัน เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปี จะพบว่า เสื้อผ้าแต่ละแบรนด์จะมีช่วงเวลาที่ลดราคา เพื่อระบายสินค้าเก่าที่หลุดกระแสแฟชั่น และรอรับสินค้าคอลเลคชั่นใหม่ต่อไป
ทว่า การจัดโปรโมชั่นลดราคาในปัจจุบัน มีความน่าสนใจตรงที่ เปอร์เซ็นต์การลดราคาที่มากกว่า 50% สูงสุดถึง 80% มีให้เห็นเกลื่อนเกือบจะทุกแบรนด์ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไทยหรือแบรนด์ต่างชาติก็ตาม แถมยังมีความถี่ในการจัดโปรโมชั่นมากกว่า 1 - 2 ครั้งต่อปี หรือบางแบรนด์อาจเห็นการลดราคาได้ตลอดทั้งปี ผิดไปจากเดิมที่การกระหน่ำลดราคาจะจัดขึ้นไม่เกิน 1 - 2 ครั้งต่อปีเท่านั้น และเปอร์เซ็นต์ที่ลดส่วนใหญ่จะเฉลี่ยประมาณ 50% ซึ่งก็เรียกความอู้หูจากผู้บริโภคได้แล้ว แต่ในยุคเศรษฐกิจเช่นนี้ เสียงอู้หู ที่จะดึงดูดผู้บริโภคให้เดินเข้ามาในร้านจะเกิดขึ้นเมื่อสินค้าติดป้ายลดราคาตั้งแต่ 70% ขึ้นไป
“ตอนนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป สินค้าที่ติดป้ายลดราคาประมาณ 50% ดึงดูดลูกค้าได้แค่หยุดดูเฉยๆ แต่ถ้าจะเรียกและดึงลูกค้าให้เข้ามาในร้านและเกิดการซื้อได้ ส่วนใหญ่ต้องลดราคาประมาณ 70 – 80% ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจไม่ดีลูกค้าจึงต้องการสินค้าที่มีราคาถูกที่สุดแต่คุณภาพเท่าเดิม” ปัลลพ เขียวสุทธิ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท พีน่าเฮ้าส์ จำกัด กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”
เหตุผลที่กลยุทธ์ “ราคา” ชนิดลดกระหน่ำหั่นแหลกได้รับความนิยม และถือเป็นสิ่งจำเป็นกับการทำตลาดเสื้อผ้าในยุคนี้ เนื่องจากพิษเศรษฐกิจที่ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมากกว่าเดิม โดยเสื้อผ้าถือเป็นสินค้าอันดับต้นๆที่ถูกตัดออก ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องหากลยุทธ์ต่างๆออกมากระตุ้นกำลังซื้อ และ “การลดราคา” ก็เป็นกิจกรรมที่ดึงดูดลูกค้าได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับการจัดอีเวนท์ หรือกิจกรรมบีโลว์ เดอะ ไลน์ประเภทอื่น เพราะนั่นเป็นเพียงแค่สร้างการรับรู้ หรือสร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์มากกว่าสร้างรายได้
ผู้จัดการฝ่ายการตลาดพีน่าเฮ้าส์อธิบายเพิ่มเติมว่า “การติดป้ายลดราคาประมาณ 70 – 80% จะมียอดขายมากกว่า 1 – 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงที่จัดลดราคาไม่เกิน 50% แต่จะมียอดขายเพิ่มกว่า 3 เท่าหากเทียบกับช่วงที่ไม่มีการจัดโปรโมชั่นลดราคาเลย”
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลยุทธ์ราคาเป็นที่นิยมของผู้ประกอบการเสื้อผ้าในไทย เนื่องจากความได้เปรียบเรื่องต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะ Local Brand ที่มีฐานผลิตในเมืองไทย ซึ่งทำให้มีศักยภาพหั่นราคาสู้กับคู่แข่งได้สูงถึง 80% โดยไม่ขาดทุน แต่อาจเสียดุลในเรื่องค่าการตลาด เช่น ค่าพนักงาน ค่าขนส่ง ขณะที่อินเตอร์แบรนด์จะลดได้เต็มที่เพียง 30 – 40% เท่านั้น โดยจะมีกำไรเหลือไม่เกิน 10% แต่ถ้าผู้นำเข้าแบรนด์จากต่างชาติได้สิทธิการผลิตในไทย ก็จะสามารถลดราคาได้เช่นเดียวกับ Local Brand อย่างไรก็ดี การลดราคาสินค้ายังต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นอีก คือ ความแข็งแกร่งของแบรนด์ เพราะถ้าแบรนด์ได้รับความนิยมและมีภาพลักษณ์ที่ดี การลดราคาก็ไม่จำเป็นจะต้องลงไปแตะระดับที่สูงกว่า 50% เหมือนแบรนด์ทั่วไป
“พีน่าเฮ้าส์” เป็นแบรนด์หนึ่งที่ทำการปรับตัวรับมือกับเศรษฐกิจยุคน้ำมันแพง ที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ด้วยการเปิด “พีน่า เฮ้าส์ เอาท์เล็ท” ภายใต้ชื่อบริษัทเอาท์เล็ท มอลล์ เพื่อจำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่นในลักษณะลดราคาทั้งร้านสูงถึง 70% ตลอดปี เพื่อสนองกำลังซื้อของผู้บริโภคกลุ่มแมสมากขึ้น ขณะที่ “พีน่า เฮ้าส์ ช้อป” จะลดราคาสินค้าบางรายการเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนได้ง่าย แต่นับว่าเป็นความตั้งใจของบริษัทที่ต้องการปรับนโยบายการทำงานใหม่ในปีนี้ โดยให้พีน่าเฮ้าส์เป็น Local Brand ราคาถูกเหมาะกับผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อน้อยและเข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และบริษัทจะหันไปให้ความสำคัญกับอินเตอร์แบรนด์ แม้ว่าขณะนี้รายได้หลักของบริษัทจะมาจากพีน่าเฮ้าส์มากกว่า 50% ก็ตาม แต่ในอนาคตคาดว่าสัดส่วนรายได้หลักจะมาการทำตลาดอินเตอร์แบรนด์
แม้แต่แบรนด์ระดับพรีเมียมอย่าง “haas” ก็หันมาใช้กลยุทธ์หั่นราคาสู้เช่นกัน โดยล่าสุดจัดโปรโมชั่นลดกระหน่ำถึง 70% จากเดิมที่เคยจัดลดราคาไม่เกิน 50% เพื่อระบายสินค้าที่ตกเทรนออกไป แต่จากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ถดถอยลง ทำให้แบรนด์ไทยระดับพรีเมียมต้องลงมาเล่นเกมนี้เช่นกัน
“ปัจจุบันลูกค้ามีการควบคุมค่าใช้จ่าย และมีพฤติกรรมต้องการซื้อของถูกมากขึ้น ทำให้กำลังซื้อหายไป คนเดินห้างลดลงประมาณ 30-40% ดังนั้นบริษัทจึงต้องจัดกิจกรรมมากระตุ้นผู้บริโภค และราคาก็เป็นสิ่งกลวิธีที่เรียกคนเข้าร้านได้มากที่สุด โดยจะมียอดขายเพิ่มจากช่วงปกติมากกว่า 1 เท่า แต่เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์และไม่ให้กระทบต่อต้นทุนมากนัก การลดราคาแบบ 70-80% จะจัดขึ้นในช่วงสั้นๆไม่เกิน 2 สัปดาห์” สุขเกษม เหล่าหงษ์เกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส ดีไซน์ เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่นภายใต้แบรนด์ ZEIN และ haas กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการลดราคาอย่างหนักหน่วงเช่นนี้ นับว่าเกิดขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ ที่มีฐานผลิตสินค้าในประเทศ หรือแม้แต่ช่วงเทศกาลชอปปิ้งก็ตาม การจัดโปรโมชั่นลดราคาแบบบ้านเราแทบจะไม่ปรากฏให้เห็นแม้จะเป็นแบรนด์ที่ผลิตขึ้นในสิงคโปร์ก็ตาม โดยเต็มที่สูงสุดไม่เกิน 50% ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากเศรษฐกิจ และรายได้ของประชาชนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับไทย อีกทั้งเป็นกลยุทธ์ที่ก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาว ขณะที่ไทยจะนิยมนำกำแพงราคามาเป็นอาวุธต่อสู้ เพื่อระบายสินค้าและสร้างยอดขายเป็นเท่าตัวในระยะเวลาอันสั้น แต่ท้ายที่สุดแบรนด์ที่แข็งแรงและมีคุณภาพเท่านั้นที่จะอยู่รอด
สามก๊กมือถือ
โปรโมชั่นไม่มีเหงา
หลังจากย่างเข้าปี 2548 เพียงแค่ 2 เดือน สงครามราคาค่าโทรศัพท์มือถือก็เริ่มต้นขึ้นทันที เมื่อออเร้นจ์ เปิดตัวแคมเปญ 50 สตางค์ 24 ชั่วโมง ทางเลือกใหม่สำหรับลูกค้าจัสทอล์คและทอล์คแพลน เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2548
การโต้ตอบแบบทันควันของ "ดีแทค" จึงเกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน ในวันที่ 4 มีนาคม 2548 ดีแทคประกาศโปรโมชั่นพิเศษตอบโต้อย่างทันท่วงที่ต่อการเปลี่ยนแปลงด้านราคาของออเร้นจ์ ลูกค้ารายเดือนที่เลือกโปรโมชั่น ZAD และลูกค้าแฮปปี้สามารถเลือกโทร.นาทีละ 50 สตางค์ได้เช่นกัน
"การตัดสินใจปรับโปรโมชั่นของดีแทคเป็นไปอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากทราบข่าวการออกโปรโมชั่นใหม่ของคู่แข่ง" สันติ เมธาวิกุล ผู้อำนวยกลุ่มธุรกิจโพสต์เพด ดีแทค กล่าวถึงการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว เพื่อรักษาฐานลูกค้าของดีแทค
สถานการณ์ความดุเดือดเรื่องราคา ส่งผลให้ผู้ให้บริการอันดับหนึ่งอย่าง "เอไอเอส" อดรนทนไม่ไหว ต้องกระโดดเข้าสู่สมรภูมิการแข่งขันทางด้านราคาในที่สุด เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2548 ที่ผ่านมา ด้วยการเปิดโปรแกรมใหม่ของวัน-ทู-คอล! ในชื่อ "Freedom Double" ซึ่งเมื่อลูกค้าเลือกโปรแกรมนี้ และทำการเติมเงินเข้าสู่ระบบ วัน-ทู-คอล! จะเติมเงินให้ฟรีอีกเท่าตัวทันทีในทุกๆ ราคาที่ผู้ใช้เติมเงิน อาทิ ผู้ใช้เติมเงิน 300 บาท ผู้ใช้คนนั้นจะมียอดเงินเข้ามาทันที 600 บาท
การเปิดโปรแกรมใหม่ของเอไอเอส แสดงให้เห็นว่าการแข่งขันเรื่องของราคาได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเอไอเอส ทำให้ต้องตัดสินใจลงมาเล่นเรื่องราคาในที่สุด ดังจะเห็นได้จากส่วนแบ่งตลาดของรายได้ในไตรมาสแรกของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือดีแทค รวมถึงออเร้นจ์มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นฝ่ายละ 1% โดยดีแทคมีส่วนแบ่งเพิ่มเป็น 27% จากไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วที่มีอยู่ 26% ส่วนออเร้นจ์เพิ่มขึ้นเป็น 13% ขณะที่เอไอเอสมีส่วนแบ่งที่ลดลงเหลือ 57%จาก 59% ในไตรมาสที่สี่ปีที่ผ่านมา
ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้ในระบบของดีแทค ส่งผลให้เกิดจำนวนการโทร.เข้าระบบของเอไอเอสจากทางดีแทค ที่มีช่องสัญญาณสื่อสารต่อตรงถึงกันมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งตอนนั้นทางเอไอเอสถึงแม้จะยังไม่มีมาตรการทางการตลาดออกมาต่อกร แต่เริ่มมีปัญหาเรื่องของอัตราการโทร.เข้าระบบของเอไอเอสจากผู้ใช้บริการของดีแทคเริ่มมีปัญหาแต่ถือยังเป็นอัตราล้มเหลวที่ไม่มากนัก
กล่าวคือ แม้เดือนมีนาคมเดือนที่ถือว่า โปรโมชันออกมาแรงที่สุด อัตราความสำเร็จในการโทร.เข้าระบบกลับมีไม่มาก แต่ในเดือนเมษายนซึ่งเป็นเดือนที่มีอัตราการโทร.ไม่สูงเท่าเพราะติดเทศกาลคนโทร.ไม่มาก อัตราความสำเร็จในการโทร.เข้าในช่วงเวลาปกติกลับลดลงเหลือเพียง 4% จากเดิมที่ช่วงเวลาปกติมีอัตราความสำเร็จในการโทร.อยู่ที่ 50% หรือช่วงเวลาเร่งด่วนอยู่ที่ 25%"
ส่งผลให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของค่ายดีแทคเกิดปัญหาการโทร.เบอร์ของค่ายเอไอเอสเข้าจนสร้างความยุ่งยากในการสื่อสารถึงกัน จนผู้ใช้บริการบ่นไปตามๆ ตั้งแต่นั้นมา จนเกิดความเชื่อในกลุ่มผู้ใช้มือถือของดีแทคว่า เอไอเอสมีการบล็อกสัญญาณโทรศัพท์ข้ามค่ายเกิดขึ้น…จนกระทั่งขณะนี้ปัญหาการโทรข้ามเครือข่ายยังไม่สามารถคลี่คลายลงได้ และคงยังอยู่อีกนาน ตราบเท่าที่ระยะของโปรโมชั่นยังแสดงพลังของมันอยู่
โปรโมชั่นร้อนยังอยู่อีกนานนนน
แม้ สตีฟ ฟอร์บ บรรณาธิการบริหาร นิตยสารธุรกิจฟอร์บที่ทรงอิทธิพล จะเพิ่งกล่าวต่อผู้สื่อข่าวในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียในการประชุมธุรกิจเมื่อวันอังคารที่ 31 สิงหาคมว่า “ผลกล้าทำนายในอีก 12 เดือนข้างหน้า คุณจะเห็นราคาน้ำมันกลับมาอยู่ที่ 35-40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล”
แต่คำพยากรณ์ดังกล่าวหลายคนเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ตราบเท่าที่ความต้องการบริโภคน้ำมันในประเทศต่างๆในโลกยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะในบ้านเรา โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้สร้างแบบจำลองในกรณีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงถึงระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และกรณีราคา 90 เหรียญฯ จนถึงมากกว่า 100 เหรียญฯ ว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยขนาดไหน และต้องเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย
“แน่นอนว่าเมื่อราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้สินค้าต่างๆที่ต้องใช้เม็ดพลาสติกเพื่อทำแพกเกจจิ้ง หรือใช้ในการกระบวนการผลิตอื่นๆ ตลอดจนต้นทุนในการขนส่งสินค้าต้องเพิ่มสูงขึ้น ส่งให้เจ้าของสินค้าต้องขึ้นราคาตาม ขณะที่ดอกเบี้ยยังอยู่ที่ 1% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.5% เช่นนี้ ยิ่งทำให้ผู้บริโภคมีเงินในการจับจ่ายใช้สอยน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้น จึงเชื่อได้เลยว่าในปีหน้าการโปรโมชั่นจะยิ่งรุนแรงกว่าปีนี้แน่นอน” ชลิต กล่าว