xs
xsm
sm
md
lg

ศิริชัยไม่ล้มแผนบุกตลาดนมแพะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริหาร “มาบุญครอง แดรี่ โกทส์”ออกโรงโต้ เชื้อที่พบมีเฉพาะในแพะไทยที่ซื้อจากชาวบ้านเท่านั้น แยกคนละฟาร์มจากแพะนำเข้าที่ผลิตนมแพะ ยันมีคุณภาพแน่นอน เดินหน้าแผนต่อเนื่อง ยอมรับข่าวที่ออกมาส่งผลลบต่อชื่อเสียงและตลาดนมแพะบ้าง อัดงบตลาดพิเศษเพิ่มสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ด้าน“อย.”ให้ความมั่นใจผู้บริโภคดื่มนมแพะ เพราะผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ อีกทั้งเก็บตัวอย่างสุ่มตรวจเป็นระยะ ยังไม่เคยพบการปนเปื้อน ขณะที่ผู้ป่วย "โรคแท้งต่อเนื่อง"ในฟาร์ม จ.กาญจนบุรี ยังคงเท่าเดิมคือ 19 ราย พร้อมตั้งศูนย์เฉพาะกิจที่ รพ.พระปิยะ

นายชำนาญ อยู่เทศะ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท มาบุญครอง แดรี่ โกทส์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย นมแพะศิริชัย เปิดเผย “ผู้จัดการรายวัน”ว่า แม้ว่าขณะนี้จะมีข่าวเกี่ยวกับเรื่องการพบเชื้อบูเซลโลซีสในแพะ และมีการออกข่าวว่า ดื่มนมแพะแล้วลูกอัณฑะจะบวม แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะการดื่มนมแพะยังมีประโยชน์ แต่ต้องผ่านการผลิตที่ถูกต้อง และแพะที่พบว่ามีเชื้อนั้นไม่ใช่แพะที่นำมาผลิตนมแพะแต่อย่างใด ส่วนเอเย่นต์กว่า 100 รายนั้นเข้าใจดี เพราะบริษัทฯอธิบายข้อเท็จจริงให้ทราบแล้ว

อย่างไรก็ตาม จากข่าวที่เกิดขึ้นนั้นยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อภาพพจน์และชื่อเสียงบ้างในระดับหนึ่ง และมีการส่งคืนสินค้ามาบ้างแต่ไม่มากนัก แต่บริษัทฯยังยืนยันที่จะผลิตสินค้านมแพะศิริชัยต่อไป ซึ่งบริษัทฯมั่นใจในคุณภาพของระบบการผลิตและระบบการเลี้ยง

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา บริษัทฯเพิ่งจัดพาทัวร์เอเย่นต์จำนวน 6 คันรถบัส ไปเยี่ยมชมที่ฟาร์มในอ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เพื่อดูระบบการทำงาน การผลิต การเลี้ยง ซึ่งถ้าหากมีปัญหาบริษัทฯคงไม่พาไปดูโรงงานแน่นอน

จากนี้ไปบริษัทฯต้องหันมาเน้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์มากขึ้นเพื่อสร้างความใจและขยายตลาดให้กว้างขึ้น หลังจากที่เพิ่งทำตลาดมาได้เพียงปีเศษ โดยงบประมาณตลาดที่ตั้งไว้ปีนี้ 25 ล้านบาท ใช้ไปแล้ว 50% เหลือประมาณ 12 ล้านบาท แต่คาดว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น คงต้องมีการเพิ่มงบพิเศษขึ้นมา รวมทั้งการจัดแคมเปญโปรโมชั่นหรือแม้แต่พาสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมฟาร์ม และในวันนี้จะมีการแถลงข่าวรายละเอียดที่ฟาร์มด้วย

“เราต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เหมือนอย่างที่ชาเขียวโออิชิ มีปัญหาช่วงที่ผ่านมา ก็สามารถฝ่าฟันและแก้ปัญหา จนกลายเป็นโอกาสขึ้นมาได้” นายชำนาญ กล่าว

สำหรับกรณีแพะที่มีปัญหานั้น นายชำนาญ กล่าวว่าแพะที่เป็นปัญหากว่า 3,000 ตัวนั้น เป็นแพะไทย ที่บริษัทฯซื้อมาจากชาวบ้าน เริ่มซื้อเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งแพะไทยจะมีสีดำและน้ำตาล มีราคาประมาณ 3,000-4,000 บาทต่อตัว ได้นำไปเลี้ยงไว้ในฟาร์มอีกแห่งหนึ่ง ห่างไปประมาณ 2 กิโลเมตร แยกออกจากฟาร์มแพะที่นำเข้ามาใช้ในการผลิตนมแพะ และแพะไทยยังอยู่ระหว่างการกักกัน ยังไม่ได้นำมาใช้ทำอะไร โดยมีแผนที่จะนำเอาแพะไทยนั้นมาผสมพันธ์ใหม่

สำหรับแพะที่บริษัทฯเลี้ยงเอาไว้ทำนมแพะนั้นนำเข้ามาจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ทั้งหมด ขณะนี้มีประมาณ 10,000 กว่าตัว เป็นแพะนมที่มีสีขาวต่างจากแพะไทย และเป็นแพะที่นำเข้ามาโดยผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง

โดยฟาร์มของนมแพะศิริชัย มีประมาณ 2,000 กว่าไร่ ตั้งอยู่ใน ต.หินดาษเป็นส่วนใหญ่ และมีพื้นที่เล็กน้อยตั้งอยู่ในเขตของต.ลิ่มถิ่น และประตูทางเข้าหลักจะอยู่ใน ต.ลิ่มถิ่น อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ส่วนโรงงานผลิตนมแพะอยู่ที่จ.ปทุมธานี

ปัจจุบัน นมแพะศิริชัย มีกำลังผลิตประมาณ 28,000 ขวดต่อวัน และมีแผนที่จะเพิ่มกำลังผลิตเป็น 280,000 ขวดต่อวัน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่จะเติบโตขึ้น ขณะนี้มียอดขายเฉลี่ยที่ 20,000 กว่าขวดต่อวันแล้ว เพิ่มจากช่วงแรกที่จำหน่ายได้ 5,000 ขวดต่อวัน และปีนี้ตั้งเป้ายอดขายนมแพะศิริชัยไว้ประมาณ 250 ล้านบาท โดยช่องทางจำหน่ายหลัก 80% ขายผ่านตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่ และอีก 20% จำหน่ายในช่องทางโมเดิร์นเทรด และในปีหน้าเมื่อมีการขยายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากนมแพะมากขึ้นเช่น ไอศกรีมและนมแพะยูเอชทีอีกด้วย คาดว่าจะมียอดขายเฉลี่ย 45 ล้านบาทต่อเดือน

อีกทั้งได้ขยายไลน์ไปสู่สินค้าที่ผลิตจากนมแพะเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของนมแพะในการผลิต เพิ่งเปิดตัวในเดือนกันยายนนี้ ใช้ชื่อแบรนด์ว่า GMK โดยตั้งงบประมาณทำตลาดเครื่องสำอางไว้ประมาณ 20 ล้านบาท และตั้งเป้าขอดขายกลุ่มนี้ 150 ล้านบาทในปีหน้า

ทว่าเมื่อมาเจอปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ นายชำนาญยังยืนยันว่า แผนงานต่างๆเหล่านี้จะดำเนินต่อไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

อย.ยันนมแพะปลอดภัย
ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวกรณีที่มีการตรวจพบเชื้อบูเซลโลซีสในแพะ ที่ฟาร์มเลี้ยงแพะใน จ.กาญจนบุรี ซึ่งทำให้ประชาชนกังวลต่อการบริโภคนมแพะในท้องตลาดว่า นมแพะที่มีจำหน่ายในท้องตลาดจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ นมพาสเจอไรซ์ ซึ่งมีอุณหภูมิความร้อนเกินกว่า 60 องศาเซลเซียส สามารถฆ่าเชื้อชนิดนี้ได้ และอีกชนิดหนึ่งเป็นนมแพะที่นำไปทำผลิตภัณฑ์อาหารชนิดอื่น อย่างโยเกิร์ต ซึ่งมีกรรมวิธีที่ทำลายเชื้อเช่นกัน ถือว่ามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ทาง อย. และ หน่วยงานในจังหวัดได้เก็บตัวอย่างตรวจเป็นระยะอยู่แล้วเพื่อเฝ้าระวัง และที่ผ่านมายังไม่พบปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อแต่อย่างใด

"ปกตินมแพะสดจะไม่แนะนำให้บริโภคอยู่แล้ว รวมถึงนมวัว เพราะหากจะนำมาบริโภคควรผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อก่อน "เลขาธิการ อย. กล่าว และว่า นมที่จำหน่ายในท้องตลาดถือเป็นผลิตภัณฑ์ควบคุม โดยมีผู้ดื่มทั้งผู้ใหญ่และเยาวชน ดังนั้นผู้บริโภคควรสังเกตเครื่องหมาย อย.และเลขที่ของอาหาร ซึ่งจะสร้างความมั่นใจในการบริโภคมากขึ้น

น.พ.สุรพงษ์ ตันธนศรีกุล สสจ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ขณะนี้พบผู้ป่วยยืนยันโรคบูเซลโลซีสเท่าเดิมคือ 19 ราย จากการเจาะเลือดคนงานทั้งหมด 307 ราย โดยทั้งหมดเป็นคนงานภายในฟาร์ม ทั้งนี้ผู้ป่วยแบ่งเป็นชาย 12 ราย หญิง 7 ราย ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ระบาดวิทยาได้เข้าไปดูแลในพื้นที่ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดแล้ว พร้อมตั้งศูนย์เฉพาะกิจขึ้น เพื่อดูแลโดยเฉพาะที่โรงพยาบาลพระปิยะ

"ขณะนี้ยังรอผลการเจาะเลือดของคนงานที่เหลืออยู่ ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ เพียงแต่ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่องนาน 6 สัปดาห์ " น.พ.สุรพงษ์ กล่าว

น.พ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่ามีการติดต่อจากคนสู่คน ส่วนที่ทำให้อัณฑะอักเสบในผู้ป่วยชาย และปากมดลูกอักเสบในผู้ป่วยหญิงนั้น จะเกิดขึ้นในกรณีที่ป่วยนานเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไป เมื่อถามว่า หากผู้ป่วยโรคบรูเซลโลซีส มีเพศสัมพันธ์ทำให้เกิดการติดโรคได้หรือไม่นั้น ในทางการแพทย์ยังไม่มีรายงานในเรื่องนี้ แต่โดยข้อเท็จจริงหากมีแผลถลอกที่อวัยวะเพศ ก็อาจจะทำให้โอกาสติดได้ในคนที่เป็นโรค เพราะเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือรอยขีดข่วน หรือเกิดจากการดื่มน้ำนมดิบจากสัตว์ที่ติดเชื้อ ผู้ป่วยสามารถทำงานได้ปกติ เพราะโรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน และโอกาสเสียชีวิตมีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด สามารถรักษาด้วยยาไรแฟมปินและด็อกซี่ไซคลิน กินต่อเนื่อง 6 อาทิตย์

ส่วนกรณีที่ประชาชนตื่นตระหนกจนไม่กล้าบริโภคนมแพะและเนื้อแพะนั้น น.พ.ธวัช กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล เพราะหาเป็นนมพาสเจอร์ไรซ์ไม่มีปัญหา ส่วนเนื้อแพะต้องทำให้สุกที่อุณหภูมิ 100 องศานาน 10 นาที

ตั้งแต่พ.ศ.2546 จนถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยโรคนี้เพียง 8 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ล้วนทำงานในฟาร์ม ใกล้ชิดกับแพะทั้งสิ้น สำหรับกรณีของผู้ป่วย ที่พบใน ปี 2548 ได้รับรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากโรงพยาบาลชลบุรี ว่ามีผู้ป่วยโรคบรูเซลโลซีส 1 ราย เป็นชาวกาฬสินธุ์ ที่เคยทำงานในฟาร์มแพะในจ.กาญจนบุรี รักษาหายแล้ว

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผอ.สำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคบูเซลโลซีสที่เกิดขึ้นนั้น เชื่อว่าการจากคนงานที่สัมผัสกับซากแพะตาย และต้องมีการชำแหละซากดังกล่าวโดยตรง จึงเกิดการติดเชื้อขึ้น อีกทั้งยังมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งขณะทำคลอดแพะ อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ แต่ต้องเกิดยาติดต่ออย่างต่อเนื่อง 6 สัปดาห์
กำลังโหลดความคิดเห็น