xs
xsm
sm
md
lg

สุรนันทน์เสนอ"กทช."รักษาการ"กสช." ย้ำต้องเขียนกฎหมายให้ทันเทคโนโลยี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"สุรนันทน์"เสนอไอเดีย ถ้าสิ้นปีนี้ "กสช." ยังไม่คลอด เตรียมเสนอให้ กทช. รักษาการแทนก่อน หวั่นธุรกิจภาพรวมสะดุด เผย กสช.ต้องมีวิชั่นไกล เขียนกฎหมายให้ทันตามเทคโนโลยี ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหา ลั่นวิทยุชุมชนที่ลักไก่โฆษณาเชิงธุรกิจหากฝ่าฝืนกฎหมายถูกฟันแน่ หวั่นแยกกฎหมายเคเบิ้ลทีวีออกจากวิทยุโทรทัศน์จะเกิดช่องโหว่

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบดูแลกรมประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า จากความล่าช้าในการจัดตั้ง คณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่แห่งชาติหรือ กสช. ที่ยืดเยื้อมานานหลายปีแล้วนั้น ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการทำงานของวุฒิสภา ที่คาดว่าจะสามารถสรุปเสร็จสิ้นได้ภายในสิ้นปีนี้นั้น แต่อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถดำเนินการแต่งตั้ง กสช. ได้เสร็จตามที่คาดไว้ ก็มีการเตรียมหาทางออกไว้แล้ว  เนื่องจากว่าหากปล่อยให้ล่าช้าไปกว่านี้จะส่งผลเสียต่อภาพรวม เนื่องจากว่าผู้ประกอบการเองก็ไม่สามารถที่จะทราบถึงความชัดเจนในอนาคตได้ว่าจะดำเนินธุรกิจไปอย่างไร ไปในแนวทางใด

โดยมีแนวคิดที่อาจจะมีบทเฉพาะกาลขึ้นมาเพื่อให้ กทช. นั้นเข้ามารักษาการแทนไปก่อน จนกว่าจะมี กสช. เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาเพราะว่า กทช. นั้นถูกเลือกมาโดยวุฒิสภาอยู่แล้ว แต่จะต้องทำการปรึกษากันก่อนในรัฐบาลและจะเชิญฝ่ายค้านมาร่วมพิจารณาด้วยว่าเป็นไปได้มากน้อยอย่างไร แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆ เพราะเราคงจะไม่ทำอะไรเกินกว่า วุฒิสภา ต้องรอกระบวนการทำงานสรรหาของวุฒิสภาให้เรียบร้อยก่อนนั้นก่อนว่าจะสรุปได้หรือไม่ เราเพียงแต่เตรียมไว้เท่านั้น ที่ผ่านมาได้มีการเจรจากับทางดร.วิษณู เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีไว้บ้างแล้ว

อย่างไรก็ตามหากมี กสช. แล้ว การตั้งกฎเกณฑ์หรือกฎหมาย ต่างๆที่ กสช. จะกำหนดออกมานั้นควรที่จะมีการศึกษาให้รอบคอบ และที่สำคัญจะต้องคำนึงถึงเทคโนโลยีให้มากที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว โดยที่กฎหมายวิทยุโทรทัศน์ฉบับเดิมที่ใช้กันมานั้นตั้งแต่ปี 2498 นั้นไม่เหมาะสมในสภาพปัจจุบันแล้ว ดังนั้นกติกาใหม่กฎหมายใหม่ที่จะทำขึ้นมาควรที่จะมีการเขียนอะไรให้มันกว้างไว้ เพราะไม่เช่นนั้นจะตามเทคโนโลยีไม่ทัน ซึ่งสมัยก่อนยังไม่มีใครรู้เลยว่า คอมพิวเตอร์เป็นอย่างไร แต่ทุกวันนี้คอมพิวเตอร์กลายเป็นเรื่องปรกติไปแล้ว อีกทั้งมือถือก็เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการสื่อสารมากขึ้นด้วย ในส่วนของช่อง 11 และกรมประชาสัมพันธ์เองก็ต้องมีการเตรียมตัวรองรับไว้เช่นกัน หาก กสช. เกิดขึ้นมาเพราะจะทำให้ผู้ประกอบการทุกรายอยู่บนพื้นฐานเดียวกันแล้ว

สำหรับกรณีของวิทยุชุมชนที่ยังเป็นปัญหากันอยู่ในเวลานี้ ขณะนี้คณะรัฐมนตรีมีมติออกมาชัดเจนแล้วว่า ให้วิทยุชุมชนโฆษณาได้เพียง 6 นาทีต่อชั่วโมง แต่ต้องเป็นโฆษณาที่เป็นสินค้าของชุมชนนั้นหรือ ภาพลักษณ์ที่ดีของชุมชน ไม่ได้โฆษณาที่หวังผลเชิงพาณิชย์

ขณะเดียวกันเงื่อนไขในการทำวิทยุชุมชนนั้นต้องอยู่ในกติกาและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนคือ 30-30-15 หมายความว่า ความสูงของเสาอากาศไม่เกิน 30 เมตรวัดจากพื้นดิน เครื่องส่งมีกำลังส่ง 30 กิโลวัตต์ และรัศมีในการส่งสัญญาณไม่เกิน 15 กิโลเมตร ซึ่งในความเป็นจริงนั้น กติกาทุกอย่างมีตายตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาการทำงานและการควบคุมไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งจากนี้ไปทุกอย่างจะต้องเข้มงวดและดำเนินการตามกติกาให้ถูกต้อง หลังจากนี้หากพบว่าวิทยุชุมชนใดทำผิดกฎหมาย ก็จะถูกจับทันทีโดยกรมประชาสัมพันธ์และ กทช. จะร่วมมือกันในการควบคุมดูแล

เขากล่าวด้วยว่า ประเด็นของผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวีที่ยื่นเสนอมาว่า ธุรกิจเคเบิ้ลทีวีนั้นมีความแตกต่างจากธุรกิจวิทยุและโทรทัศน์ดังนั้นควรที่จะมีการแยกกฎหมายออกมาเฉพาะเคเบิ้ลทีวีอย่างเดียว ซึ่งตรงนี้รัฐบาลจะต้องมาพิจารณาให้ละเอียดและรอบคอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมว่า แนวทางใดจะเหมาะสมที่สุด
หรือกรณีที่จะให้เคเบิ้ลทีวีมีโฆษณาได้นั้น ก็ต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียโดยรวมด้วยว่าเป็นอย่างไร เพราะผู้ประกอบการฟรีทีวีอาจจะโวยวายว่าไม่เป็นธรรมก็ได้ เพราะเคเบิ้ลทีวีมีหลายช่องทำให้ได้รายรับโฆษณาจากหลายช่อง แต่ฟรีทีวีแต่ละค่ายมีเพียงช่องเดียวเท่านั้น

"ถ้าหากเราจะแยกออกมาเป็นกฎหมาย 2 อัน มันอาจจะทำให้เกิดช่องโหว่ได้ เราอาจจะหาทางออกเช่น อาจจะมีหมวดหนึ่งที่เกี่ยวกับเคเบิ้ลทีวีโดยชัดเจนแทรกอยู่ในกฎหมายวิทยุโทรทัศน์ก็ได้ ซึ่งต้นเดือนหน้าจะเรียกผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวีมาประชุมอีกครั้ง" นายสุรนันทน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น