xs
xsm
sm
md
lg

ราคาน้ำมันทะยานทำสถิติไม่เลิก บีบโลกระดมหาพลังงานทางเลือก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - การค้นหาแหล่งพลังงานทางเลือกกลายเป็นภารกิจเร่งด่วนระดับโลก หลังจากราคาน้ำมันเดินหน้าสร้างสถิติสูงสุดเกือบตลอดเวลา อย่างไรก็ดีการนำ "พลังงานใหม่" มาใช้ในชีวิตจริงดูจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพอสมควร

แนวคิดที่เคยถูกมองว่าเป็นการสงวนรักษาของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตื้นเขิน มาวันนี้กลับได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่าการใช้งานอุปกรณ์ส่วนใหญ่ในรถยนต์ ครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมในเอเชีย ยังหมายถึงการขุดค้นหาแหล่งพลังงานฟอสซิลอยู่นั่นเอง

บางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อปลีกตัวจากแหล่งพลังงานดั้งเดิม แต่จนรอดจนรอดพลังงานทางเลือกที่สามารถผลิตได้ยังถือว่าเล็กน้อย ยกเว้นเฉพาะพลังงานนิวเคลียร์

สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานระบุว่าญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันเกือบ 52% ของซัปพลายพลังงานทั้งหมด ลดจาก 80% ก่อนเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรกในปี 1973 โดยน้ำมันถูกแทนที่ด้วยพลังงานนิวเคลียร์และก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่แหล่ง "พลังงานใหม่" เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม คิดเป็นองค์ประกอบเพียง 1% ของซัปพลายพลังงานทั้งหมด

พัฒนาการดังกล่าวเกิดขึ้นแม้ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นผู้นำการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของโลก ด้วยสัดส่วน 48.5% ตามด้วยเยอรมนี สหรัฐฯ และออสเตรเลีย

กระนั้นก็ตาม แดนอาทิตย์อุทัยตั้งเป้าเพิ่มการผลิต "พลังงานใหม่" เป็น 3% ภายในปี 2010 แต่ปัญหาก็คือมีเสียงร้องเรียนว่าต้นทุนพลังงานทางเลือกยังสูงกว่าพลังงานอื่นๆ และผลผลิตก็ไม่คงเส้นคงวานัก

ทางด้านเกาหลีใต้ที่นำเข้าพลังงานจากฟอสซิล 97% ของปริมาณการบริโภคนั้น ก็กำลังทุ่มเทพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกเช่นเดียวกัน ทว่าข้อมูลล่าสุดชี้ว่าพลังงานดังกล่าวยังมีเพียง 1.03% ของปริมาณการบริโภคเท่านั้น

แหล่งพลังงานทางเลือกที่สำคัญมาจากกากอุตสาหกรรมและขยะจากในเมือง ที่เป็นองค์ประกอบถึง 90% ของพลังงานทางเลือก และใช้ใน 31 เมืองและโรงงานอีกกว่า 500 แห่ง

แหล่งพลังงานทางเลือกอันดับรองลงมาคิดเป็นตัวเลข 3.7% คือพลังงานจากกากอินทรีย์และสิ่งปฏิกูลจากสัตว์ อันดับ 3 คือพลังงานแสงอาทิตย์ 2.6% ซึ่งใช้ในการต้มน้ำในครัวเรือน และปั่นกระแสไฟฟ้าสำหรับไฟบนท้องถนนในบางพื้นที่

ความที่สภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศมีบทบาทสำคัญต่อการนำแหล่งพลังงานทางเลือกมาใช้ประโยชน์ ผลการศึกษาฉบับใหม่ของรัฐบาลนิวซีแลนด์พบว่า ในอนาคตอาจนำพลังงานลมมาใช้ในการปั่นกระแสไฟฟ้ารองรับดีมานด์ 35% ภายในประเทศ

เทรเวอร์ มอลลาร์ด รัฐมนตรีพลังงานแดนกีวี กล่าวว่าพลังงานลมจะสอดรับกับแผนการใช้พลังงานทางเลือกอีกแหล่งคือไฟฟ้าพลังน้ำ ที่ขณะนี้เป็นแหล่งซัปพลายกระแสไฟฟ้าถึง 60%

พลังงานลมเป็นทางเลือกสำหรับฟิลิปปินส์เช่นเดียวกัน โดยเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมามีการเปิดฟาร์มลมใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในพื้นที่ชายฝั่งใกล้กับเมืองบันกี บนเกาะลูซอน

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวซึ่งเป็นของภาคเอกชนผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 24.75 เมกะวัตต์ เพียงพอสำหรับความต้องการของ 1 ใน 75 จังหวัดเท่านั้น

นอกจากนั้น ทางการมะนิลายังพยายามโน้มน้าวผู้ขับขี่รถที่ใช้น้ำมันดีเซลให้ใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันมะพร้าว ซึ่งเป็นผลิตผลการเกษตรหลักของประเทศ ทว่าไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก

ความเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นที่ออสเตรเลียเช่นกัน โดยนักวิจัยออสซี่ได้สร้างเครื่องปั่นไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากเปลือกกล้วย และกำลังดำเนินการโรงงานผลิตไฟฟ้าจากผลไม้เต็มรูปแบบ

โทนี ไฮดริช โฆษกสภาผู้ปลูกกล้วยออสเตรเลียสำทับว่า สถานีไฟฟ้าจากกล้วยสามารถแปรรูปเปลือกกล้วย 600,000 ตันต่อปี และผลิตพลังงานได้เทียบเท่าน้ำมันดีเซล 222,000 ลิตร

ขณะเดียวกัน สมาชิกพรรคเนชั่นแนล ปาร์ตี้ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแดนจิงโจ้กำลังกดดันให้ออกกฎหมายบังคับให้ประชาชนใช้น้ำมันเบนซินที่ผสมด้วยเอทานอล ที่ผลิตจากผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ และข้าวสาลี

อย่างไรก็ตาม การนำพลังงานทางเลือกมาใช้ในชีวิตจริงยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปในโลกที่ถูกครอบครองด้วยน้ำมัน
กำลังโหลดความคิดเห็น