xs
xsm
sm
md
lg

"พจน์ ปัญจฐิติพร" บอสอีเว้นท์แมกกาซีนตั้งสถาบันพรีเซ็นเตอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากที่ทำนิตยสารอีเว้นท์แมกกาซีนมาได้ขึ้นขวบปีที่ 3 แล้วนั้น ถือว่าเป็นที่กล่าวขวัญพอสมควร กับนิตยสารแนวนี้ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นนิตยสารเรื่องราวเกี่ยวกับอีเว้นท์หรือการจัดกิจกรรมการตลาดเล่มแรกและเล่มเดียวในไทยบนแผงหนังสือในเวลานี้ ภายใต้การบริหารงานของ นายพจน์ ปัญจฐิติพร บรรณาธิการบริหาร นิตยสารอีเว้นท์ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟร์ไนน์ เคาน์ตี้ จำกัด

แต่กว่าที่จะก้าวมาถึงวันนี้ได้ เขาต้องผ่านการปลุกปั้นและปรับปรุงนิตยสารเล่มนี้มาอย่างมาก เพื่อให้สามารถก้าวไปสู่ในใจของคนที่อยู่ในแวดวงนี้ให้ได้ด้วยเนื้อหาและคุณภาพ ไม่ใช่เพียงแค่ว่า มีเพียงเล่มเดียวในตลาดลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจึงอ่านเล่มนี้ของเขา

การปรับตัวนั้นมีมาตลอด โดยเฉพาะในเรื่องรูปแบบการนำเสนอ ราคา และการพิมพ์ ซึ่งเดิมทีการวางแผงฉบับแรกนั้น ราคา 80 บาท ความหนา 164 หน้าขนาดไซส์กระดาษเอสี่ หลังจากนั้นได้มีการปรับใหม่เริ่มตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยเพิ่มความหนาเป็น 204 หน้า แต่ขายราคาเดิม 80 บาท ยังเป็นขนาดไซส์กระดาษเอสี่เหมือนเดิม และยังแถมเล่มเล็กเรียกว่า อีเว้นท์พลัส อีก 1 ฉบับ และล่าสุดฉบับใหม่ที่จะวางแผงเร็วๆนี้คือฉบับที่ 16 จะลดขนาดลงมาเป็นไซส์เล็กแบบพ๊อกเก็ตบุ๊ค ขายราคา 60 บาท ความหนา 228 หน้า และเพิ่มราคาโฆษณาใหม่อีก 10% จากเดิมที่เป็นไซส์เอสี่ราคา 50,000 บาทต่อหน้า

"พอเราทำมาครบปีที่ 2 สถานการณ์ก็เริ่มโอเคแล้ว เริ่มมีโฆษณามากขึ้น พอเลี้ยงตัวเองได้ แต่ในภาวะที่ย่ำแย่เช่นนี้ ราคาน้ำมันก็ขึ้นตลอด ต้นทุนสูงขึ้น จึงต้องปรับตัวใหม่ ด้วยการลดขนาดหนังสือลง แต่เอาต้นทุนตรงนั้นไปใช้ในเรื่องของการขยายจำนวนพิมพ์ให้มากขึ้นจากเดิม 70,000 เล่มต่อเดือนเพิ่มเป็น 90,000 เล่มต่อเดือน เพื่อรองรับผู้อ่านที่เพิ่มมากขึ้นด้วย จากเดิมที่กลุ่มเป้าหมายเป็น นักศึกษา คนทำงาน ผู้บริหาร วันนี้กลุ่มนักศึกษามีความชัดเจนมากขึ้น"

วันนี้เขาเติบโตถึงขั้นที่ว่ากลุ่มบริษัทจากจีนคือ บริษัท เอดีซีพี มีเดีย จำกัด จากจีนสนใจซื้อลิขสิทธิ์หัวนิตยสาร อีเว้นท์ ไปพิมพ์ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนเป็นภาษาจีนแล้ว ด้วยการตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ บริษัท อีเว้นท์ แมกกาซีน ไชน่า จำกัด ที่เซี่ยงไฮ้ แบ่งสัดส่วนการร่วมทุนเป็นฝ่ายบริษัทฯ49% และทางฝ่ายจีน ถือหุ้น 51% คาดว่าจะตีพิมพ์และวางแผงได้ต้นปีหน้า เพื่อรองรับธุรกิจอีเว้นท์ที่เติบโตดีในจีนเช่นเดียวกับไทย ซึ่งถือเป็นนิตยสารเล่มแรกก็ว่าได้ของคนไทยที่ขายลิขสิทธิ์ให้กับต่างชาติ

ขณะที่ตลาดในไทยเขามองว่า ธุรกิจอีเวนท์ในเมืองไทย ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ธุรกิจอีเว้นท์ก็ยิ่งมีบทบาทมากขึ้น เพราะถือเป็นการทำบีโลว์เดอะไลน์ที่ได้ผลดี ใช้เงินไม่มาก เมื่อเทียบกับการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ในรูปแบบอื่น เพราะเป็นการเข้าตรงถึงกลุ่มเป้าหมายและสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคด้วย

เขายืนยันว่า จะไม่ก้าวเข้าไปทำธุรกิจอีเว้นท์เองในไทยแน่นอน เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากแล้ว อีกทั้งต้องการที่จะแยกบทบาทให้ชัดเจนโดยทำทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์ที่ยังสามารถเกื้อหนุนให้กับผู้ประกอบการอีเว้นท์ได้ โดยเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดข้อมูล

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสองอย่างที่พจน์มองว่ามีส่วนโดยตรงกับธุรกิจอีเวนท์ก็คือ 1.เรื่องของการคิด การสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทางผู้ประกอบการอีเว้นท์อยู่แล้วที่ต้องคิดไอเดียในการนำเสนองานอีเว้นท์ออกมา และ 2.เรื่องของแม็กเน็ต จุดดึงดูด เช่น พรีเซ็นเตอร์ ซึ่งตรงประเด็นของพรีเซ็นเตอร์หรือที่เรียกว่าพริตตี้ ตรงนี้เองที่ พจน์มองว่า น่าจะเข้าไปเกี่ยวข้องได้เพราะไม่ใช่เป็นการทำอีเว้นท์โดยตรง

ดังนั้นตัวเขาเองจึงมีความคิดที่จะตั้งสถาบันพรีเซ็นเตอร์ขึ้นมา โดยที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับทางสถาบันการศึกษามาตลอดเพื่อหาทางร่วมมือกันในการผลิตบุคลากรที่จะมาเป็นพรีเซ็นเตอร์หรือพริตตี้ ที่ถูกต้อง และทำให้เป็นมาตรฐาน เพราะปัจจุบันนี้ วงการธุรกิจต้องการพรีเซ็นเตอร์และพริตตี้มาก แต่บางครั้งก็มีปัญหาทั้งด้านมาตรฐานของตัวพรีเซ็นเตอร์ และการทำงาน รวมไปถึงการติดต่อการจัดหาซึ่งการที่จะตั้งสถาบันนี้ขึ้นมาจะเป็นศูนย์กลางในการอบรม การหางาน ประสานงานกับบริษัทต่างๆที่ต้องการ ให้มีระบบแบบแผนมากขึ้น คาดว่าภายในปลายปีนี้จะเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้
กำลังโหลดความคิดเห็น