xs
xsm
sm
md
lg

“ปกรณ์ พงศ์วราภา”ประธานกรรมการจีเอ็มผู้ไม่พิสมัยลิขสิทธิ์นิตยสารหัวนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในวงการนิตยสารคงไม่มีใครที่ไม่รู้จักชื่อของ “ปกรณ์ พงศ์วราภา” ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) ในวันนี้เพราะว่า ผู้ชายวัย 58 ปีคนนี้ คือผู้ที่คร่ำหวอดในวงการนิตยสารมาอย่างโชกโชน และเป็นคนที่วางรากฐานให้กับกลุ่มจีเอ็ม โดยมีนิตยสาร จีเอ็ม เป็นหัวหอกหลักตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ กว่า 40 ปีบนเส้นทางอาชีพของวงการสิ่งพิมพ์
 

ปกรณ์ปลุกปั้นนิตยสารมามากนับต่อนับแล้ว โดยนิตยสารที่เป็นของกลุ่มจีเอ็มเองคือ นิตยสารจีเอ็ม นิตยสารโฮมแอนด์เดคคอร์ นิตยสารจีเอ็มคาร์ นิตยสารจีเอ็ม2000 นิตยสารทีวีรีวิว (ที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นนิตยสาร วีเมน วีคลี่ ในปลายปีนี้) นิตยสารจีเอ็มวอช นิตยสารจีเอ็มพลัส นิตยสารเอสเอ็มอีไทยแลนด์ นิตยสารมาร์เธอร์แอนด์แคร์ ยังไม่นับรวมหัวนิตยสารอื่นที่เขาเคยร่วมงานมาอีกบางฉบับเช่น ไฮ-คลาส นิตยสารหนุ่มสาว นิตยสารลลนา ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นนิตยสารหัวลิขสิทธิ์ของไทยทั้งสิ้น

สิ่งที่ผ่านมาพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า ปกรณ์ ไม่เคย สนใจลิขสิทธิ์นิตยสารหัวต่างประเทศแม้แต่น้อย แม้ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่กระแสลิขสิทธิ์หัวนิตยสารต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย

เขาเชื่อว่า นิตยสารต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทยไม่ใช่ว่าจะสำเร็จทุกหัว สมมุติว่าเข้ามา 10 หัวจะมีสำเร็จแค่ 5 หัว แล้วอีก 5 หัวนั้น ไม่สำเร็จ และไม่ได้หมายความว่านิตยสารที่ประสบความสำเร็จมาแล้วทั่วโลกจะต้องประสบความสำเร็จในตลาดเมืองไทยด้วย การที่ซื้อลิขสิทธิ์ต่างชาติเข้ามานั้น ทำให้การทำงานไม่มีความคล่องตัว ไหนจะต้องติดอยู่กับระบบและเงื่อนไขที่ติดมากับลิขสิทธิ์ รวมถึงเนื้อหาที่ต้องนำเสนอในนิตยสารนั้นก็ถูกจำกัดเอาไว้
ปัญหาอีกประการที่เขามองเห็นก็คือ ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์เมืองไทยนั้นยังขาดแคลนบุคลากรระดับหัวกะทิที่จะเข้ามาบริหารจัดการนิตยสารให้อยู่รอดได้บนแผงหนังสือ คือ ใครมีเงินก็สามารถซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาทำได้ไม่ยาก แต่จะทำอย่างไรตรงนี้คือปัญหา

“ถ้าเราไปซื้อหัวนิตยสารต่างประเทศมา แต่เราไม่มีคนทำ ก็เหมือนกับว่าเราไปซื้อเรือยอท์ชมา แต่ไม่มีคนขับ แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าไปเอาคนที่ไม่เก่งไม่มีความชำนาญมาขับเรือยอท์ช แล้วจะเป็นยังไง มันก็ขับไปได้ไม่นานก็มีปัญหา”

แนวทางการทำหนังสือและนิตยสารของปกรณ์จึงชัดเจนว่า“ผมถนัดที่จะปลูกต้นไม้ของเราเองดีกว่า รดน้ำดูแลเอง ต้นไม้ที่เราปลูกก็เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศของไทยเอง พอต้นไม้มันโตขึ้นมาเราก็จะได้ชื่นชมอย่างมีความสุข ทำไมเราต้องไปเอาต้นไม้ของต่างประเทศมาปลูก เพราะสภาพดินฟ้าอากาศก็ต่างกัน การดูแลก็ลำบาก”

ด้วยปรัชญาของตัวเขาที่ต้องการสร้างชื่อหัวนิตยสารใหม่ๆขึ้นมาประดับวงการโดยไม่เน้นการซื้อสิทธิ์ต่างประเทศ ทำให้ทุกวันนี้เขามีนิตยสารอยู่ในมือจำนวน 9 หัว และแน่นอนว่าไม่หยุดนิ่งอยู่เท่านี้ เพราะในหัวสมองเขามองทะลุปรุโปร่งแล้วว่า ยังมีโอกาสที่นิตยสารเล่มใหม่จะเกิดขึ้นได้อีก หากสามารถหาช่องงว่างที่มีอยู่ให้เจอในแต่ละเซ็กเม้นท์

และแล้วหัวนิตยสารเล่มใหม่ของเขาก็เกิดขึ้นคือ วีเมน วีคลี่ เป็นนิตยสารแนวผู้หญิง ที่จะเข้ามาแทนที่นิตยสาร ทีวีรีวิว ที่จะต้องปิดตัวเองไป เพราะไม่อาจทนต่อสภาพการแข่งขันที่รุนแรงของสื่อสิ่งพิมพ์บันเทิง ที่รุกล้ำเข้าสู่รายวันกันแล้ว ขณะที่ของทีวีรีวิวเองนั้นเป็นรายเดือน เขามองว่า แล้วจะเหลืออะไรไปสู้กับรายวันทั้งในแง่ความสด ความเร็ว ประเด็น ถ้าไม่ยุติเสียแต่วันนี้ วันหน้าก็ต้องเลิกอยู่ดี เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้ตัวแล้วว่าเส้นทางนิตยสารบันเทิงนี้มันไม่น่ารื่นรมย์แล้วสำหรับเรา จะทำต่อไปทำไม

“เพราะการทำนิตยสาร มันไม่ใช่เป็นการวิ่งแค่ 100 เมตรเข้าเส้นชัยแล้วจบ แต่มันเป็นเสมือนการวิ่งมาราธอน ที่มีระยะทางยาวไกล ต้องต่อสู้อีกต่อไป และมันไม่จบง่ายๆ” คือประโยคเปรียบเปรยของปกรณ์

สิ้นปีนี้คงได้เห็น น้องใหม่ของเครือจีเอ็ม และน้องใหม่บนแผงหนังสือ อย่างนิตยสารที่ชื่อว่า “วีเมน วีคลี่” เข้ามาอวดโฉมแข่งขันบนแผงหนังสือในเซ็กเม้นท์ผู้หญิงที่ว่ากันว่าแข่งขันกันรุนแรงที่สุดแล้วคงเห็นฝีมือของปกรณ์อีกครั้งที่จะปั้น นิตยสารผู้หญิงหัวไทยสู้กับนิตยสารผู้หญิงหัวนอก
กำลังโหลดความคิดเห็น