xs
xsm
sm
md
lg

“นงนุช บูรณเศรษฐกุล”มือคอนซูเมอร์สู่แม่ทัพพิซซ่าฮัท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อเร็วๆนี้ แบรนด์พิซซ่าฮัท ของ บริษัท ยัมเรสเทอรองสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ตัวผู้บริหารคนใหม่ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดแบรนด์พิซซ่าฮัท ที่ชื่อ นางนงนุช บูรณเศรษฐกุล เข้ามาร่วมงาน

หากจะดูถึงประสบการณ์ในการทำงานแล้ว เธออาจจะไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการฟาสต์ฟู้ดเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นผู้คร่ำหวอด เพราะเคยร่วมงานกับฟาสต์ฟู้ดแบรนด์แมคโดนัลด์ มาระยะหนึ่งประมาณ 2 ปี แม้จะไม่มากแต่ก็ยังพอมีประสบการณ์ทางด้านฟู้ดบ้างพอควร ผนวกกับประสบการณ์แวดวงสินค้าคอนซูเมอร์ที่บริษัท คอลเกตฯรวมเกือบ 10 ปี เพราะอยู่ช่วงแรกรวม 3 ปี และไปอยู่แมคโดนัลด์ ก่อนที่จะกลับมาร่วมงานกับคอลเกตฯอีกครั้ง ยาวนานถึง 7 ปี โดยตำแหน่งสุดท้ายที่คอลเกตฯก่อนออกมาคือ รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด

เมื่อกลับมาวงการฟาสต์ฟู้ดอีกครั้ง เธอจึงดูเหมือนว่าจะมีความมั่นใจไม่น้อยกับประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งคอนซูเมอร์โปรดักต์กับฟาสต์ฟู้ด

“ ช่วงแรกที่เข้ามาทำงานตรงนี้ก็ยังเป็นการศึกษางานเรียนรู้งานมากกว่า เพื่อทำความเข้าใจกับระบบงานทุกอย่าง ทั้งฝ่ายปฎิบัติการ ฝ่ายการตลาด ฝ่ายส่งเสริมการขาย” เป็นคำกล่าวของนางนงนุช

อย่างไรก็ดีเธอมองว่า วิธีการคิดการทำตลาดไม่ว่าจะเป็นคอนซูเมอร์โปรดักต์หรือฟาสต์ฟู้ดก็จะไม่ต่างกัน เพียงแต่ว่า พอมาทำด้านอาหารที่พิซซ่าฮัทตรงนี้ เรามีผลิตภัณฑ์และเอาท์เลท์เป็นของเราเอง สามารถที่จะวัดผลหรือติดตามในรายละเอียดได้ ต้องมุ่งไปที่การทำงานด้วย ไม่ใช่วางแผนตลาดอย่างเดียว เหมือนกับสมัยก่อนที่ทำตลาดคอนซูเมอร์ที่เรามีแต่สินค้าอย่างเดียว ไม่มีเอาท์เลทเป็นของตัวเอง

แต่ทั้งสองธุรกิจก็สามารถที่จะมีจุดเหมือนกันได้เหมือนกับหลักการตลาดทั่วไป เมื่อเวลาจะออกเมนูใหม่ของอาหารก็ต้องดูความต้องการของลูกค้าเช่นเดียวกับการออกสินค้าคอนซูเมอร์ใหม่ตัวหนึ่ง ซึ่งหลักการสำคัญ ลูกค้าจะเป็นคนบอกความต้องการ ที่ได้มาจากการสำรวจวิจัย ซึ่งความสำคัญของยุคสมัยนี้จะต้อง คอนซูเมอร์ โอเรียนเต็ด (Consumer Oriented) ไม่ใช่เหมือนเมื่อก่อนที่ยึดแนวทาง มาร์เก็ตติ้งโอเรียนเต็ด (Marketing Oriented)

เธอเชื่อว่า วิธีการทำโปรโมชั่นไม่น่าจะต่างกันเท่าใด แต่ว่าในรายละเอียดแล้วอาจจะต่างกันบ้าง เพราะว่าเมื่อก่อนทำสินค้าที่เป็นแมส แต่ว่าตอนนี้ อาจจะต้องคิดแบบ เทลเลอร์เมด (Tailormaid) มากขึ้น

เมื่อครั้งที่อยู่ คอลเกตฯ ผลิตภัณฑ์หลักๆที่ดูก่อนจะออกมาคือ สบู่โปรเท็กซ์ ก็เป็นผู้นำในตลาดเซ็กเมนท์ สบู่สุขภาพผิวด้วยแชร์ 13% แคร์ เป็นผู้นำในตลาดแป้งเด็กด้วยแชร์ 30% และเป็นตลาดที่แข่งขันกันรุนแรง จากผลิตภัณฑ์คู่แข่งที่ล้วนเป็นยักษ์ใหญ่วงการคอนซูเมอร์ทั้งสิ้น และแต่ละตลาดก็อยู่ในหลักพันล้านบาททั้งสิ้น จึงเป็นสภาพบรรยากาศไม่ต่างกับที่มาอยู่ที่ พิซซ่าฮัท ที่ตลาดพิซซ่า แข่งขันกันรุนแรงไม่แพ้กัน แต่ด้วยเพียงแค่ 2 รายใหญ่เท่านั้น คือพิซซ่าฮัทกับเดอะพิซซ่าคอมปะนี กับมูลค่าตลาดพิซซ่ารวม 3,500 ล้านบาท โดยพิซซ่าฮัท ระบุว่า มีร้านทั่วประเทศ 74 แห่ง ครองส่วนแบ่งการตลาดช่องทางดีลิเวอรี่ 65%

“ตลาดคิวเอสอาร์ หรือร้านอาหารบริการด่วน แข่งขันกันดุเดือด ตอนนี้มองว่า ทุกอย่างแทบจะเหมือนกันหมดแล้ว แข่งกันทั้งเมนูอาหาร สร้างเครือข่าย จึงต้องมาเน้นการบริการที่จะเอามาต่อสู้กัน เชื่อว่าจากนี้ไปธุรกิจร้านอาหารจะต้องเป็น อีโมชันนัล (Emotional) มากขึ้น”

งานแรกๆที่มีส่วนเข้ามาร่วมด้วยช่วยคิดคือ การเปิดตัวพิซซ่าฮัททรงสี่เหลี่ยม วัน-ฟอร์-แชร์ พิซซ่า ซึ่งมาจากการพัฒนาวิจัยกับทีมงานของพิซซ่าฮัท โดยใช้ข้อมูลทางการตลาดเพื่อค้นหาความต้องการของลูกค้า นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งพิซซ่าทรงสี่เหลี่ยมนี้ จะทำให้มีเนื้อของพิซซ่าเพิ่มขึ้นอีก 70% จากถาดใหญ่ปรกติ เป็นความแปลกใหม่ของวงการพิซซ่าในไทย และเป็นประเทศที่สองของโลก รองจากในตลาดอเมริกาที่พิซซ่าฮัทเปิดตัวเป็นแห่งแรก โดยพิซซ่าฮัทเองตั้งงบประมาณสำหรับ วัน-ฟอร์-แชร์ พิซซ่านี้ สูงถึง 20 ล้านบาท และหวังที่จะผลักดันยอดขายเพิ่มขึ้นอีก 20%

หรือล่าสุดคือ แคมเปญแปลกใหม่ที่ร่วมกับ เอชบีโอ โดยใช้ชื่อว่า Hot & On Time BIG DELIVERY

นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น กับการสวมหมวกแม่ทัพการตลาดของพิซซ่าฮัทในไทยของ “นงนุช”จึงถือเป็นความท้าทายอีกครั้ง สำหรับผู้บริหารหญิงคนนี้ โดยมีเป้าหมายหลักของการทำงานที่นี่คือ ต้อง Build Brand พิซซ่าฮัท ให้อยู่ในใจของผู้บริโภคและเป็นแบรนด์ ทอป ออฟ มายด์ (Top of Mind) ให้ได้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น