xs
xsm
sm
md
lg

ยอด M&A แดนปลาดิบทำสถิติใหม่ หวังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเวทีโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเชียน วอลล์สตรีท เจอร์นัล - กิจกรรมเอ็มแอนด์เอแดนอาทิตย์อุทัยทะยานแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากบรรดาบริษัทญี่ปุ่นต้องการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันระดับโลก จากขนาดและความกังวลที่ว่าอาจตกเป็นเป้าการเทกโอเวอร์จากต่างชาติ

ทั้งนี้ธอมสัน ไฟแนนเชียล เปิดเผยว่ากิจกรรมการควบรวมกิจการ (เอ็มแอนด์เอ) ในครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 1,196 รายการ เพิ่มขึ้น 19% จาก 1,003 รายการในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีมูลค่ารวมสูงถึง 108,900 ล้านดอลลาร์ หรือทะยานขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 49,800 ล้านดอลลาร์

การเพิ่มขึ้นดังกล่าวถือเป็นการตอกย้ำการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์พื้นฐานของบรรดาบริษัทแดนปลาดิบ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ยอมรับแนวทางเอ็มแอนด์เอ และพอใจกับการสร้างธุรกิจของตนเองมากกว่า

ทว่าสถานการณ์กลับเปลี่ยนไปเนื่องจากความตระหนักที่ว่าบริษัทญี่ปุ่นมีขนาดเล็กเกินไปที่จะแข่งขันในระดับโลก และอาจกลายเป็นเป้าหมายของการเทกโอเวอร์ของบริษัทคู่แข่งต่างชาติขนาดใหญ่หากพวกเขาไม่ขยายขนาดบริษัทให้ใหญ่ขึ้น

นอกจากนี้กิจกรรมการควบกิจการยังเกิดขึ้นในขณะที่บริษัทแดนปลาดิบแสดงความตั้งใจที่จะปรับปรุงการดำเนินงานของตน ซึ่งอาจหมายถึงการขายหน่วยธุรกิจที่มีผลงานไม่เข้าตาเพื่อสร้างความพอใจให้แก่บรรดาผู้ถือหุ้น ขณะที่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งไม่ได้ตระหนักถึงการขายส่วนปฏิบัติการบางส่วนเลย

โรเบิร์ต แบ็บบิช นักวิจัยของธอมสันในญี่ปุ่นกล่าวว่า "เป็นที่แน่ชัดว่าบริษัทญี่ปุ่นรู้สึกดีกับเอ็มแอนด์เอมากขึ้น"

เห็นได้จากมิตซูบิชิ โตเกียว ไฟแนนเชียล กรุ๊ป อิงค์ เข้าซื้อยูเอฟเจ โฮลดิ้งส์ อิงค์ เป็นมูลค่า 41,400 ล้านดอลลาร์ โดยกลุ่มธุรกิจใหม่จะกลายเป็นกลุ่มกิจการแบงกิ้งรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และถือเป็นการควบกิจการที่ใหญ่ที่สุดในครึ่งปีแรกด้วย

ส่วนการควบรวมกิจการครั้งใหญ่อันดับ 2 ของครึ่งปีแรกนี้คือการซื้อกิจการในเครือเซเว่น อีเลฟเว่น เจแปน ของอิโต-โยกาโด ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า เป็นมูลค่า 12,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อป้องกันความพยายามในการเทกโอเวอร์ที่อาจเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นช่วงรุ่งโรจน์ของเหล่าวาณิชธนกิจที่ให้คำปรึกษาการทำเอ็มแอนด์เอ ซึ่งมักได้รับค่าบริการเป็นสัดส่วนของมูลค่าการควบรวม

ยกตัวอย่างเช่น โนมูระ โฮลดิ้งส์ อิงค์ ซึ่งให้คำปรึกษาเอ็มแอนด์เอมูลค่า 72,200 ล้านดอลลาร์ ได้รับค่าบริการสูงสุดเป็นอันดับ 1 ตามด้วยมิตซูบิชิ โตเกียว ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ซึ่งให้คำปรึกษาข้อตกลงมูลค่า 50,400 ล้านดอลลาร์

ถัดมาคือ เมอร์ริลล์ ลินช์ ให้คำปรึกษาการควบกิจการมูลค่า 49,800 ล้านดอลลาร์ และ มอร์แกน สแตนเลย์ มูลค่า 45,000 ล้านดอลลาร์

กระนั้นก็ดี กิจกรรมเอ็มแอนด์เอของญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในประเทศ และเป็นกิจกรรมระหว่างบริษัทญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดเช่นกัน ขณะที่การควบกิจการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทต่างชาติมีมูลค่ารวมเพียง 958.2 ล้านดอลลาร์ ลดลง 88% จาก 8,200 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น