xs
xsm
sm
md
lg

มาเลย์ตั้งเป้า "ฮับ" สินค้าฮาลาลโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - มาเลเซียตั้งเป้าพัฒนากลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกสินค้าฮาลาลหลากประเภท มุ่งจับตลาดมุสลิมโลก

เนื้อและกับข้าวกับปลาฮาลาลถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครัวเรือนในโลกมุสลิมมาช้านาน แต่ยาสีฟัน ครีมบำรุงหน้า น้ำยาถูพื้น แปรงสีฟัน และผลิตภัณฑ์บำรุงความงามอื่นๆ ที่เป็นฮาลาลนั้นมีบ้างหรือเปล่า

เมื่อมองเข้าไปในกระเป๋าเครื่องสำอางของโนรา โรสลีย์ จะเห็นได้ถึงอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่กำลังบูมสุดขีด ซึ่งเจ้าหน้าที่ด้านการค้าแดนเสือเหลืองชี้ว่าอุตสาหกรรมนี้มีศักยภาพเติบโตทั่วโลกได้ถึง 560,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

เครื่องประทินโฉมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครีมบำรุงผิวหน้า สกินโทเนอร์ ลิปสติก เครื่องสำอางต่างๆ และน้ำหอม ทุกชิ้นล้วนมีเครื่องหมายฮาลาลประทับอยู่ อันหมายความว่าได้รับอนุญาตภายใต้กฎอิสลาม

"ฉันเริ่มรู้สึกตัวตอนเดินทางไปต่างประเทศเมื่ออายุ 18 ปี ฉันเริ่มตระหนักมากขึ้นถึงวิถีทางฮาลาลถึงสิ่งที่กินได้และกินไม่ได้ ดังนั้นฉันจึงมักตรวจดูเครื่องหมายและส่วนประกอบต่างๆ แต่ในมาเลเซียบ้านเกิดของฉันเชื่อได้เลยว่าทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้องตามกฎฮาลาล" โนรากล่าว

โนรา ครูวัย 38 ปีผู้นี้เป็นหนึ่งในผู้บริโภคที่เพิ่มจำนวนขึ้นในมาเลเซียและทั่วโลกที่มีความมุ่งมั่นและมีเงิน ซึ่งต้องการความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่พวกเขาใช้นั้นจะเป็นไปตามกฎฮาลาลมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เธอเล่าต่อว่า "ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสามีของฉัน เขาได้รับการจ่ายยาที่เปลือกแคปซูลเจลาตินทำมาจากวัวก็จริง แต่สำหรับเราแล้ว ตามหลักเกณฑ์ฮาลาลวัวจะต้องถูกเชือดโดยคนมุสลิม สามีของฉันเลยอีเมลไปถามผู้ผลิต และตอนนี้ก็ยังรอคำตอบอยู่"

ทั้งนี้ แนวคิดฮาลาลซึ่งมีความหมายว่า "อนุญาต" ในภาษาอาหรับ ตามธรรมเนียมดั้งเดิมมักถูกเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องอาหาร กล่าวคือหมูหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ทำจากหมู แอลกอฮอล์ และสัตว์อื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกฆ่าตามแบบแผนในคัมภีร์อัลกุรอ่านถือเป็นสิ่งต้องห้ามหรือที่เรียกกันว่า "ฮารอม"

ทว่าในปัจจุบัน บรรดาผู้ผลิตหันมาสร้างรายได้จากแนวคิดที่ว่าสินค้าและการบริการทุกอย่างสามารถติดเครื่องหมายฮาลาลได้ อาทิ เครื่องสำอาง เสื้อผ้า เวชภัณฑ์ บริการด้านการเงิน รวมไปถึงแพกเกจทัวร์

มาเลเซียมองว่าปัจจุบันตลาดดังกล่าวซึ่งมีมูลค่า 150,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี สามารถขยายตัวได้อีกเกือบ 4 เท่าเมื่อพิจารณาจากประชากรมุสลิมราว 1,800 ล้านคนทั่วโลก โดยแต่ละคนจะใช้จ่ายเงินซื้ออาหาร 85 เซ็นต์ในแต่ละวัน

ประกอบกับการที่ประชาชนในมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นมุสลิม นอกเหนือจากชาวจีนและชาวอินเดียที่มีเป็นส่วนน้อย มาเลเซียจึงมีโอกาสที่จะเข้าแข่งขันเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่นายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวีเรียกว่า "พลังขับเคลื่อนใหม่ในตลาดโลก"

ดังนั้นรัฐบาลจึงหันมาสนับสนุนและผลักดันให้มาเลเซียกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลระดับโลก ด้วยการเน้นความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์

ตัวอย่างเช่น มีการเปิดดำเนินการโซนผลิตอาหารฮาลาล หรือที่กำลังดำเนินสร้างอยู่ใน 6 รัฐของมาเลเซีย อีกทั้งยังมีการสร้างฮับจัดจำหน่ายสินค้าฮาลาลในเขตขนถ่ายสินค้าปลอดภาษีในรัฐยะโฮร์ ช่องแคบมะละกา
สิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าวรวมถึงศูนย์บริการออกใบรับรองฮาลาลแบบ "วัน-สต็อป" เพื่อดึงดูดผู้ผลิตให้ส่งออกสินค้าจากที่นี่ไปยังตลาดมุสลิมอื่นๆ ในต่างประเทศ

นอกจากนี้ มาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานอินเตอร์เนชันแนล ฮาลาล โชว์เคส ครั้งที่สองในเดือนนี้ ซึ่งถือเป็นการแสดงสินค้าฮาลาลที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

บรรดาคนวงในอุตสาหกรรมฮาลาลชี้ว่า เหตุผลที่มีดีมานด์ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ใช่เพราะมีคนเคร่งศาสนาเพิ่มขึ้น แต่เป็นเพราะชาวมุสลิมตระหนักในแนวปฏิบัติทางศาสนามากกว่าเดิม อีกทั้งปัจจุบันมีทางเลือกในผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้น

ขณะเดียวกันเพื่อนบ้านของมาเลเซียอย่าง บรูไน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมถึงออสเตรเลีย จีน ไทย และสหรัฐฯ ต่างก็กำลังพัฒนาฮับสินค้าฮาลาลของตัวเองขึ้นมาเพื่อแข่งขันกันด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น