xs
xsm
sm
md
lg

กนง.ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาร์พีร้อยละ 0.25

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการ กนง. ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (อาร์พี) ระยะ 14 วัน อีกร้อยละ 0.25 เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่ส่งสัญญาณการประชุมครั้งต่อไปอาจพิจารณาปรับขึ้นถึงร้อยละ 0.50 พร้อมระบุบัญชีเดินสะพัดปีนี้อาจขาดดุลสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นางอัจนา ไวความดี
ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ที่ประชุม กนง. มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาร์พีระยะ 14 วัน อีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 2.75 ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นมีผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้น และมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเร่งตัวสูงกว่าเป้าหมาย โดยเงินเฟ้อพื้นฐานที่ ธปท.กำหนดไว้อยู่ที่ร้อยละ 0-3.5 เนื่องจากการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ การปรับขึ้นของราคาสินค้า และการปรับขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ในทิศทางขาขึ้นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานให้อยู่ภายในเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อรักษาการขยายตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจในระยะยาว

“การปรับอัตราดอกเบี้ยอาร์พีขึ้นร้อยละ 0.25 ในครั้งนี้ถือเป็นอัตราที่เหมาะสม แต่ไม่ได้หมายความว่าการประชุม กนง.ครั้งต่อไปจะปรับอัตราดอกเบี้ยถึงร้อยละ 0.50 ไม่ได้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในช่วง 6 เดือนแรก เงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.2 เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.9 และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ธปท.ได้รวมผลกระทบจากราคาสินค้าที่ขยับเพิ่มขึ้น และค่าแรงขั้นต่ำที่เฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น 5 บาทไว้แล้ว” นางอัจนา กล่าว

ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวอีกว่า ในส่วนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด กนง.ได้ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่ยอดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสิ้นปี 2548 จะมากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 44 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็น 55 ดอลลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และมูลค่าการนำเข้าน้ำมันในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนได้เร่งตัวสูงมาก จึงทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะสูงกว่าที่ ธปท. เคยประมาณการไว้ ส่วนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ประชุม กนง. ได้หารือถึงประเด็นดังกล่าวและเห็นว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 ในครั้งนี้ไม่น่าจะมีผลต่อค่าเงินบาทของไทย เพราะตัวกำหนดการไหลเข้า-ออกของเงินทุนต่างประเทศอยู่ที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจและความมีเสถียรภาพค่าเงินของประเทศนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้คงจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะมีผลต่อภาคธนาคารพาณิชย์ แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่ขยับขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้แล้ว

“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมา 5 ครั้ง ของ กนง.เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่ง ธปท. จะประชุมนโยบายเงินเฟ้อในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ เพื่อประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2548 ใหม่ รวมทั้งทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อในปีนี้ด้วย” นางอัจนา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น