xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรผู้บริโภคนัดชุมนุมคัดค้านปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ 11 ก.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.) เรียกร้อง “หยุดขึ้นค่าไฟ หยุดขายการไฟฟ้า” โดยนัดประชุมใหญ่ วันที่ 11 กันยายนนี้ โดยระบุให้มีการเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีใหม่ ที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภค มากกว่าประกันกำไรแก่นักลงทุนในการซื้อหุ้นบริษัท กฟผ. จำกัด(มหาชน) ด้านปลัดกระทรวงพลังงานย้ำค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ไม่เกี่ยวข้องกับการกระจายหุ้น บมจ.กฟผ.

น.ส.รสนา โตสิตระกูล กรรมการ สอบ. เปิดเผยว่า สอบ. และองค์กรภาคประชาชน นัดประชุมใหญ่ทั่วประเทศ ในวันที่ 11 กันยายนนี้ เพื่อคัดค้านมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 สิงหาคม 2548 ในการอนุมัติให้ปรับปรุงโครงสร้างค่าไฟฟ้า และนำหุ้น บมจ.กฟผ. ขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งการออกแบบวางแผนการรณรงค์ให้กับผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลเรื่องนี้ เพราะมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นเพียงการรับประกันกำไรให้กับนักลงทุน ซึ่งคล้ายกับอดีตที่มีการขายหุ้น บมจ.ปตท. ที่ได้มีการรับประกันกำไรให้กับนักลงทุนสูงถึงร้อยละ 16

“ขอเรียกร้องให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เพราะการขึ้นค่าไฟฟ้าที่เป็นการรับประกันกำไรของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากกว่าคำนึงถึงประชาชน และสิ่งที่รัฐจะต้องดำเนินการ คือ ทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้กับผู้บริโภคในการขาย ปตท. ให้กับกลุ่มธุรกิจการเมือง เนื่องจากได้ทำสัญญาไว้ในหนังสือชี้ชวนว่าจะแยกธุรกิจท่อส่งก๊าซออกจากธุรกิจส่วนอื่นภายใน 1 ปี เพื่อเปิดทางให้มีการแข่งขันลดการผูกขาดการจัดหาก๊าซ จะจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระ สาขาก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ” น.ส.รสนา กล่าว

น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่คณะรัฐมนตรีแถลงว่า การปรับค่าไฟฟ้าครั้งนี้เป็นการนำเอาค่าเอฟทีเดิมไปรวมกับค่าไฟฐาน เพื่อให้ค่าเอฟทีเป็นศูนย์เพื่อเริ่มต้นค่าเอฟทีรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า เดลต้าเอฟที เป็นการกระทำที่ไม่มีหลักการใดๆ รองรับ ไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมและยังเป็นสูตรที่เอาเปรียบผู้บริโภคเช่นเดิม สิ่งที่คณะรัฐมนตรีต้องทำ คือ การรื้อโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด เพื่อดึงเอาส่วนที่เอาเปรียบผู้บริโภคออกไป ให้หน่วยธุรกิจต้องรับภาระนั้นในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ และต้องดึงกำไรส่วนเกินของธุรกิจที่มากจนเกินควร เช่น กำไรของ ปตท. เข้ารัฐ

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ยกเลิกค่าเอฟทีกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน เพราะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยที่ไม่ได้เป็นภาระหลักต่อระบบไฟฟ้า และยังถือเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มประหยัดพลังงาน รวมทั้งยกเลิกวิธีเก็บค่าบริการ 40 บาท ที่ใช้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยกับรายใหญ่เท่ากัน คือ คนใช้ไฟ 50,000 บาท ก็เสียค่าบริการ 40 บาท คนใช้ไฟฟ้า 200 บาท ก็เสียค่าบริการ 40 บาท และต้องรีบดำเนินการผลักดันองค์กรอิสระผู้บริโภคให้เป็นอิสระ และไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ปี 2522 เพื่อสามารถคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภคที่ไม่มีหน่วยงานใดๆ ให้ความสำคัญ เช่น น้ำมัน ไฟฟ้า

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงานยังคงยืนยันว่า ค่าไฟฟ้าที่จะปรับขึ้นหรือไม่นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการแปรรูป กฟผ. เพราะค่าไฟฟ้าเอฟทีที่จะปรับขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงทุก 4 เดือนตามราคาเชื้อเพลิงเป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น