xs
xsm
sm
md
lg

แก้ไข พ.ร.บ.ขายตรง วันนี้ไปถึงไหน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในยุคสภาวะที่ราคาน้ำมันแพงส่งผลกระทบต่อภาพรวมในหลายธุรกิจที่ต้องมีการปรับราคาสินค้าขึ้น ทำให้คนที่มีรายได้เท่าเดิมต้องประสบปัญหาเงินไม่พอใช้จึงต้องหารายได้เสริม เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัวมากขึ้น ธุรกิจขายตรงซี่งเป็นธุรกิจที่ให้โอกาสคนในการสร้างรายได้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีผู้คนสนใจเข้ามาลิ้มลองหรือสัมผัสกันมากเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่พบในธุรกิจขายตรง คือธุรกิจแอบแฝงหรือพวกแชร์ลูกโซ่ที่เข้ามาปะปนในธุรกิจขายตรงที่ดี จนทำให้ผู้บริโภคที่ไม่มีความรู้และความเข้าใจในธุรกิจขายตรงต้องตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อเข้าใจผิด และสมัครเป็นสมาชิกในที่สุด บางรายทุ่มเทเงินจนสิ้นเนื้อปะดาตัวเพราะหวังจะได้รางวัลล่อใจที่ใหญ่ เช่น รถยนต์ เป็นต้น ซึ่งตรงจุดนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของธุรกิจขายตรงที่ดีต้องด่างพล้อยเป็นภาพลักษณ์เสียหายตามไปด้วย

ทั้งนี้จากการที่ภาครัฐมีนโยบายปรับที่จะแก้ไขพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ที่ร่างขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เนื่องจากปัจจุบันพบว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวยังมีช่องโหว่อยู่หลายจุด ส่งผลให้พวกธุรกิจแอบแฝงหรือธุรโกงต่างๆ เช่น แชร์ลูกโซ่เห็นช่องว่างของ พ.ร.บ.นี้และได้สอดแทรกตัวเข้ามาธุรกิจขายตรงกันเป็นจำนวนมาก เพราะสามารถแสวงหาเงินได้ง่ายและเร็ว

ดังนั้นกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงในแต่ละสมาคมจึงไม่นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมป้องกันธุรกิจและแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยการเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ขายตรงฯ ใหม่ในบางมาตรา เพื่อยกมาตรฐานธุรกิจขายตรงให้ดีขึ้นและล้างบางพวกธุรกิจแอบแฝงให้หมดไปจากวงการ รวมทั้งเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคและนักขายตรงอิสระในสถานการณ์โลกปัจจุบัน

ในฐานะที่เป็นสมาคมหลักของธุรกิจขายตรงในไทยกว่า 22 ปี สมาคมการขายตรงไทยหรือ TDSA ซึ่งมีสมาชิกรวม 33 บริษัท อาทิ แอมเวย์ กิฟฟารีน คังเซนฯ-เคนโก ยูนิลีเวอร์ ไทยเทรดดิ้ง และนู สกิน เป็นต้น โดยมีสมาชิกรวมกว่า 8 ล้านคนและมียอดขายรวมทั้งหมด 80% ของมูลค่าธุรกิจขายตรง 40,000 ล้านบาท โดยทางTDSA ซึ่งมีนายปรีชา ประกอบกิจ จากแอมเวย์นั่งแท่นเป็นนายกสมาคมฯก็ไม่นิ่งเฉย พร้อมให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับธุรกิจขายตรงผ่านทางสื่อต่างๆ หรือการจัดสัมมนาให้แก่นักขายอิสระและบุคคลทั่วไปอย่างต่อเนื่อง

ทาง TDSA พยายามหาทางปรับปรุงข้อกำหนด,มาตรการและกฎหมายต่างๆให้ดีขึ้น ซึ่งหลังจากที่ได้จัดงานเสวนาครั้งใหญ่ขึ้นในหัวข้อ “พ.ร.บ.ขายตรงปรับใหม่อีกทีให้ดีกับมวลชน” ไปเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน2548ที่ผ่านมา โดยได้ระดมสมองจากเหล่าบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการขายตรง อาทิ นักวิชาการ ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง และผู้จำหน่ายอิสระ เป็นต้น มีผลสรุปด้วยการได้ข้อเสนอแนะให้แก้ไขพ.ร.บ.ขายตรงฯรวม 7 มาตรา 10 หัวข้อ

สำหรับมาตราที่ต้องแก้ไข อาทิ  มาตรา 3 ควรแก้คำนิยามของคำว่า “ขายตรง” และ “ผู้บริโภค” และเติมคำนิยาม 2 คำเข้าไป คือ “ผู้ประกอบการ” และ “แผนการจ่ายผลตอบแทน” 

 ส่วนมาตราอื่น ๆ เช่น มาตราที่ 23 (3) มองว่ากำหนดไม่ชัดเจนในเรื่องของเงื่อนไขและระยะเวลาที่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงจะรับซื้อสินค้า วัสดุอุปกรณ์ส่งเสริมการขายหรือคู่มือคืนจากผู้จำหน่ายอิสระ ซึ่งตรงนี้จะเป็นการเปิดทางให้ระบบอื่นหรือธุรกิจที่แอบแฝงเข้ามาในธุรกิจได้ง่ายขึ้น

นายอิทธิศักดิ์ อำพันยุทธ์ กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์สมาคมการขายตรงไทยหรือ TDSA เปิดเผยกับ “ผู้จัดการรายวัน” ว่าจุ  ดประสงค์หลักในการเสนอแนะแก้ไข พ.ร.บ.ขายตรงฯ ของสมาคมฯ เพื่อต้องการสร้างความเป็นธรรมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขายตรง ทั้งผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้จำหน่ายอิสระ และผู้บริโภค   โดยเฉพาะมาตราที่ถกเถียงกันมาก ได้แก่ มาตราที่ 33 และ 34 ที่เกี่ยวกับการคืนสินค้าของผู้บริโภค ที่มองว่าต้องมีการแก้ไขเพื่อที่จะไม่กระทบต่อทุกฝ่ายหรือหาทางออกที่ดีที่สุดแก่ทุกฝ่าย

ขณะที่ทางด้านสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทยหรือ TDIA ที่นำโดยนางสาวเบญจวรรณ สุขประพฤติ นายกสมาคมฯ ก็ไม่น้อยหน้า เดินหน้าเสนอขอแก้ไข พ.ร.บ.ขายตรงฯ 11 มาตราที่ยังคลุมเครือ อาทิ มาตราที่ 3 ซึ่งสอดคล้องกับสมาคม TDSA แต่เป็นคนละจุดกัน คือให้แก้ความจำกัดความของ “ผู้จำหน่ายอิสระ” ส่วนมาตราอื่นที่ที่ควรแก้ เช่น มาตรา 25 มาตรา 30 มาตรา 42 มาตรา 43 เป็นต้น พร้อมเสนอควรให้ยกเลิกมาตราที่ 19 และมาตราที่ 21 (3) (4) เพราะเห็นว่าไม่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง

ส่วนมาตราที่เป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดของทั้ง 2 สมาคม คือมาตราที่ 8 ที่ว่าด้วยเรื่องคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรงที่ปัจจุบันมีคณะกรรมการจากเอกชนนั่งแท่นเป็นคณะกรรมการ ทางสมาคมการขายตรงไทย (TDSA) เห็นพ้องต้องกันว่าควรมีตัวแทนเอกชนนั่งเป็นคณะกรรมการ ซึ่งตัวแทนจะมาจากสมาคมไหนก็ได้ไม่มีปัญหา แต่ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในธุรกิจขายตรงและมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับธุรกิจขายตรง ขณะที่TDIA เห็นว่าควรแก้ในเรื่องกรรมการ โดยตำแหน่งควรให้อัยการสูงสุดดำรงตำแหน่งคณะกรรมการขายตรงฯ เพราะองค์กรดังกล่าวมีความรู้ทางกฏหมายและให้ความยุติธรรมแก่ผู้ประกอบการในด้านการพิจารณา จดทะเบียนหรือเพิกถอนใบอนุญาต

ทั้งนี้ข้อมูลของทั้ง 2 สมาคมขายตรงได้ยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการร่าง แก้ไข พ.ร.บ.ขายตรงฯ หรือออกกฎหมายลูกเพิ่มเติมต่อไป

ถึงวันนี้แล้วก็ต้องมาจับตาดูกันต่อไปว่า ผลลัพธ์ที่ได้ออกมานั้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งวงการขายตรงกำลังรอผลสรุปอยู่  เนื่องจากต้องการให้ทุกฝ่ายได้รับความยุติธรรม และช่วยยกระดับธุรกิจขายตรงไทยให้ดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น